ประภัสร์ จงสงวน แห่ง รฟม.ผอ.รัฐวิสาหกิจปลอดการเมือง?


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อครั้งที่การทางพิเศษมีปัญหาในเรื่องข้อสัญญาเกี่ยวกับโครงการมากมาย นับจากการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 1 จนถึงการสร้างแขวนพระราม 9 ที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน บทบาทเด่นของฝ่ายกฎหมายของการทางพิเศษฯ เด่นชัดขึ้น

และแน่นอนว่า ผู้เป็นตัวจักรที่สำคัญนอกเหนือจากผู้ว่าการแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกฎหมายก็ต้องมีบทบาทเด่นออกมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

ชื่อของประภัสร์ จงสงวน ผู้อำนวยการกองนิติการ กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่หลายฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องต้องเข้าไปซักถามหาความกระจ่างในแง่มุมของกฎหมายอย่างมาก

ด้วยวัยหนุ่มเพียง 33 ปี ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการกองนิติการ ความโดดเด่นในความสามารถด้านภาษาเพราะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจาก California State University at Fresno สหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้อำนวยการหนุ่มคนนี้ มีความโดดเด่นในเรื่องหน้าที่การงานอยู่ไม่น้อย

และตอนนี้เขาได้ก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ด้วยวัยเพียง 42 ปี ซึ่งก็นับได้อีกเช่นกันว่าเป็นผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจที่อายุยังน้อยที่สุดอีกคนหนึ่ง

เมื่อปี 2534 "ผู้จัดการ" เคยเขียนประวัติโดยคร่าวๆ ของประภัสร์ไว้ว่า เป็นบุตรชายของส่งศรี-สุพจน์ จงสงวน ซึ่งรับราชการอยู่กระทรวงการต่างประเทศ มีพี่ชายที่หน้าตาเหมือนราวถอดพิมพ์เดียวกันชื่อ ณัฐศิลป์ จงสงวน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงิน และตำแหน่งในขณะนั้นของณัฐศิลป์คือกรรมการผู้จัดการบริษัท มอร์แกน เกรนเฟลล์ ประเทศไทย

ประภัสร์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และได้เดินทางไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ด้วยความคิดห้าวหาญที่อยากเป็นตำรวจ จึงมุ่งศึกษาด้านอาชญวิทยามาเต็มตัว แต่ไม่ทันได้เข้าทำงานเป็นตำรวจที่เมืองลุงแซมก็ถูกมารดาเรียกตัวกลับมาให้อยู่เมืองไทยแทนที่จะใช้ชีวิตที่เมืองนอก

แต่ชีวิตการเป็นตำรวจไทยคงไม่เหมือนตำรวจเมืองนอก เป้าหมายในอาชีพนี้ที่เมืองไทยก็หมดไปเช่นกันนน ประภัสร์มุ่งเข้าทำงานด้านกฎหมายอย่างเต็มตัวที่สำนักงานทนายความของอุกฤษ มงคลนาวิน เมื่อปี 2523 เป็นงานที่ปรึกษาด้านกฎหมายทั่วไป ในเรื่องเกี่ยวกับสัญญาเช่าจำนองควบคู่กับงานสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าที่บริษัทเทพศรีหริศ สำนักงานทนายความในความดูแลของอุกฤษอีกบริษัทหนึ่ง

เมื่อเกิดคดีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในโครงการทางด่วนดินแดง ประภัสร์ได้รู้จักกับจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เข้ามาช่วยงานด้านกฎหมายให้กับการทางพิเศษฯ ก็เลยถูกทาบทามให้มาช่วยงานที่การทางพิเศษฯ ซึ่งเจ้าตัวตัดสินใจรับในเวลาต่อมา เริ่มที่ตำแหน่งนิติกร 7 เมื่อปี 2528

ใครจะรู้ว่าในวันนี้เขาได้กลายเป็นผู้อำนวยการ รฟม. ซึ่งข้ามขั้นผู้บริหารคนอื่นๆ ไปอย่างชนิดไม่เห็นฝุ่น และเป็นการแทนที่ ธีรพงษ์ อรรถจารุสิทธิ์ ซึ่งเคยร่วมงานกันในการทางพิเศษฯ ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของประภัสร์มาก่อน

ความโดดเด่นของประภัสร์ หากอยู่เพียงแค่ผู้อำนวยการฝ่ายนิติการคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำงานไปตามหน้าที่รับผิดชอบธรรมดาเพราะการทางพิเศษฯ มีงานด้านกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมากที่ต้องดูแล

โดยเฉพาะการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการทางด่วน สัญญาเงินกู้กับกองทุนการเงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจโพ้นทะเล หรือ โออีซีเอฟ ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่รู้ภาษาต่างประเทศเป็นอย่างดี กับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน เมื่อครั้งที่การทางพิเศษฯ เป็นผู้คุมโครงการเอง

ซึ่งโครงการรถไฟฟ้านี้ธีรพงษ์และประภัสร์เข้าร่วมงานกันอย่างเต็มที่ จนทำให้ฝ่ายไทยสามารถบอกเลิกสัญญากับกลุ่มลาวาลินได้โดยไม่ทำให้การทางพิเศษฯ ได้รับผลกระทบ

แต่เมื่อดครงการทางด่วนขั้นที่ 2 เกิดขึ้น ความยุ่งยากของสัญญาการร่วมทุนระหว่าง กูมาไก กูมิ และการทางพิเศษฯ ก็ผลักดันให้คนหนุ่มอย่างประภัสร์ต้องออกมาแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ และดูเหมือนว่าเขาจะได้รับความไว้วางใจอย่างมากจาก สุขวิช รังสิตพล ที่เป็นผู้อำนวยการการทางพิเศษฯ ขณะนั้น

เพราะการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายจากประภัสร์นี่เองที่ทำให้สุขวิชกล้าตัดเชือก กูมาไก กูมิ จนทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นต้องบินกลับประเทศไป โดยขายหุ้นให้กับบริษัท ช.การช่าง จำกัด ทั้งหมด โดยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการทางพิเศษฯ ไม่ได้เลย

ผลงานของประภัสร์ทำให้ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี โดยการทำเรื่องขอยืมตัวจากการทางพิเศษฯ เมื่อสุขวิชขึ้นรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในรัฐบาลของชวน หลีกภัย

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนในรัฐบาลบ่อยครั้ง แต่หน้าที่ของประภัสร์ก็ไม่ชะงักไปเสียทีเดียว มีการปรับตำแหน่งให้จนได้ถึงตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2540 ประภัสร์ก็ได้รับงานใหญ่อีกครั้ง โดยขึ้นเป็นผู้อำนวยการ รฟม. รับผิดชอบงานโครงการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินส่วนเหนือ และส่วนใต้ จากสถานีรถไฟบางซื่อถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง ตามแนวถนนรัชดาภิเษก และพระราม 4

จากหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นสมัยของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เพราะปัญหาการยกเลิกดครงการรถไฟฟ้าลาวาลินของการทางพิเศษฯ ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้มีรัฐวิสาหกิจที่ดูแลงานโครงการใหญ่ ลงทุนสูง ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง มีธีระพงษ์ อรรถจารุสิทธิ์ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้อำนวยกาองค์การฯ คนแรก มีประภัสร์เป็นคนที่ 2

การเสนอชื่อเข้าครม.ที่ผ่านมา โดยสมัคร สุนทรเวช ผู้รับผิดชอบดูแลด้านการแก้ไขปัญหาจราจร และโครงการขนส่งขนาดใหญ่ เพราะส่วนหนึ่งไม่พอใจการทำงานของธีระพงษ์ จนย้ายคนเก่าไปนั่งเป็นที่ปรึกษา

ด้วยความสามารถของคนหนุ่ม (กว่า) ผู้บริหารคนอื่นใน รฟม. กับงานขนาดใหญ่เกี่ยวกับร่างสัญญา และการเจรจาต่อรองกับหน่วยงานต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน จึงไม่ใช่ข้อเกี่ยงงอนอะไรที่คนหนุ่มวัยต้น 40 อย่างประภัสร์ จะรับงานใหญ่ขนาดนี้

เพียงแต่การทำงานที่ รฟม. ถึงตอนนี้จะยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมเรื่องหน่วยงานปลอดการเมืองได้หรือไม่เท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.