ภาวะอย่างนี้สินค้าเกษตรดูจะเป็นที่พึ่งที่หวังของเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรได้เป็นอย่างดี
เพราะสินค้าใดก็ตามที่ขายในประเทศหรือส่งออกขายต่างประเทศถ้าต้นทุนทางการผลิตไม่พึ่งพิงปัจจัยจากต่างประเทศแล้วย่อมส่งผลดีทั้งสิ้น
สหชลพืชผลอยู่ในข่ายนั้นเพราะทำธุรกิจด้านการเกษตรมาร่วม 20 ปี ช่วง 10
ปีแรกคลุกคลีอยู่กับขิงและแตงกวา ทำจนกระทั่งสามารถผลิตขิงดอง และแตงกวาดอง
ขายชาวญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าตำรับเองจนเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ
ตัวเลขส่วนแบ่งตลาด 20% ในตลาดผักดองของญี่ปุ่นที่มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท
หรือ 60% ในตลาดสหรัฐอเมริกา และเกือบทุกร้านและภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ต่างใช้ผลิตภัณฑ์ผักดองของสหชลพืชผลคงเป็นสิ่งที่ยืนยันความสามารถได้
"เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ไม่ว่าคุณไปทานผักดองที่ไหนๆ
ในประเทศไทย ทั้งขิงดอง แตงกวาดอง ล้วนมาจากบริษัทเราทั้งนั้น" สุรัช
พัฒนวงศ์ยืนยง กรรมการผู้จัดการ กล่าว
เมื่อธุรกิจผักดองเริ่มอยู่ตัวอย่างสม่ำเสมอประกอบกับการได้คบค้ากับชาวญี่ปุ่น
และสังเกตเห็นว่าชาวญี่ปุ่นอายุยืน และพบสาเหตุว่าชาวญี่ปุ่นมีการบริโภคอาหารชนิดหนึ่งที่แตกต่างจากชนชาติอื่นและช่วยให้อายุยืน
นั่นคือ หัวบุก
หัวบุก คนไทยเรียก กะบุก หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียก คอนนิยากุ เป็นพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน
คล้ายๆ กับหัวมันสำปะหลัง แต่ก็ไม่เชิงว่าจะอยู่ในตระกูลเดียวกันเสียทีเดียว
พืชดังกล่าวนี้มีสรรพคุณในระบบทางเดินอาหารเพราะเป็นพืชที่มีเส้นใยจึงช่วยระบายได้ดี
นอกจากนั้นคุณสมบัติอีกประการคือ สามารถดูดซับน้ำตาลและไขมันส่วนเกินออกจากร่างกายไปได้
ทำให้ไม่เกิดการสะสมของน้ำตาลและไขมันจนทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการลดปริมาณน้ำตาลในเลือดอย่างโรคเบาหวานหรือต้องการควบคุมน้ำหนัก
ด้วยสรรพคุณของหัวบุกเองและกระแสความนิยมในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพทำให้บริษัทในเครือสหพัฒนพิบูลอย่างสหชลฯ
เล็งเห็นโอกาสที่จะพัฒนาหัวบุกมาเป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นสินค้าสำคัญของบริษัทนอกเหนือจากผักดองที่มีอยู่
หลังจากศึกษาค้นคว้ากันพอสมควร จึงได้รู้ว่าในประเทศไทยเองก็มีแหล่งที่หัวบุกเจริญเติบโตได้เช่นกัน
คือที่ แม่ฮ่องสอน และพันธุ์ที่มีในเมืองไทยเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดเพราะโตเร็ว
หัวใหญ่ เส้นใยได้คุณภาพและปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งหมายถึงประโยชน์ในทางธุรกิจด้วยเช่นกัน
10 ปีที่ผ่านมาหัวบุก ถูกนำมาส่งขายในรูปผงบุก ที่ได้จากการนำหัวบุกที่โตเต็มที่
มาอบด้วยวิธีการและอุณหภูมิที่พอเหมาะ จากนั้นก็นำมาบดจนเป็นผงแล้วจึงส่งขาย
หรือมิฉะนั้นก็จะนำผงบุกที่ได้ไปผ่านกรรมวิธีออกมาให้เป็นเส้น หรือเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า
เพื่อนำไปประกอบอาหารได้เลย ตลาดส่วนใหญ่ที่สหชลฯ ส่งไปคือญี่ปุ่นซึ่งก็ได้รับการยอมรับมากพอสมควร
ถึงยุคเร่ง "บุก" ขาย
ทั้งในและต่างประเทศ
20 ปีของสหชลญ เน้นผลิตขายและค้นคว้าควบคู่กันไป หมดงบประมาณไปเฉพาะกับการวิจัยไม่ต่ำกว่า
100 ล้านบาท แต่ผลที่ได้มาก็ถือว่าคุ้มเกินคาด และจากการวิจัยพัฒนานี้เองทำให้สหชลฯ
เล็งเห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากหัวบุกให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อผลทางธุรกิจ
จากเดิมขายในรูปผงบุก บุกเส้น บุกก้อน ก็พัฒนามาเป็นอาหารสำเร็จรูปภายใต้ชื่อ
คอนยัคกี้ (Konyakky) ซึ่งระยะแรกเป็นผลิตภัณฑ์ผงชงดื่มบรรจุซอง 4 กลิ่นผลไม้
ได้แก่ ส้ม มะนาว สตรอเบอร์รี่ และสับปะรด เพื่อทำให้บริโภคได้ง่ายขึ้น หรือออกมาในรูปบรรจุแคปซูล
ทดลองตลาดมา 2 ปีแล้วเห็นว่าคงไปได้ โดยขายตามเคาน์เตอร์ขายยากว่าหนึ่งพันแห่งเพราะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
และกำลังขยายไปสู่ศูนย์ลดน้ำหนัก โรงพยาบาล ซูเปอร์มาร์เก็ต และการจำหน่ายตรง
และในอนาคตอันใกล้คือในปี 2541 บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิด อาทิ
ไส้กรอก เนื้อ หรือหมู สำหรับทำแฮมเบอร์เกอร์ ลูกชิ้น เยลลี่ คุกกี้ พัฟ
ฯลฯ ที่มีส่วนผสมของผงบุกลงไปด้วย เป็นการเพิ่มเส้นใยให้กับอาหารเหล่านี้และคาดว่าจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ลูกค้าได้รู้จักและเห็นประโยชน์ของบุกมากขึ้นไปด้วย
สำหรับตลาดส่งออกนั้นสหชลฯ ส่งออกผลิตภัณฑ์ผักดองและบุกไปแล้วไม่ต่ำกว่า
15 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมนี เบลเยียม ฯลฯ และจดทะเบียนลิขสิทธิ์ใน
30 ประเทศทั่วโลก
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากบุกกำลังเป็นที่สนใจ และต้องการจากต่างประเทศค่อนข้างสูง
ประกอบกับค่าเงินบาทบาทที่อ่อนตัว ทำให้แนวโน้มตลาดในต่างประเทศของบุกมีโอกาสโตได้อีกมากเพราะยอดขายโตปีละ
25% บ้าง 50% บ้างแม้ว่าจะขายแพ้จีนก็ตามเพราะเขามีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า
"ตอนนี้เราแข่งขันกับจีนแดงได้มากขึ้น เพราะการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวนี้ทำให้ลดช่องว่างราคาสินค้าของเราให้สูงกว่าจีนเพียง
5% จากเดิมที่เคยสูงกว่าถึง 40%" สุรัช กล่าว
เมื่อราคาห่างกันไม่มาก ในขณะเดียวกันคุณภาพเราดีกว่าจีนมาก เพราะคุณภาพบุกของไทยเทียบเท่าระดับเดียวกับญี่ปุ่น
แต่ราคาเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นต่ำกว่า ย่อมเป็นแนวโน้มที่ดีต่อสินค้าไทย สุรัชจึงคาดว่าภายใน
5 ปี จะสามารถกระจายตลาดออกไปได้ทั่วโลกครบทุกพื้นที่สำคัญๆ ทั้งหมด
จากสถานการณ์ที่เอื้อต่อสหชลฯ ทำให้สุรัชค่อนข้างมั่นใจว่า ในด้านยอดขายของบริษัทที่ประมาณ
400 ล้านบาทในปี 39 นั้น จะสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาทในปีนี้ได้ไม่ยากนัก
และยังคงโตไปเรื่อยๆ เพราะบริษัทส่งออกถึง 90%
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ชี้ชัดว่าในขณะนี้สินค้าเกษตรเป็นพระเอกอย่างแท้จริง
และโดยพื้นฐานของประเทศที่คนส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยและเกี่ยวข้องกับการเกษตร
การทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรยังถือเป็นธุรกิจที่มั่นคงแม้จะไม่โตหวือหวาน่าตื่นเต้นแต่ก็ไปได้เรื่อยๆ
และไม่ตายง่ายๆ เหมือนธุรกิจที่โตตามแฟชั่นทั้งหลาย