แบงก์ชาติใช้นโยบายระวังภัยมั่นใจเศรษฐกิจไทยไม่มีสะดุด


ผู้จัดการรายวัน(15 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติยันดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดแม้การลงทุนชะลอ เหตุแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังมีอยู่ ด้านผู้ช่วยผู้ว่าการฯ เผยยังไม่พบแบงก์ไหนชะลอการปล่อยสินเชื่อจากภาวะการเมืองที่ไม่แน่นอน แค่พิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น

นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทาง ธปท.ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อไป แม้ว่าแนวโน้มการลงทุนจะชะลอลง หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอลงตามที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังมีอยู่ โดยเฉพาะจากราคาน้ำมัน ในขณะที่การส่งออกก็ยังขยายตัวดี โดยในส่วนของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่หลายฝ่ายประเมินว่าน่าจะปรับตัวลดลง จากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับแต่ละมุมมองของสถาบันนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในที่สุดแล้วเศรษฐกิจโดยรวมยังสามารถเดินต่อไปได้ เนื่องจากในอดีตไทยเคยผ่านเหตุการณ์ที่ถึงจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจมาแล้ว ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงไม่น่าจะถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจถึงกับสะดุด

“เลวร้ายกว่านี้ไทยก็ผ่านมาแล้ว แต่เศรษฐกิจยังไปได้ และหลายหน่วยงานประเมินว่าจีดีพีจะลดลง ก็เป็นเรื่องที่เขาจะคิดได้ เราไม่สามารถไปบังคับใคร แต่ที่สำคัญคือทางหน่วยงานของรัฐควรจะดูแลนโยบายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนที่จะขยายตัวเท่าไหร่ไม่สำคัญ ต้องไปดูเรื่องของอัตราการจ้างงาน ซึ่งก็ยังไปได้ด้วยดี” นางอัจนา กล่าว

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยถึงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งใดชะลอการปล่อยสินเชื่อในโครงการลงทุนและการใช้จ่าย เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ยอมรับว่า ในสถานการณ์ที่การเมืองไทยยังมีความผันผวนธนาคารพาณิชย์จะจำเป็นต้องพิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้รอบคอบมากขึ้นทำให้ลูกค้าบางรายเกิดความสงสัย

“เท่าที่ดูการปล่อยสินเชื่อของภาคสถาบันการเงินตอนนี้ ก็ยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด และไม่ได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อเพราะเป็นห่วงเรื่องการเมือง แต่ในภาวะที่การเมืองเป็นเช่นนี้ก็คงต้องดูให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น เพราะการเมืองที่ยังไม่ชัดเจนจะส่งผลต่อความไหวหวั่นเป็นธรรมดา” นายเกริก กล่าว

นอกจากนั้น เท่าที่ตามดู สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นก็ยังไม่เห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ของภาคสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากหนี้เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นใหม่และหนี้เอ็นพีแอลไหลย้อนกลับ และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะทำให้หนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลในเดือนล่าสุดลดลงจากช่วงก่อนหน้า และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้จะเป็นอย่างไรเพราะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุน และตัวธนาคารพาณิชย์เอง รวมทั้งขึ้นกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยด้วยหากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดลงมากก็อาจจะส่งผลต่อทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในปีนี้ได้

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ตัวเลขล่าสุดสินเชื่อล่าสุดเดือน

มกราคมที่ผ่านมายังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.3% ในขณะที่หนี้เอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงิน สิ้นเดือนมกราคมมียอดคงค้างทั้งสิ้น 477,071.15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.16% ของสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.