"ทริสโชว์ไอเดีย Financial Supermarket"

โดย ฐิติเมธ โภคชัย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากทางการประกาศมาตรการฟื้นฟูสถาบันการเงินแบบเบ็ดเสร็จออกมา มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพราะเข้มงวดเกินไปซึ่งทริสมองว่ายังมีอีกหลายแนวทางจะนำมาแก้ปัญหา จึงได้นำเสนอแนวความคิดออกมา อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ที่นำมาปฏิบัติค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

ทันทีที่ทีมเศรษฐกิจนำโดยวีระพงษ์-ทนง-ชัยวัฒน์ ประกาศมาตรการ 14 ตุลา ที่หวังว่าจะเป็นมาตรการฟื้นฟูสถาบันการเงินแบบเบ็ดเสร็จ ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเรตติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ได้แนะแนวปฏิบัติแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินฉบับทริส หลังจากได้ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินในต่างประเทศทั้งจากอเมริกา ญี่ปุ่นหรือเม็กซิโก แต่ยังไม่ได้นำออกมาเปิดเผย

"ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เป็นโอกาสที่จะเสนอแนวคิดนี้ออกมา เพราะอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งนอกเหนือไปจากมาตรการของทางการที่ได้เสนอมา" ดร.วุฒิพงษ์ กล่าวและให้ความเห็นต่อว่า มาตรการที่เสนอออกมาจะมีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์หลายประเด็นและยังแสดงถึงเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นั่นก็คือ การแก้ปัญหาของโครงสร้างทั้งระบบ แต่แนวทางของทางการยังไม่ได้แก้ปัญหาของระบบสถาบันการเงินที่เป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

"ถ้าเราจะแก้ปัญหาอย่างถอนรากถอนโคนควรจะมุ่งตรงไปที่ตัวปัญหา เพราะถ้าต้องการเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาในไทยแล้วให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในสถาบันการเงิน เราคิดว่าวิธีการนี้เป็นการหลอกตัวเองมากกว่า"

ประเด็นที่ ดร.วุฒิพงษ์ มีความเห็นแตกต่างไปจากมาตรการของทางการ คือ การอนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นในสถาบันการเงินได้มากกว่า 50% เป็นระยะเวลา 10 ปี หลังจากนั้นให้ถือหุ้นต่อได้ แต่ถ้ามีการเพิ่มทุนต่างประเทศไม่สามารถซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ โดยหวังว่าสถาบันการเงินเหล่านี้จะกลับสู่อ้อมอกของนักลงทุนไทยในปีที่ 11 นั้นคาดว่าลำบาก เพราะในกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปิดเสรี สัดส่วนการถือครองโดยต่างประเทศจะไม่ลดลง แต่เพดานการถือต่างหากที่จะถูกยกเลิก ดังนั้นมาตรการเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการขายขาดให้ต่างประเทศ

ประเด็นที่สอง การแก้ปัญหาของทางการที่พิจารณาและวางเงื่อนไขเป็นรายบริษัทนั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบการเงิน ในขณะที่ดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามา ปัญหาดังกล่าวก็จะยังคงอยู่ต่อไปและปัญหาอาจจะวนกลับมาสร้างความเสียหายอีกในอนาคตและยิ่งมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม เนื่องจากจะไม่เป็นเพียงข้อพิพาทระหว่างคนไทยกับคนไทย แต่จะเป็นข้อพิพาทระหว่างคนไทยกับต่างประเทศที่เข้ามาถือหุ้น

ประเด็นที่สาม เมื่อต้องการเม็ดเงินให้เข้ามาในระบบสถาบันการเงิน ก็คือการจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่วิธีจูงใจมีหลายวิธี ไม่เพียงแต่ขายบริษัทหรือขายหุ้นเท่านั้น สามารถทำได้โดยการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing loans: NPL)

"ปัญหาหลักของสถาบันการเงินเป็นเรื่องของโครงสร้างของตลาดซึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก เรามีบริษัทเงินทุน 91 แห่ง และเครดิตฟองซิเอร์อีกประมาณ 12 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีขนาดเล็กเกินไปจนขาดเสถียรภาพ นอกจากจะสร้างปัญหาเรื่องการกำกับดูแลแล้ว ด้านบุคลากรที่มีคุณภาพและประสบการณ์ที่มีอยู่ในวงการการเงินกระจายออกไปในวงกว้าง อีกทั้งขอบข่ายการดำเนินธุรกรรมที่มีขีดจำกัด ทำให้บริษัทเงินทุนอยู่ในสภาพเสียเปรียบและถูกกดดันให้เข้าไปสู่ธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงโดยปริยาย" ดร.วุฒิพงษ์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน

Financial Supermarket ช่วยได้

แนวทางแก้ปัญหาชนิดถอนรากถอนโคนนั้น ดร.วุฒิพงษ์ มีแนวคิดว่าทางการควรรวบรวมสถาบันการเงินที่มีปัญหาเข้าเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินขนาดใหญ่ (Financial Group) โดยให้ลดลงเหลือประมาณ 6-10 กลุ่ม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเคยมีผู้เสนอมาก่อนหน้าแล้วและมีสถาบันการเงินหลายแห่งก็พยายามรวมตัวกันบ้างแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถรวมกันได้เพราะติดปัญหาเรื่องการตัดสินโดยเด็ดขาด

"ถ้าจะแก้ปัญหาทางการน่าจะรวบสถาบันการเงินเหล่านี้เข้าเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินขนาดใหญ่โดยการบังคับ โดยให้แต่ละกลุ่มมีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท เมื่อหัก NPL ออกแล้ว ซึ่งในระยะยาวกลุ่มสถาบันการเงินเหล่านี้ จะสามารถดำเนินธุรกรรมได้ครบวงจร โดยที่ทางการออกใบอนุญาตชุดใหม่ อาจจะประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ ประกันภัย ประกันชีวิต เงินทุนหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) และก็จัดตั้งทีมผู้บริหาร ซึ่งอาจจะมาจากบริษัทที่เป็นแกนนำหรือบุคคลภายนอกเข้ามารับผิดชอบ" ดร.วุฒิพงษ์กล่าว

โดยกลุ่มสถาบันการเงินเหล่านี้จะถือหุ้นในธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ได้เพียง 1 บริษัท แต่สามารถถือได้เต็ม 100% เพื่อความโปร่งใสและการถือหุ้นไขว้ระหว่างสถาบันการเงินที่ซับซ้อนและเพื่อการเก็งกำไรเช่นปัจจุบัน เพราะการถือหุ้นได้เต็มที่จะทำให้แต่ละสถาบันการเงินมีความกระตือรือร้นที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทอย่างเต็มที่

"แต่ต้องมีการป้องกันห้ามไม่ให้กลุ่มธุรกิจการเงินเข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อแยกกรรมสิทธิ์อย่างชัดเจน และไม่ให้เงินของประชาชนไหลเข้าในธุรกิจการเงินแต่จะให้ไหลเข้าธุรกิจอุตสาหกรรม" ดร.วุฒิพงษ์ กล่าว

เมื่อดำเนินการอย่างนี้แล้วจะทำให้สถาบันการเงินของไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว และเป็นการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อีกทั้งจะทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้เป็นบริษัทมหาชนอย่างแท้จริง มีการบริการที่ดีและเต็มรูปแบบซึ่งมีลักษณะเหมือน Financial Supermarket คือมีการบริการทางการเงินทุกประเภทในจุดเดียว หรือเรียกว่า one stop service

หลังจากนั้นทางการสามารถแยก NPL ออกมาเพื่อขายทอดตลาด แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมกับสถาบันการเงิน ควรจัดให้มีการประมูลโดยผู้ซื้อหลากราย แทนที่จะให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (Asset Management Corporation: AMC) จะรับซื้อเอง แต่ผู้ซื้ออาจจะเป็นกองทุนรวมทั้งของไทย และต่างประเทศ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นักลงทุนต่างประเทศหรือบริษัทเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) เพื่อนำไปแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) อีกทอดหนึ่ง โดย AMC ก็สามารถร่วมประมูลด้วย แต่ควรจำกัดบทบาทของตนเองไว้เป็นสื่อกลางเป็นหลักมากกว่า

ด้านความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ ดร.วุฒิพงษ์เชื่อว่าขณะนี้มีสูงพอสมควร เพราะการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้แม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่โอกาสทำกำไรก็สูงเช่นเดียวกันและน่าจะเป็นวิธีการดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาโดยไม่สร้างปัญหาภายหลัง

"แน่นอนว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะถูกขายด้วยส่วนลดค่อนข้างมาก แต่เพื่อให้ผู้ซื้อที่เป็นคนไทยและต่างประเทศพร้อมที่จะมาเสี่ยงซื้อ แต่ปัญหาเหล่านี้จะบรรเทาไปได้ด้วยระบบการประมูลที่มีผู้ซื้อหลายรายแข่งขันกัน ส่วนที่ขาดทุนก็ต้องถือว่าเป็นบทเรียนและเป็นราคาของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น" ดร.วุฒิพงษ์ ให้ความเห็น

ส่วนขาดทุนจากการขายสินทรัพย์คาดว่าจะมีประมาณกว่าแสนล้านบาท และจะถูกนำไปหักในส่วนทุนของสถาบันการเงินเหล่านั้น จะทำให้เหลือส่วนทุนอีกไม่กี่หมื่นล้านบาทซึ่งจะไม่เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจ จึงมีความจำเป็นที่กองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยการเพิ่มทุนอีกประมาณแสนล้านบาทเพื่อให้กองทุนเพียงพอ

"เงินก้อนนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเอง เพราะจะได้รับการชดใช้หนี้ของสถาบันการเงินที่ได้มาจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนกว่าสองแสนล้านบาทอีกต่อหนึ่ง เมื่อธุรกิจการเงินเหล่านี้บริหารงานจนเป็นปึกแผ่นและเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ก็สามารถทยอยขายหุ้นออกไปได้" ดร.วุฒิพงษ์กล่าว

แนวคิดดีแต่ทำยาก

เมื่อมีแนวคิดนี้ขึ้นมาในชั้นแรก ดร.วุฒิพงษ์ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ในวงการธุรกิจแล้ว ก็ได้รับเสียงวิพากษ์และห้ามปรามว่าควรเก็บความคิดไว้กับตัวเองเงียบ ๆ เพราะนอกจากเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแล้ว อาจจะถูกมองในแง่ลบจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะการเมืองเข้าทำนอง "แกว่งเท้าหาเสี้ยน"

แต่เมื่อเก็บงำความคิดไว้ไม่อยู่ด้วยความอัดอั้นตันใจเขาจะต้องตื่นมาตั้งแต่ตี 5 เพื่อรวบรวมความคิดและเรียบเรียงออกมาก่อนจะเสนอแนวคิดในบ่ายของวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา แม้ว่าแนวความคิดนี้จะดีแต่เชื่อว่าในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะลำพังแค่การรวบกิจการของสถาบันการเงินที่มีปัญหา บริษัทไหนใครทำได้แสดงว่ามีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก

แต่ปัญหาใหญ่อีกทางหนึ่งก็คือเรื่องใบอนุญาตในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งการกำกับดูแลกระจัดกระจายไปอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน ดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ใบอนุญาตบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ดูแลโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) หรือใบอนุญาตประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ดูแลโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปัญหาคือไม่สามารถนำมารวมกันภายใต้หน่วยงานเดียวกันได้

อย่างไรก็ตาม มาตรการ 14 ตุลาที่ออกมา แม้จะไม่มีใครกล้าที่จะมีปัญหากับทางการโดยตรง แต่ก็มีเสียงสะท้อนไม่เห็นด้วยแว่วออกมาเช่นกัน โดยเฉพาะการอนุญาตให้ต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นได้อย่างเต็มที่ซึ่งเหมือนเป็นการขายขาดนั่นเอง เนื่องจากในอนาคตต่างประเทศก็เข้ามาลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การเปิดโอกาสให้เข้ามาวันนี้กับอีก 5 หรือ 8 ปีข้างหน้าตามนโยบาย free trade นั้นย่อมแตกต่างกัน เพราะในระยะยาวเชื่อว่าสถาบันการเงินของไทยคงจะแข็งแกร่งมากขึ้น และจะสามารถต้านทานกระแสจากต่างประเทศได้พอสมควร แต่การเปิดทางให้ต่างประเทศเข้ามาในขณะที่สถาบันการเงินไทยยังอ่อนแอ ย่อมเป็นการเร่งเวลาให้สถาบันการเงินของคนไทยตกเป็นของต่างประเทศง่ายขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.