เลื่อน'เมกะโปรเจกต์'พ่นพิษอุตฯเหล็กผอ.สถาบันเหล็กฯชี้ต่างชาติไม่กล้าเสี่ยงลงทุน


ผู้จัดการรายวัน(13 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สถานการณ์การเมือง เมกะโปรเจกต์เลื่อน ส่งผลความต้องการใช้เหล็กชะงัก คาดปี49โตไม่ถึง10% ด้าน"สถาบันเหล็กฯ" เดินหน้าเป็นแกนหลักดึงผู้ประกอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ รับกระแสแข่งขันเสรีจากทุนเหล็กต่างชาติ ชู4ขั้นตอนปรับโครงสร้างอุตฯเหล็ก เลิกขายตัดราคา -เลิกตลาดเก็งกำไร -พัฒนาอุตฯเหล็กต้นน้ำลดต้นทุนนำเข้า -ส่งเสริมการใช้เหล็กในทุกอุตฯผ่านเทคโลโลยีใหม่หวังต้นทุน

ปริมาณการบริโภคเหล็กภายในประเทศในปี2548 ที่มีจำนวนสูงเกือบ15 ล้านตัน หรือเติบโตขึ้นเกือบ10% จากที่ปี47 ที่มีปริมาณการบริโภค 13 ล้านตัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นไปตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ โดยเฉพาะเรื่องดุลการค้า เนื่องจากเหล็กเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 2 รองจากสินค้าน้ำมัน โดยในปี2547 ไทยขาดดุลการค้าจากการนำเข้าเหล็กถึง 320,000 ล้านบาท

" ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในปีที่ผ่านมาเติบโต มาจากการส่งออกรถยนต์และการก่อสร้าง ซึ่งในช่วงต้นปีก็ยังประมาณการว่าตลาดในปี49 จะเติบโตสูงกว่า 10% จากการส่งออกอุตสาหกรรมรถยนต์ การก่อสร้าง และโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่จะเริ่มการก่อสร้างในปีนี้ แต่หลังจากที่เกิดปัญหาทางการเมือง ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติชะลอการลงทุนในเมืองไทย ส่วนในการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ ที่รัฐบาลพยายามจะดึงต่างชาติเข้ามาประมูลงาน ก็อาจจะทำให้ชะลอออกไป หากปัญหายิ่งยืดเยื้อก็จะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศลดลง ทำให้คาดการณ์ในปีนี้อุตฯเหล็กคงเติบโตไม่ถึง 10% แล้ว " นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยกล่าว

นายวิกรม กล่าวถึงแนวทางส่งเสริมและพัฒนาอุตฯเหล็กในประเทศว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันเหล็กฯ ในฐานะองค์กรกลางของภาครัฐ ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการรวมตัวกัน และหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศ 4-5 รายเข้ามาร่วมหารือ โดยพุ่งประเด็นไปที่ จะลดปัญหาเรื่องการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาขาย ในลักษณะการตัดราคากันเองระหว่างผู้นำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็ช่วยลดปัญหาการแข่งขันในเรื่องดังกล่าวได้ค่อนข้างมาก ทำให้ระดับราคาขายในประเทศอยู่ในอัตราที่ไม่ผันผวน ทั้งนี้ การแก้ปัญหาการตัดราคาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เป็นขั้นตอนแรกในการกระบวนการปรับโครงสร้างอุตฯเหล็กในประเทศ

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการใช้เหล็กคุณภาพสูงหรือเหล็กที่มีแรงต้านสูงๆ เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมประเภทเครื่องจักรกล ,โรงเรือน และตลาดก่อสร้าง เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่สินค้า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอุตฯต่อเนื่อง ไม่ว่า อุตฯก่อสร้างส่วนใหญ่ใช้เหล็กที่มีแรงต้านต่ำการก่อสร้างทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างสูง และใช้ปริมาณมากในการก่อสร้าง

โดยขั้นตอนที่ 2 คือ การส่งเสริมให้มีการแก้ปัญหาในเรื่องของตลาดเก็งกำไร เพื่อลดความผันผวนในเรื่องราคาขาย เนื่องจากตลาดรวมและผู้ประกอบการ ได้รับผลกระทบจากการเก็งกำไรค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา ราคาเหล็กมีความผันผวนสูง ปรับตัวขึ้นและลงอย่างรวดเร็วจนทำให้ผู้ที่นำเข้าเหล็กเพื่อเก็งกำไรได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

สำหรับขั้นตอนที่ 3 คือ การส่งเสริมให้มีการลงทุนโรงงานถลุงเหล็กในประเทศ เพื่อลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพ และสร้างเสถียรภาพด้านราคาในตลาดเหล็ก และให้ไทยเป็นผู้ผลิตเหล็กใช้เองหรือเป็นธุรกิจต้นน้ำ จากเดิมเป็นเพียงผู้นำเข้ามาขายในประเทศ และแปรรูปส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำธุรกิจกลางและปลายน้ำ ทำให้ควบคุมต้นทุนได้ยากและโอกาสเกิดความผันผวนในด้านราคามีสูง แต่หากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการให้เกิดการลงทุน จะส่งผลดีต่อตลาด ที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติให้เครือสหวิริยา ขยายแผนลงทุนโรงงานถลุงเหล็กรายเดียว โดยโรงงานอยู่ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่า 9,000 กว่าล้านบาท ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี

และขั้นตอนสุดท้าย ส่งเสริมให้เกิดการใช้เหล็กในอุตฯต่อเนื่อง และกระจายเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในทุกภาคอาชีพ อาทิ ภาคอุตฯเกษตรและก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นอุตฯขั้นพื้นฐานที่หล่อเลี้ยงประเทศ โดยเฉพาะอุตฯเกษตร ที่ยังมีการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรและระบบโรงเรือนเข้าไปใช้ในภาคเกษตรกรรมจำนวนที่น้อยอยู่ ทำให้ยังมีต้นทุนที่สูงจากการใช้แรงงานคนในอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มคุณภาพในการผลิตด้วย

นายวิกรม กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเหล็กและสามารถเข้าถึง ทุกภาคอาชีพในประเทศมากขึ้น สถาบันเหล็กฯ ได้ร่วมกับภาคเอกชนทั้งกลุ่มผู้ผลิต และ ผู้ให้บริการเกี่ยวข้องอุตสาหกรรมเหล็ก ผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม ผู้ผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ จัดงาน "Bangkok Steel &Conferrence 2006" ขึ้นในวันที่ 13-15 ก.ค. 2549 ที่ เดอะรอยัล พารากอน ฮออล์ กรงเทพฯ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.