|

"พาณิชย์"อัดงบ250ล้านหนุนฮับภูมิภาค
ผู้จัดการรายวัน(14 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"พาณิชย์"ทุ่มงบ 250 ล้านบาทหนุนการทำงานของฮับภูมิภาค ให้จีน-อินเดียมากสุด หลังตั้งเป้าเป็นตลาดที่ไทยต้องยึด เพราะกำลังซื้อสูง แถมเป็นตลาดที่ไทยทำเอฟทีเอ
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วานนี้ (13 มี.ค.) ได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าฮับภูมิภาคต่างๆ ทั้ง 6 ฮับ ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐฯ อียู อาเซียน เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน) โดยพิจารณาจัดจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการฮับภูมิภาคจำนวนทั้งสิ้น 250 ล้านบาท แยกเป็นจัดสรรงบประมาณให้ฮับจีน และอินเดีย ฮับละ 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าฮับอื่นๆ เพราะเห็นว่าเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งเป็นตลาดที่ไทยมีการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จึงมีโอกาสขยายตัวทางการค้าสูง
"ในการใช้เงินผลักดันการส่งออกของฮับ ได้ขอให้มีการใช้เงินสร้างโครงการส่งเสริมการค้าเป็นภาพรวม แทนที่จะเน้นตลาดเป็นรายสินค้า เพราะถ้าเน้นรายสินค้าก็จะช่วยแค่รายสินค้า แต่ถ้าทำเป็นภาพรวม จะช่วยทั้งการส่งออก ช่วยการลงทุน"
นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารฮับ เพื่อทำให้การทำงานทั้ง 6 ฮับประสานกันและมีความต่อเนื่องในการทำงาน โดยมีตนเป็นประธาน มีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก เป็นกรรมการ และมีสำนักงานยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศเป็นเลขานุการ
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของตลาดยุโรป แม้จะเป็นตลาดที่อิ่มตัวแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก จึงได้แบ่งตลาดยุโรป เป็น 3 ส่วน คือ ยุโรปตะวันตก กำหนดให้ป็นตลาดสำหรับไทยส่วนใหญ่ในขณะนี้ ยุโรปตะวันออก และยุโรปเหนือ กำหนดให้เป็นโอกาสที่ไทยขยายทั้งการค้าการลงทุนมากขึ้นอีก
สำหรับยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการใน ปี 2549 คือ 1.การมีข้อมูลทางการตลาดเชิงลึก เพื่อการนำไปสู่การจับคู่ธุรกิจ ที่จะนำไปสู่ทั้งการค้าและการลงทุน 2.การจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ยุโรป (Thai-Eu Bussiness Council ) 3.การว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์
ทั้งนี้ ในส่วนของการทำข้อมูลตลาดเชิงลึกนั้น จะเน้นการจัดกลุ่มการค้าที่เหมาะสม และมีศักยภาพของยุโรป มาจับคู่กับภาคเอกชนไทย เพื่อร่วมกันดำเนินธุรกิจ และทำให้การเข้าถึงตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มสินค้าและบริการที่เน้น คือ อาหาร สปา ร้านอาหาร เป็นต้น ส่วนการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-อียู เพื่อให้ผู้แทนภาคเอกชนมีโอกาสได้พบปะและแสดงบทบาทปกป้องทางการค้าด้วยตนเอง ขณะที่การว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ ก็เพื่อทำหน้าที่ดูแลมาตรการทางการค้า ก่อนที่จะออกมา เพราะหากปล่อยระเบียบออกมาโดยที่ไม่รู้ล่วงหน้าอาจสายเกินไปที่จะแก้ไข
อย่างไรก็ตาม ในราวปลายเดือนมี.ค.นี้ จะเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อร่วมประชุมอาเซียน อียู มิชชั่น กรุ๊ป ซึ่งวาระการประชุมหลักคือการรายงานผลการศึกษา ความเหมาะสม และผลกระทบการทำเอฟทีเออาเซียน-อียู หากผลการศึกษา เห็นว่าเหมาะสมเปิดการเจรจา และประเทศสมาชิกอาเซียนยอมรับที่จะเปิดการเจรจาจริง ไทยก็จะต้องมาทำการศึกษาว่าจะมีท่าทีต่อการทำเอฟทีเออาเซียน-อียูอย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|