สิงคโปร์ผวาการเมืองเบรกลงทุนฮุบกิจการ


ผู้จัดการรายวัน(16 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

“บิ๊กเฟอร์เฟค” ระบุสิงคโปร์ชะลอลงทุนในไทยกว่า 10,000 ล้านบาท หวั่นพิษการเมืองกระทบ แต่คาดว่าเป็นปัญหาระยะสั้นจบใน 1 เดือน เชื่อหากสถานการณ์สงบจะมีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาภายใน 3 เดือน

ในช่วงที่ผ่านมา ทุนสิงคโปร์ได้มีการรุกคืบในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง และทวีความหนักหน่วงในการครอบครองธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทางทุนสิงคโปร์คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ ที่สิงคโปร์กำลังวางแผนครอบงำตลาดไว้ให้หมด โดยเครือข่ายของบริษัทอสังหาฯจากสิงคโปร์ได้เข้ามาลงทุนและร่วมทุนกับบริษัทอสังหาฯไทยอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น ทั้งบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมถึงบริษัทนอกตลาด ก็มีกลุ่มสิงคโปร์ถือหุ้น อาทิเช่น บรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งรัฐบาลสิงคโปร์ หรือ GIC (Government of Singapore Investment Corporation) ลงทุนในบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีส่วนแบ่งตลาดอสังหาฯอันดับหนึ่งของเมืองไทย ขณะที่แคปิตอล แลนด์ เป็นบริษัทอสังหาฯสิงคโปร์ที่มีชื่อเสียง ได้เข้ามาร่วมทุนกับบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้น แลนด์ เน้นลงทุนในโครงการพัฒนาเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ รวมถึงยังได้ร่วมลงทุนกับกลุ่ม ที.ซี.ซี. ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในชื่อ ที.ซี.ซี. แคปปิตอล แลนด์ จำกัด

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเคปเปล แลนด์ ซึ่งเข้ามาตั้งบริษัทในไทยในชื่อ เคปเปล ไทย พร็อพเพอร์ตี้ ร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทไฟว์สตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ และผู้บริหารของกลุ่มกฤษดานคร เน้นพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว อีกกลุ่มคือ กลุ่มเฟรเซอร์ ในเครือยักษ์อาหารและเครื่องดื่มเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ เข้าร่วมทุนกับบริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน ในเครือพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ขณะที่บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ฯ ได้จับมือกับกองทุน GAMS (General Enterprise Management Services Limited ) จากฮ่องกง

แต่ประเด็นที่เป็นจุดหักเหทำให้ทุนสิงคโปร์เริ่มลังเลและหวั่นวิตกอย่างมากในขณะนี้ คือ การที่กลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ทุนยักษ์จากสิงคโปร์ ที่เข้ามาลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่เด่นชัดว่า การลงทุนของสิงคโปร์กำลังหว่านอำนาจเงินเข้าไปยึดครองเครือธุรกิจในประเทศ และสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงในอนาคตได้ และล่าสุดเมื่อวันที่14 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางกลุ่มเทมาเส็กฯได้ทุ่มเงินก้อนโตเกือบ 1.5 แสนล้านบาทฮุบกิจการของชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN กว่า 96%

นายชายนิด โง้วศิริมณี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากไม่มั่นใจภาวะที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะนักลงทุนสิงคโปร์ ที่ก่อนหน้านี้เข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินเข้ามาสูงถึง 50,000ล้านบาท และคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีเงินจากสิงคโปร์เข้ามาประมาณ 1 แสนล้านบาท

แต่นับจากเกิดภาวะความไม่สงบ ทำให้ให้นักลงทุนสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ต่างชะลอการลงทุนในไทยออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์และความชัดเจน ซึ่งเท่าที่ประเมินคราวๆ เม็ดเงินลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเฉพาะทุนสิงคโปร์ คาดว่าจะเข้ามาลงทุนในปีนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ได้ชะลอออกไปจนกว่าการเมืองจะนิ่ง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ จะดำเนินไปอย่างสงบ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เชื่อว่าจะเป็นไปอย่างสงบเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงคาดว่าเรื่องดังกล่าวจบลงภายใน 1 เดือน และภายหลังจากนั้นไม่เกิน 3 เดือนเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติก็จะกลับเข้ามาอีกครั้ง เพราะประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะลงทุนในระยะยาว ปัญหาทางการเมืองเป็นปัญหาระยะสั้น

“ เชื่อว่าทั้งสองฝ่าย คงหาทางออกให้แก่ตัวเองไว้แล้ว และเรื่องนี้คงไม่ยืดเยื้อนาน” นายชายนิดกล่าว พร้อมยืนยันว่า

กลุ่มทุนรัฐบาลสิงคโปร์มีความสนใจที่จะลงทุนในทุกภาคธุรกิจของไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่มทุนเหล่านั้น มีแผนที่จะลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะ เทมาเส็กที่ได้ปรับแผนการลงทุนใหม่ จากลงทุนในสิงคโปร์ 90% จากพอร์ตลงทุนประมาณ 25 ล้านล้านบาท อีก 10% ลงทุนในต่างประเทศ ส่วนพอร์ตการลงทุนใหม่เปลี่ยนเป็นการลงทุนในประเทศเพียง 30% ในเอเชีย 30% นอกเอเชีย 30% และที่เหลืออีก 10% ลงทุนในกลุ่มอื่นๆ

นายชายนิดกล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ร่วมทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในกลุ่มบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคและกรุงเทพบ้านและที่ดิน ยังไม่มีแผนที่จะชะลอการลงทุนแต่อย่างใด นอกจากนี้บริษัทยังได้เพิ่มทุนไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องหาเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาอีก อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ร่วมทุนต่างได้สอบถามถึงสถานการทางการเมืองของไทยตามปกติ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.