TNT Express ขอสู้ตายด้วย Guaranteed Service


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การบริหารจัดการต้นทุนการขนส่งสินค้า ตลอดจนถึงการบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพไม่เป็นภาระต้นทุนของบริษัทดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจเอกชนไม่น้อย โดยเฉพาะบริษัทนำเข้าและส่งออก

ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ส่งผลให้การค้าขายระหว่างเสร ีมีลักษณะที่ไร้พรมแดนมากขึ้นได้ ทำให้เงื่อนไขของเวลาเป็นตัวแปรสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถกำชัยชนะเหนือคู่แข่งตนได้ ด้วยเหตุนี้ธุรกิจการบริการจัดส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อ 18 ปีที่แล้ว TNT Express Worldwide (Thailand) บริษัทจัดส่งพัสดุภัณฑ์ด่วนพิเศษจากเนเธอร์แลนด์ได้เข้ามาให้บริการแก่บริษัทไทย ปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่าทีเอ็นทีเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดจัดส่งพัสดุภัณฑ์ของไทย ที่มีแนวโน้มว่าตลาดนี้มีโอกาสและศักยภาพที่จะขยายตัวมากขึ้น หากรัฐบาลสามารถนำพาเศรษฐกิจของไทยขึ้นมาจากหุบเหวได ้ เพราะนั่นย่อมหมายถึงการส่งออกอันเป็นเฟืองสำคัญในการขับดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงขึ้น

Guaranteed Services เป็นกลไกหนึ่งที่ทีเอ็นทีถือเป็นกลยุทธ์ในการเจาะเข้าสู่ตลาดไทยอย่างงดงาม ด้วยเล็งเห็นว่าการรับประกันการให้บริการจะสามารถสร้างความมั่นใจ และสบายใจแก่ลูกค้านอกเหนือจากความสะดวกรวดเร็วที่เป็นแก่นสำคัญของบริการทีเอ็นที

Time Guaranteed Service เป็นนวัตกรรมทางด้านผลิตภัณฑ์ของทีเอ็นทีที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการบริการการจัดส่งเอกสารด่วนให้ถึงมือผู้รับในช่วงเวลาธุรกิจตามเวลาท้องถิ่นของจุดหมายปลายทางที่ส่งถึง ซึ่งบริการนี้จะครอบคลุมเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นจำนวนกว่า 270 เมือง โดยทีเอ็นทีจะเป็นผู้รับประกันบริการนี้เป็น 2 ช่วงเวลาคือ 9.00 น. และ 12.00 น.

9 AM Express เป็นบริการที่รับประกันการจัดส่งพัสดุภัณฑ์ให้ถึงมือผู้รับภายในเวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นพร้อมกันนั้นก็มีบริการที่เรียกว่า Noon Express ที่รับประกันจัดส่งให้ถึงมือผู้รับภายในเวลา 12.00 น.

"เราได้เริ่มให้บริการนี้ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่น่าดึงดูดใจยิ่งก็คือเราได้มีการรับประกันการจัดส่งพัสดุภัณฑ์ให้ถึงมือผู้รับในเวลา 9 โมงเช้า หรือหากเราไม่สามารถจัดส่งให้ได้ก็จะรับเงินคืนทั้งหมด นี่เป็นนวัตกรรมล่าสุดของเราที่ได้นำออกมาเสนอ" เจมส์ โอเดน กรรมการผู้จัดการ บริษัท TNT Express Worldwide (Thailand) กล่าวถึงบริการใหม่ล่าสุดของบริษัทที่นำเสนอแก่ลูกค้าในเมืองไทย

ก่อนหน้านี้ ทีเอ็นทีได้มีการนำผลิตภัณฑ์ใหม่หลายตัวเข้ามาสู่ตลาดไทย นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ได้ออก website และ webtracker ซึ่งเป็นระบบการติดตามการจัดส่งของแบบ real-time โดยลูกค้าสามารถติดตามสินค้าของตนเองได้อย่างไม่จำกัดและทุกที่ในโลก ต่อมาในเดือนเมษายนได้ออกตัวผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Pak ซึ่งบริการแบบครบวงจรเริ่มตั้งแต่การจัดส่งพัสดุภัณฑ์ให้ถึงมือผู้ค้าโดยตรงตลอดจนถึงการรับประกันความเสียหายและการสูญหาย การยืนยันพัสดุภัณฑ์ถึงปลายทางอัตโนมัติ (Automatic proof of delivery) การให้บริการบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นและการกำหนดราคาที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น ซึ่งในบริการนี้จะประกอบด้วย Ducument Pak เป็นการจัดส่งพัสดุภัณฑ์ในซองน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม และ Freigh Pak ที่มีขนาดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม 8 กิโลกรัม และ 12 กิโลกรัม

Receiver pays เป็นอีกบริการหนึ่งที่ได้เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งสามารถช่วยบริษัทลดความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี เพราะบริการนี้จะมีการเรียกเก็บเงินครั้งเดียวและที่สำคัญก็คือเรียกเก็บเป็นเงินสกุลเดียว

"ผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีความพิเศษมากทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลดค่าเงินในเอเชีย ซึ่งทำให้ในแต่ละประเทศไม่สามารถที่จะ confirm ราคาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นให้แก่ผู้นำเข้าได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าไทยสามารถที่จะเรียกทีเอ็นทีในกรุงเทพฯ บอกเราถึง shipment ที่ต้องการให้ไปรับที่ลอนดอน และนำมา broad ที่กรุงเทพฯ ส่งไปให้เขาและเราสามารถที่จะบอกเขาได้ว่าค่าใช้จ่าย exactly ที่เป็นเงินบาทนั้นเท่าไร เป็นการรับประกัน ดังนั้นผู้นำเข้าจะรู้ข้อมูลของเราว่าเรามีสำนักงานอยู่ที่อังกฤษสามารถติดต่อกับ shipper เพื่อที่จะไปรับ shipment นั้นมาถึงกรุงเทพฯ และผู้รับ (Receiver) จะเป็นผู้ที่ชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เขาได้รับทราบแล้วโดยที่ไม่ต้องเป็นกังวลกับอัตราแลกเปลี่ยนเลย นี่เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งแม้แต่ในยุโรปเองก็เป็นที่นิยมมากและแม้แต่ตัว 9 AM Express และ Noon Express ก็จะสามารถ apply มาเป็น receiver pays ได้โดยการใช้กระบวนการพื้นฐานเดียวกัน" โอเดน กล่าวถึงจุดเด่นของบริการที่นำให้ทีเอ็นทีก้าวล้ำนำหน้ากว่าคู่แข่งซึ่งคู่แข่งที่สำคัญในตอนนี้ของทีเอ็นทีก็คือ Box Business

การมีเครือข่ายการบินเป็นของตนเอง เป็นข้อได้เปรียบของทีเอ็นทีที่ทำให้สามารถแตก Product Line ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดส่งสินค้าด่วนของตนเองออกมาได้อย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันยังสามารถโดดออกมาเป็นผู้นำทางนวัตกรรมใหม่ๆ เหนือคู่แข่งได้อย่างงดงามโดยเครือข่ายการบิน 'Asian Air Network' นี้ได้เปิดตัวไปเมื่อปี 1993 มี Hub หรือศูนย์กลางอยู่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ให้บริการครอบคลุมจุดรับส่งจำนวน 30 เส้นทางใน 6 ประเทศทั่วเอเชีย ยกเว้นประเทศไทย คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และฟิลิปปินส์

ทว่า ภายในปีหน้านี้ โอเดน เชื่อมั่นว่าไทยจามารถเข้าไปอยู่ในเครือข่ายการบินของทีเอ็นทีได้อย่างแน่นอน เพราะทีเอ็นทีได้รับอนุญาตให้นำเครื่องบินเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้แล้ว จะเหลือก็เพียงแต่เรื่องของกระบวนการด้านศุลกากรที่เกี่ยวกับการแสดงสิ่งของ (Declare) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ต้นทุนระหว่างการใช้บริการเครือข่ายการบินของตนเองกับสายการบินพาณิชย์ โอเดน กล่าวว่าสายการบินพาณิชย์จะมีต้นทุนต่ำกว่า แต่เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการและมาตรฐานในการจัดส่งพัสดุภัณฑ์ด่วนเร่งส่งของทีเอ็นที ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องเข้าสู่เครือข่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีก 3 ปีต่อมา หลังจากที่เครือข่ายการบินได้มีการดำเนินการแล้ว ผลปรากฏว่า ผลการดำเนินงานของทีเอ็นทีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในช่วง 6 เดือนหลังของปี 1996 ก้าวกระโดดมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 1995

ในช่วงปีที่ผ่านมา ทีเอ็นที ประเทศไทย ได้ขยายธุรกิจไปอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับกับตลาดที่คาดว่าจะเติบโตในอนาคต เนื่องจากคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงมากขึ้น เช่นเดียวกับการนำเข้า ซึ่งทั้งผู้นำเข้าและส่งออกต่างเป็นลูกค้าเป้าหมายตรงของทีเอ็นที โดยเมื่อปีที่แล้วทีเอ็นทีได้ขยายสำนักงานไปยังท่าอากาศยาน มีการปรับปรุงเพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่คลังสินค้าหลัก (Main Depot) มีการนำอุปกรณ์และเทคนิคมาตรฐานด้านการส่งออกมาใช้ เช่น เครื่องตรวจสอบสินค้า เครื่องติดบาร์โค้ดสำหรับการส่งพัสดุภัณฑ์ด่วน เป็นต้น ส่งผลให้ปัจจุบันคลังสินค้าหลักนี้สามารถรองรับงานได้มากถึงปีละ 1,500 ตัน

"เราเชื่อมั่นว่าเราจะโตได้ เพราะผู้ส่งออกและนำเข้า เมื่อเขาต้องการขยายตลาดในการส่งออก เขาก็จำเป็นต้องมีการส่ง Quotation หรือตัวอย่างให้ถึงลูกค้าโดยเร็ว ยกตัวอย่างบริษัทฝรั่งเศสต้องการดูแค็ตตาล็อก และตัวอย่างสินค้าเพื่อสั่งสินค้า ทางผู้ส่งออกที่นี่ก็ต้องการให้ไปถึงอย่างเร็วแม้ว่าราคาการจัดส่งจะแพงกว่าที่เขาเคยใช้บริการ และการที่เรามี Good Supplier Shipper ที่ทำงานร่วมกับเราทำให้มีความเชื่อมั่นมาก การที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงทำให้เราทำการเปลี่ยนแปลงการทำงานทั้งในเรื่องของคนและธุรกิจด้วย ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เรา Aggressive ในการที่จะทำธุรกิจให้มากขึ้น เรากำลังมองหาทุกคนในเมืองไทยไม่เฉพาะผู้ส่งออกเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมที่สำคัญในแผนการธุรกิจของพวกเขา" โอเดน กล่าว

แต่ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่โอเดนจะต้องปวดหัวก็คือปัญหา Refused Shipment ซึ่งหากจะเทียบให้ทันสมัยก็คล้ายๆ กับหนี้เสีย ที่ทางทีเอ็นที ประเทศไทย จะต้องตั้งเป็นหนี้สูญในแต่ละปีเป็นเงินถึง 3 ล้านบาท ซึ่งโอเดนได้อธิบายถึงที่มาให้ฟังว่าเป็นปัญหาในเรื่องของภาษีศุลกากร เพราะสิ่งของที่ค้างนั้นเป็นของที่ไม่มีมูลค่ามากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นของฝาก หรือของขวัญ ดังนั้นเมื่อผู้ส่งต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องภาษีเพิ่มขึ้นจึงไม่สนใจที่จะมาจ่ายเงิน หรือรับของคืน จึงเป็นหน้าที่ของทีเอ็นทีที่จะต้องเป็นผู้รับภาระต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.