ต้นเดือนพฤศจิกายน 2540 แอมเวย์ ประเทศไทย ได้มีโอกาสต้อนรับการมาเยือนของสตีฟ
แวน แอนเดล ประธานกรรมการบริหารของบริษัท แอมเวย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด สหรัฐอเมริกา
และบริษัทแอมเวย์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ซึ่งมาพร้อมกับการประกาศข่าวดีให้ผู้ดำเนินธุรกิจแอมเวย์ในประเทศไทยได้ทราบว่า
ประเทศผู้จำหน่ายแอมเวย์กว่า 40 ประเทศทั่วโลกนั้น ปรากฏว่าภายหลังจากสิ้นปีบัญชีของแอมเวย์
ล่าสุดคือสิ้นเดือนกันยายน 2540 ที่ผ่านมา ได้มีอันดับใหม่สำหรับขนาดของธุรกิจแอมเวย์ในประเทศไทย
ที่เลื่อนจากอันดับ 6 มาเป็นอันดับที่ 4 โดยมีมูลค่าตลาดใหญ่รองจากญี่ปุ่น
จีน และเยอรมนี และมีรายได้กว่า 4,800 ล้านบาท ในปีบัญชี 2540
"เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อกับสิ่งที่ผู้จำหน่ายแอมเวย์ไทยทำกับธุรกิจแอมเวย์ของไทย"
สตีฟ แวน แอนเดล กล่าว
เหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสวนกระแสกับภาวะเศรษฐกิจในเมืองไทย
หากแต่ผู้บริหารแอมเวย์กลับแย้งว่า เป็นเรื่องปกติสำหรับธุรกิจแอมเวย์ แล้วแอมเวย์ก็เคยเจอภาวะวิกฤติที่หนักกว่านี้มาแล้วในสมัยที่เกิดรัฐประหารในประเทศโคลัมเบีย
"ในโคลัมเบียยุคที่เกิดรัฐประหาร เมื่อไม่สามารถส่งสินค้าเข้าประเทศได้ตามปกติ
เราในฐานะผู้ผลิตต้องช่วยสนับสนุนผู้จำหน่ายในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศใด
ในจำนวนผู้จำหน่ายทั้งหมดกว่า 2.5 ล้านคน ครั้งนั้นเราก็พยายามส่งสินค้าเข้าโคลัมเบียไปกับเครื่องบินของหน่วยงานสากลที่เข้าไปให้การช่วยเหลือโคลัมเบีย
เทียบกับเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในไทยยังถือว่ารุนแรงกว่ามาก สำหรับตลาดในไทยสิ่งที่เราช่วย
ตอนนี้คือพยายามตรึงราคาให้อยู่ในระดับเดิม แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนตัวไปมาก"
ประธานกรรมการ แอมเวย์ กล่าว
สำหรับการเติบโตสวนกระแสของแอมเวย์ ผู้บริหารยังเชื่อว่าเป็นเพราะยิ่งเกิดภาวะวิกฤติต่อเศรษฐกิจเท่าใด
ภาคธุรกิจทุกภาคโดยเฉพาะภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการตลาดจะเลือกประหยัดต้นทุนเป็นอันดับแรก
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ซึ่งเข้ากับคอนเซ็ปต์ของธุรกิจแอมเวย์ที่เป็นธุรกิจที่มีการตลาดแบบต้นทุนต่ำ
หรือ Low Cost Marketing เพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนลงทุนด้วยโอกาสและเวลานั่นเอง
ดังนั้นทำให้เห็นได้ว่า ทำไมธุรกิจแอมเวย์ไทยจึงมีการเติบโตสวนกระแสตลาดได้
จากยอดรายได้ในปี 2539 ที่แอมเวย์ไทยมีรายได้ 4,200 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกธุรกิจที่การเติบโตสูงขึ้นในปีต่อๆ
ไป ดูได้จากตัวอย่างของยอดผู้จำหน่ายแอมเวย์ในไทยซึ่งปรีชา ประกอบกิจ ผู้จัดการทั่วไป
บริษัทแอมเวย์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่ามีถึงกว่า 20,000 คนต่อเดือนในช่วงนี้
หรือแม้แต่การที่เราจะเห็นธุรกิจขายตรงอื่นๆ เกิดมากขึ้นในตลาด เช่น ธุรกิจขายตรงอื่นๆ
เกิดมากขึ้นในตลาด เช่น ธุรกิจขายตรงสินค้านำเข้าประเภทเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
อาทิ เครื่องกรองน้ำ เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น จากเดิมที่ไม่เคยทำการตลาดในลักษณะนี้
ธุรกิจคอสเวย์ ระบบขายตรงจากมาเลเซียที่อยู่ระหว่างหาจังหวะเปิดตัวที่เหมาะสม
ธุรกิจขายตรงของบริษัทลุกซ์ รอยัล ประเทศไทย จำกัด ในเครืออีเลคโทรลักซ์
ที่เสริมตลาดด้วยการเปิดโรงเรียนขายตรงแห่งแรกในเมืองไทยไปพร้อมกันด้วย
นอกเหนือจากยุทธวิธีแบบการตลาดต้นทุนต่ำ ซึ่งอาจจะให้บ้านเราเป็นฐานปฏิบัติงานที่ทำให้แอมเวย์ได้แล้วผู้บริหารของแอมเวย์ยังกล่าวว่า
แอมเวย์ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปในประเทศไทย เพราะสินค้าของแอมเวย์เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค
ที่แยกหน้าที่ระหว่างผู้ผลิตและผู้ทำตลาดชัดเจน เพราะแนวโน้มในอนาคตจะหมดยุคของผู้ผลิต
การคงอยู่ขึ้นอยู่กับการตลาดเป็นสำคัญ และเป็นระบบเครือข่ายหรือที่เรียกว่า
NDM (Network Distribution Marketing)
NDM ถือเป็นรูปแบบการตลาดของธุรกิจขายตรงในอเมริกา ที่ก้าวหน้ากว่าไทยไปแล้วหนึ่งขั้น
คือธุรกิจขายตรงไทยจะยังคงอยู่ที่การตลาดขายตรงแบบหลายชั้นหรือ MLM (Multi-Level
Marketing) ที่บางครั้งถูกพัฒนาไปเป็นระบบลูกโซ่แบบไม่ถูกต้อง
"การทำธุรกิจแอมเวย์ในอเมริกา ลูกค้าของผู้จำหน่ายแต่ละคน สามารถเอาเลขอ้างอิงประจำตัวของผู้จำหน่ายไปสั่งซื้อสินค้าจากคลังสินค้าแอมเวย์ได้โดยโอนเงินให้บริษัทโดยตรง
แล้วบริษัทจะส่งสินค้าให้ลูกค้านั้นถึงบ้าน ในขณะที่เมืองไทยการสั่งซื้อสินค้าแอมเวย์ยังต้องมีผู้จำหน่ายเป็นตัวกลาง
แต่ต่อไประบบในไทยก็คงจะพัฒนาไปด้วยเช่นกัน" ผู้บริหารของแอมเวย์ กล่าว
เมื่อถึงขั้นที่แอมเวย์ไทยมีความพร้อมในทุกๆ ด้านเช่นเดียวกับแอมเวย์ในอเมริกาแล้วนั้น
สตีฟ แวน แอนเดล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องจับตาแอมเวย์ไทยไว้ให้ดี เพราะเป็นไปได้ว่าแอมเวย์ไทยอาจจะใหญ่ขึ้นแซงหน้าแอมเวย์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดแอมเวย์ที่ใหญ่ที่สุดจากทุกประเทศก็เป็นได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.