เอทานอลไม่ขึ้นส่อปิดไทยอะโกรฯ


ผู้จัดการรายวัน(13 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยอะโกรฯยอมรับอาจต้องปิดโรงงานเพื่อหยุดผลิตเอทานอลหากการเจรจากับบริษัทน้ำมันแล้วได้ราคาเอทานอลที่ไม่คุ้มกับต้นทุน หลังราคาโมลาสที่เป็นวัถตุดิบพุ่งสูงถึง 120 เหรียญต่อตัน เตรียมเจรจาบริษัทน้ำมันสัปดาห์หน้าหาข้อยุติ ชี้หากให้คุ้มทุนจริงอาจต้องขยับสูงถึง 26 บาทต่อลิตร เผยแผนผลิตพลาดเหตุเดิมโมลาสไม่ได้ปรับตัวสูงผิดปกติ เตรียมแผนสำรองหันสร้างโรงงานใหม่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบแทน

นายสมชาย โล่ห์วิสุทธ์ กรรมการผู้จัดการทั่วไปบริษัทไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เปิดเผยว่า กลางเม.ย.นี้บริษัทฯอาจจำเป็นต้องพิจารณาปิดการผลิตเอทานอลหากไม่สามารถเจรจาปรับเพิ่มราคาจำหน่ายได้จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 19 บาทต่อลิตร เนื่องจากสัญญาโมลาส(กากน้ำตาล)ที่ซื้อไว้ในระดับต้นทุนต่ำจะหมดลง เนื่องจากโมลาสขณะนี้ราคาได้ปรับสูงขึ้นมาอยู่สูงถึง 120 เหรียญต่อตันทำให้ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตหากขายในราคาเดิม อย่างไรก็ตามราคาที่เหมาะสมหากคิดที่ต้นทุนควรจะอยู่ในระดับ 26 บาทต่อลิตรแต่ทั้งนี้คงจะต้องเจรจากับบริษัทน้ำมันที่รับซื้อซึ่งคาดว่าจะมีการเจรจาในกันในสัปดาห์หน้า

"ราคาที่ 19 บาทต่อลิตรที่ทำกันไว้นั้นเพียง 3 เดือนตอนนั้นโมลาสเรามีทั้งสัญญาระยะยาวที่ทำไว้กับผู้ผลิตที่ 50 เหรียญต่อตันแต่จะต้องมีการปรับทุกปี และอีกส่วนหนึ่งก็ต้องซื้อตามราคาตลาดโลกต้นทุนก็พอจะเฉลี่ยกันไปได้แต่ขณะนี้โมลาสได้ปรับไปสูงถึงเท่าตัวก็ต้องมีการคิดต้นทุนกันใหม่ ซึ่งทางบริษัทน้ำมันเองก็ต้องการที่ราคาต่ำเรื่องนี้ก็คงจะต้องเจรจากัน"นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ไทยอะโกรฯ มีโรงงานเอทานอลที่ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กำลังผลิต 1.3 แสนลิตรต่อวัน รับโมลาสจากโรงงานน้ำตาลมิตรผลเป็นหลัก ใช้โมลาสเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งเรื่องนี้ทางบริษัทเองยอมรับว่าช่วงที่พิจารณาตั้งโรงงานนั้นโมลาสอยู่ในระดับเพียง 20 กว่าเหรียญต่อตันหรือราว 800 บาทต่อตันเท่านั้นแต่ด้วยเหตุที่ต่อมาโมลาสขาดแคลนตลาดโลกได้ปรับสูงขึ้นมากซึ่งล่าสุดสูงถึง 100 เหรียญต่อตันโดยเฉลี่ยทำให้บริษัทเองฯได้พิจารณาที่จะตั้งโรงงานเอทานอลใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นขอกับคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ(กชช.) ที่จะใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ กำลังผลิต 3 แสนลิตรต่อวัน โดยพื้นที่คาดว่าจะอยู่แถบบริเวณสุพรรณบุรีหรือราชบุรี คาดว่าจะผลิตได้อีก 2 ปีข้างหน้า

นายสมชายกล่าวว่า ต้นทุนเอทานอลที่ผลิตจากมันปะหลังจะต่ำกว่ามากดังนั้นก็จะสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำหากเทียบกับโมลาสซึ่งระยะยาวคาดว่าราคายังคงทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตามในส่วนของการนำเข้าเอทานอลนั้นก็เห็นว่าหลายโรงงานก็ยังไม่เกิดเท่าที่พิจารณาขณะนี้ก็อาจจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อมาสนองตอบต่อความต้องการเพื่อนำไปผสมเบนซินในการผลิตแก๊สโซฮอล์ตามนโยบายของภาครัฐบาลชั่วคราวซึ่งหลายบริษัทก็มีการกักตุนไว้ล่วงหน้าพอสมควร

"ที่ผ่านมาทุกบริษัทก็ลังเลเพราะแบงก์ไม่ยอมปล่อยกู้ให้เพราะราคาเอทานอลไม่แน่นอนก็เลยทำให้การผลิตเอทานอลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันในส่วนของโรงที่ใช้โมลาสเป็นวัตถุดิบก็มีต้นทุนสูงขึ้นแต่บริษัทน้ำมันก็ต้องการราคาที่ 19 บาทต่อลิตรซึ่งการต่อรองครั้งใหม่ทางบริษัทน้ำมันเท่าที่ทราบก็ต้องการราคาเพียง 21-23 บาทต่อลิตรเท่านั้นหากจะต้องปรับซึ่งเราก็ต้องมาดูว่าจะรับไหวไหม"นายสมชายกล่าว

นายมนตรี อินทนา ผู้อำนวยการโรงงานบริษัทไทยอะโกรฯกล่าวว่า บริษัทฯพร้อมจะส่งออกเอทานอลหากไม่สามารถตกลงราคาที่สูงขึ้นกับผู้ค้าน้ำมันได้แต่ก็จะต้องได้รับอนุมัติจากภาครัฐบาลเพราะบังคับว่าจะต้องให้ในประเทศเพียงพอก่อนจึงจะส่งออกได ซึ่งเท่าที่ทราบบริษัทน้ำมันก็ต้องการราคาเอทานอลที่ไม่สูงไปกว่า เอ็มทีบีอี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.