ปี48ยอดขอจัดสรรโต12%


ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยยอดขออนุญาตจัดสรรปีก่อนโตกว่า 12% มียอดขอจัดสรรรวม 46,299 หน่วย จาก 308 โครงการ ส่วนยอดจดทะเบียนบ้านใหม่สร้างเสร็จพุ่งกว่า 4% จำนวน 72,072 หน่วย สวนทางยอดขอสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ยอดวูบ 7.4% คิดเป็นจำนวน 272,535 ล้านบาท ลดลงประมาณ 7.4%

พงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2548 ว่า โดยรวมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินจำนวนทั้งสิ้น 46,299 หน่วย จาก 308 โครงการ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นในส่วนของจำนวนหน่วยราว 12.5% และจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปี 2547

โดยทาวน์เฮาส์มีจำนวนสูงสุดคือ 20,336 หน่วย ในขณะที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างทาวน์เฮาส์ในปี 2547 มีเพียง15,991 หน่วย สำหรับบ้านเดี่ยวมีการออกใบอนุญาตจำนวน 17,822 หน่วย โดยในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนใกล้เคียงกันคือ 17,719 หน่วย

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบรายไตรมาส พบว่าไตรมาส 1 ปี2548 เป็นช่วงที่จำนวนที่อยู่อาศัยขออนุญาตจัดสรรขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 58% บ้านเดี่ยวเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนหน่วยสูงสุด แต่ในช่วงไตรมาส 4/2548 การขยายตัวกับมีสัดส่วนลดลงถึง 34.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี

อย่างไรก็ตาม หากแบ่งโครงการที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินตามทำเลที่ตั้งโครงการ พบว่ามีที่อยู่อาศัยขออนุญาตจัดสรรในกรุงเทพฯจำนวน 18,433 หน่วย จาก 161 โครงการ ขณะที่มีจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรในพื้นที่ปริมณฑล 27,866 หน่วย จาก 147 โครงการ

สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 2548 มีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรร คือ 72,072 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มีจำนวน 69,050 หน่วย ในจำนวนนี้ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยสร้างโดยผู้ประกอบการ 35,935 หน่วย ประชาชนสร้างเอง 25,244 หน่วย และอาคารชุด 10,893 หน่วย โดยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จโดยผู้ประกอบการรวมอาคารชุดขยายตัวเพิ่ม 65% ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 46,643 หน่วย เพิ่มขึ้น 5.4% ทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ 13,858 หน่วย ลดลง 10% อาคารชุด 10,893 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 29% และบ้านแฝด 678 หน่วย ลดลง 28.3%

ด้านสินเชื่อผู้ประกอบการปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ในปี 2548 ปล่อยสินเชื่อจำนวน 28,587 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2547 มีอัตราการปล่อยสินเชื่อลดลงถึง 38% โดยในไตรมาส 4 ปี2548 ที่มียอดสินเชื่อปล่อยใหม่จำนวนทั้งสิ้น 4,975 ล้านบาท ลดลงประมาณ 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มียอดการปล่อยสินเชื่อสูงถึง 11,174 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการคงค้าง ณ ปี 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 773,846 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมูลค่าสินเชื่อบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ โดยรวมในช่วงปี 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 272,535 ล้านบาท ลดลงประมาณ 7.4% เมื่อเทียบกับปี 2547 ที่มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ 294,403 ล้านบาท โดยไตรมาส 4 ปี2548 มียอดสินเชื่อปล่อยใหม่จำนวน 68,611 ล้านบาท ขณะที่เมื่อช่วงเดียวกันของปี 2547 มียอดการปล่อยสินเชื่อจำนวนทั้งสิ้น 81,122 ล้านบาท3

จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าภาพอุปทาน แต่ยังขาดข้อมูลด้านอุปสงค์ และข้อมูลที่ยังไม่มีหน่วยงานใดจัดเก็บ ได้แก่ ข้อมูลที่อยู่อาศัยที่เริ่มก่อสร้าง (Housing Starts), ที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง, ที่อยู่อาศัยที่ขายได้ (Home Sales) และที่อยู่อาศัยคงเหลือพร้อมขาย

พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลฯจึงได้ริเริ่มจัดทำแบบสอบถามและออกสำรวจภาคสนามโครงการที่อยู่อาศัยในช่วงเดือนก.พ. – มี.ค. 2549 เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริงของธุรกิจ และมีแผนจะติดตามข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการสำรวจข้อมูลภาคสนาม โดยการดำเนินโครงการสำรวจกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่โครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการเปิดขายหรือให้เช่า 3 ประเภท ได้แก่ โครงการบ้านจัดสรร, โครงการอาคารชุดพักอาศัย , โครงการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ และอพาร์ทเมนท์ให้เช่า

โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่สำรวจให้ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครปฐม, สมุทรสาคร ภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่,ลำพูน ภาคกลาง ประกอบด้วย อยุธยา, นครนายก ภาคตะวันออก ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย นครราชสีมา, ขอนแก่น และภาคใต้ ภูเก็ตและสงขลา

“ การจัดทำฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ โดยศูนย์ข้อมูลฯ จะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเนื่องจากมีข้อมูลใน 2 ส่วนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน จะเข้าระบบฐานข้อมูลกลาง ซึ่งทำให้ผู้ใช้ข้อมูลได้รับประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะด้านการกำหนดทิศทางการลงทุนของภาคเอกชน การพิจารณาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในระบบสถาบันการเงิน และการกำหนดนโยบายส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.