พวงแก้ว พจน์พานิช เดินสายขายเครื่องบิน


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

บริเวณตลาดนัดคนเคยรวย ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 ของบริษัทเบนซ์ทองหล่อ แหล่งซื้อขายรถมือสองระดับหรูยอดฮิตของบรรดาอดีตผู้มีอันจะกินชื่นชอบมีไว้ประดับบารมีในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู

ท่ามกลางรถเบนซ์หรูจอดรอการซื้อขายในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เครื่องบินส่วนบุคคลยี่ห้อ SOCATA รุ่น TB200 จากฝรั่งเศส สีแดงสด ขนาด 4-5 ที่นั่ง จอดสงบนิ่งเพื่อรอเศรษฐีผู้ชื่นชอบการเหินเวหามาซื้อไปใช้งาน สร้างสีสันให้กับเศรษฐกิจขาลงได้ไม่น้อย

"ทีแรกเราจะขายเป็นแพ็กเกจร่วมกับทางเบนซ์ทองหล่อ คือ ขายรถพร้อมกับเครื่องบิน แต่ตอนหลังก็ตัดสินใจเปลี่ยนมาขายแยกต่างหากปรากฏว่ามีคนสนใจเยอะมาก" พวงแก้ว พจน์พานิช กรรมการผู้จัดการบริษัทเจนเนอรัล เอวิเอชั่น เล่า

เครื่องบินเล็ก SOCATA TB 200 เป็นเครื่องบินที่บริษัทเจนเนอรัล เอวิเอชั่น ซื้อมาไว้เพื่อให้ลูกค้าทดสอบ แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำการนำออกขายย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่าเก็บไว้

พวงแก้วเล่าว่าราคาที่ซื้อมาช่วงแรกคือ 6 ล้านบาท แต่เมื่อค่าเงินบาทลดลง ราคาขายในเวลานี้จึงเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านบาท แต่ราคาขายในงานที่ตั้งไว้คือ 4 ล้าน 7 แสนบาท นับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับการใช้งานเพียงแค่ร้อยกว่าชั่วโมง

ด้วยอิทธิพลของข่าวสารที่ถูกแพร่กระจายออกไปทั้งในและต่างประเทศ และผ่านเครือข่ายอย่างอินเทอร์เน็ตที่พวงแก้วได้จัดทำโฆษณาลงบนเว็บไซต์ของล็อกซอินโฟ พวงแก้วเล่าว่ามีผู้ติดต่อขอซื้อแล้ว 5 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น

ก่อนหน้าที่จะวางขายในตลาดนัดคนเคยรวย พวงแก้วเล่าว่า เธอนำเครื่องบินลำนี้ออกแสดงในงานแสดงเครื่องบินที่หัวหินมาแล้ว แต่คนที่ดูส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่สนใจเรื่องเครื่องบินจริงๆ จึงมีจำนวนไม่มากเหมือนกับที่จัดในตลาดนัดคนเคยรวย ซึ่งจำนวนคนมาดูนับได้เกือบหมื่นคนในช่วงอาทิตย์ที่ 2 หลังจากข่าวแพร่กระจายออกไป

แต่หลังจากขายเครื่องบินลำนี้ไปแล้ว ใช่ว่าภารกิจของพวงแก้วจะเสร็จสิ้น เธอยังคงทำหน้าที่เซลส์แมนขายเครื่องบินต่อไปเช่นเดิม แต่อาจจะยากลำบากขึ้นด้วยซ้ำ เมื่อเครื่องทดลองถูกนำไปขายแล้ว

"ต่อไปนี้เราคงต้องขายเครื่องบนกระดาษ หรือหากลูกค้าต้องการทดลองจริงๆ ก็คงต้องไปยืมเครื่องบิน SOCATA ของลูกค้าที่มีอยู่ 20 กว่าลำในเมืองไทยมาใช้"

ในวัย 62 ปี ขณะที่คนส่วนใหญ่มักจะวางมือกับชีวิตการงานหันมาพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่วันเวลาสี่สิบกว่าปีที่เธอร่วมงานกับล็อกซเล่ย์มาตั้งแต่เรียนจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มงานเป็นเสมียน จนไต่เต้ามาเป็นสมุห์บัญชี กระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้หญิงเพียงคนเดียวของล็อกซเล่ย์

ทุกวันแม้ในวัยเกษียณ พวงแก้วเป็นกรรมการเพียงคนเดียวที่ยังมานั่งทำงานประจำที่ล็อกซเล่ย์เพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับงานโครงการพิเศษของล็อกซเล่ย์ ซึ่งมักเป็นโครงการประมูลค้าขายกับหน่วยงานราชการและทหาร ซึ่งพวงแก้วคร่ำหวอดมานานหลายสิบปีจนเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี แม้กระทั่งล่าสุดในการประมูลขายอุปกรณ์สถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลให้กับสถานีช่อง 5 ก็เป็นส่วนหนึ่งในฝีมือของเธอ

นอกจากนี้ในฐานะของกรรมการผู้จัดการบริษัทเจเนอรัล เอวิเอชั่น ซึ่งล็อกซเล่ย์ถือหุ้น 80% ร่วมกับบริษัทไทยฟลายอิ้งเซอร์วิส ของธีรเดช ไม้ไทย อีก 10% ที่เหลือ 10% เป็นของส่วนตัวพวงแก้ว เธอจึงต้องทำหน้าที่ด้านการตลาดและเธอจะเป็นผู้เจรจาขายให้กับลูกค้าด้วยตัวเองทุกครั้ง

ลูกค้าเป้าหมาย ไม่ใช่ลูกค้าบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงองค์กรเอกชนและราชการ เนื่องจากเครื่องบินที่ขายจะมีตั้งแต่ระดับ 2 ที่นั่ง ไปจนถึง 30 ที่นั่ง ซึ่งไม่เพียงแต่เครื่องบินยี่ห้อ SCATA ที่ได้รับเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่ยังขายของยี่ห้ออื่นๆ ด้วยในลักษณะของลูกค้าเป็นรายๆ ไป

พวงแก้วเล่าว่า ในปีกว่าที่เปิดบริษัทมา ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจยังดีอยู่มีผู้ให้ความสนใจค่อนข้างเยอะ เพราะการขับเครื่องบินนับเป็นกีฬาอย่างหนึ่งและการซื้อหาเครื่องบินไว้เป็นส่วนตัวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลอย่างที่เข้าใจกัน

แม้จะมีนักธุรกิจชื่อดังของเมืองไทยให้ความสนใจเยอะ แต่การขายเครื่องบินย่อมไม่เหมือนกับการขายผงซักฟอก ดังนั้นจึงมีขั้นตอนการซื้อขายที่ต้องอาศัยระยะเวลานานนับปี

"เราไม่ได้คิดว่าการขายอย่างเดียว แต่เราต้องการให้ลูกค้าได้เรียนรู้จริงๆ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา เราจะจัดการให้หมดทั้งติดต่อเรื่องการฝึกบิน หาสถานที่จอด ซึ่งล้วนแต่กินเวลาทั้งสิ้น"

หากในยามภาวะเศรษฐกิจเฟื่องฟู การซื้อหาเครื่องบินส่วนตัวของผู้มีอันจะกินอาจจะไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะบรรดาเศรษฐีตระกูลชื่อดังของเมืองไทยก็ล้วนแต่มีเครื่องบินไว้ใช้งานกันไม่น้อย แต่ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้าง เมื่อบริษัทต้องเจอกับพิษเศรษฐกิจตำต่ำ และอย่างยิ่งค่าเงินบาทลอยตัว แน่นอนว่า การขายเครื่องบินราคานับสิบล้านบาทคงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

ปรากฏว่าลูกค้าในมือ 8-10 รายที่จอคิวรอเซ็นสัญญาต้องหลุดลอยไปเมื่อราคาขายพุ่งสูงขึ้นตามต้นทุนอัตราค่าเงินบาท

"ลูกค้าบางราย รอเซ็นสัญญาแล้วแต่ยังเหลือชั่วโมงที่ต้องฝึกอีกไม่กี่สิบชั่วโมง พอมาเจอกับค่าเงินบาท ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นมาอีหลายล้าน การซื้อขายก็ต้องจบไป" พวงแก้ว เล่า

ในด้านของหน่วยงานราชการนั้นงบประมาณก็ถูกตัดมาตั้งแต่สองปีมาแล้ว ทำให้ลูกค้าเป้าหมายสำคัญกลุ่มนี้ก็ยังไม่มีเข้ามา

รายได้ของบริษัทในเวลานี้ นอกเหนือจากเครื่องบินที่มีไว้ทดลองที่กำลังจะขายได้ในไม่ช้า จะมาจากการขายอะไหล่ให้กับลูกค้าของ SOCATA ที่มีอยู่ทั้งหมด 20 กว่ารายในเมืองไทย

แม้ว่าเส้นทางของธุรกิจขายเครื่องบินราคานับหลายล้านจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของเศรษฐกิจยุคนี้นัก แต่เธอก็ยังเชื่อมั่นว่า เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ธุรกิจขายเครื่องบินจะต้องมีอนาคตแน่ เพราะในมุมมองของเธอแล้ว การมีเครื่องบินส่วนตัวไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย เฉลี่ยประมาณ 1,905.75 บาท ต่อการบินใน 1 ชั่วโมงเมื่อเทียบกับความสะดวกสบายและการเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ขณะเดียวกันในเวลานี้หน่วยงานราชการก็ให้ความร่วมมือมากขึ้น เช่น กรมการบินพาณิชย์ ที่สามารถออกตารางบินให้ภายในเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง

เมื่อถึงเวลานั้น ล็อกซเล่ย์จะขายทั้งไม้ขีดไฟยันเรือรบ จนกระทั่งบนขอบฟ้า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.