"FRA-AMC ความหวังอันสูงสุด"

โดย ฐิติเมธ โภคชัย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

มาตรการเข้มงวดสำหรับ 58 ไฟแนนซ์ที่ปฏิเสธไม่ได้หลังจากส่งแผนฟื้นฟูกิจการแล้วไม่ว่าจะเป็นการควบกิจการหรือการดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยแผนฟื้นฟูดังกล่าว จะต้องถูกส่งไปยังองค์กรที่ทางการตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อเข้ามาจัดการกับ 58 ไฟแนนซ์โดยเฉพาะ คือ องค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (Financial Restructuring Agency : FRA) เป็นผู้พิจารณา หากได้รับการอนุมัติจะได้ดำเนินการตามแผนและกลับไปสู่การเป็นสถาบันการเงินที่ดีต่อไป แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติ FRA จะมีหน้าที่ในการเข้าไปดูแลทรัพย์สินของสถาบันการเงินนั้น เพื่อทำหน้าที่แบ่งแยกทรัพย์สินที่ดีและไม่ดี ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ดีมีปริมาณถึง 150,000 ล้านบาท และมีเงินกองทุนเพียงพอจะได้รับอนุญาตให้ประกอบการเป็นธนาคารพาณิชย์ได้ ส่วนกรณีที่มีทรัพย์สินอยู่ระหว่าง 100,000-150,000 ล้านบาท สามารถขยายธุรกิจได้เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ยกเว้นการให้บริการเงินฝากกระแสรายวัน

ดังนั้นเจตนาในการจัดตั้ง FRA คือการจัดแยกหนี้ดีและหนี้เสีย โดยจะเข้าไปดูแลตั้งแต่ลูกค้าผู้ฝากเงิน แผนการฟื้นฟู หรือการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลด้านการปฏิบัติงานจำนวน 6 ท่าน โดยมีเงินทุนเริ่มต้นที่ 500 ล้านบาท

"แต่ภาพที่ออกมารู้สึกว่ายังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ด้านลูกหนี้ปกติ ซึ่งไม่ได้มีการกล่าวถึง เพียงแต่พูดว่าใครดำเนินการได้ก็ไปดำเนินการต่อ หรือถ้าไปควบรวมกันก็นำลูกหนี้ไปดำเนินการกันเอง แต่ปัญหาที่ถูกปิดกิจการในขณะนี้คือเรื่องสภาพคล่อง ลูกหนี้เองก็มีปัญหา เพราะช่วงที่ผ่านมาลูกหนี้ที่ดีๆ เริ่มไม่มั่นคงตรงนี้ทางการยังไม่มีอะไรชัดเจนเข้ามาช่วยเหลือ ดังนั้นวิธีการที่จะช่วยได้คือ FRA ทำงานให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเข้ามาช่วยในเรื่องประกันทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้" นักวิเคราะห์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่าอาจจะมีคำถามต่อไปว่ามาตรการที่ออกนี้มีเพียงต้องการสร้างความมั่นใจเท่านั้น ซึ่งก็จะมีทั้งเจ้าหนี้ที่มั่นใจและไม่มั่นใจในมาตรการดังกล่าว ดังนั้นทางการควรเตรียมเม็ดเงินตรงนี้ไว้ เพราะ 500 ล้านบาทคงยังไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันที่มาของเม็ดเงินยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ว่าจะมาจากแหล่งไหนแต่คาดว่าคงจะนำมาจากงบประมาณ

สำหรับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (Asset Management Company: AMC) เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการดูแลทรัพย์สินที่ด้อยคุณภาพสำหรับ 58 ไฟแนนซ์ ซึ่งถ้าไฟแนนซ์ไหนสามารถผ่านมาตรการที่เข้มงวดและกลับไปดำเนินการได้ตามปกติก็จะออกไปอยู่ภายใต้การดูแลของ ธปท. และกระทรวงการคลัง แต่ไฟแนนซ์แห่งไหนที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ก็ต้องมีขบวนการในการชำระบัญชีซึ่งจะต้องมีการจัดการนำทรัพย์สินต่าง ๆ ออกมาขายทอดตลาดเพื่อให้เงินกลับมาแล้วเฉลี่ยกันในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง โดยขบวนการดังกล่าวผู้ถือหุ้นจะต้องยอมรับความเสียหายไปก่อน หลังจากนั้นก็จะมีการเฉลี่ยกันในส่วนของเจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน ถ้าทรัพย์สินไหนดีก็จะขายทอดตลาดตามปกติ แต่ถ้าทรัพย์สินไม่ดี AMC จะเป็นผู้เข้าไปซื้อหรือเข้าไปบริหารในการที่จะให้มีเงินกลับคืนมา เมื่อได้เงินคืนก็จะนำเงินมาชดเชย สิ่งที่ทางการจะต้องดูแลไฟแนนซ์ที่มีปัญหาโดยมีเงินทุนเริ่มต้นประมาณ 1,000 ล้านบาท

"ทรัพย์สินที่ AMC จะนำออกประมูล คิดว่าถ้าประมูลในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้คงจะมีราคาที่ลดลงอย่างมาก แต่ก็ยังดีที่ไม่มีอะไรกลับมาเลย" นักวิเคราะห์ กล่าว

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นว่า AMC มีอำนาจในการจัดการหนี้ของไฟแนนซ์ที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้มากเกินไป แม้แต่ไฟแนนซ์ที่เป็นเจ้าของหนี้สินยังไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องได้ ในขณะที่นักวิเคราะห์เห็นว่าในความเป็นจริง เจ้าของหนี้น่าจะเป็นผู้จัดการเรื่องหนี้ได้ดีกว่าเพราะมีความเชี่ยวชาญและใกล้ชิดกับเจ้าหนี้มากกว่า อีกทั้งยังเป็นห่วงเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง เพราะการพิจารณาในลักษณะ case by case อาจจะมีการวิ่งเต้นหรือล้วงลูกเพื่อให้หลุดพ้นจากมาตรการที่เข้มงวด

คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่ามาตรการที่เบ็ดเสร็จในครั้งนี้จะสามารถฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินไทยให้แข็งแกร่งได้กว่าเดิมหรือไม่ ถ้าไม่สามารถทำได้สถาบันการเงินไทยคงต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.