|
ร่างทรงใหม่กดดันบลจ.ยูโอบี เร่งสร้างผลงานพิสูจน์ศักยภาพ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจกองทุนรวม ความแตกต่าง และภาพลักษณ์ที่โดดเด่นโดยเฉพาะในเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุน คือสิ่งสำคัญที่ดึงดูความสนใจลูกค้าให้อยากเข้ามาลงทุน และสำหรับน้องใหม่แต่หน้าเก่าอย่าง บลจ.ยูโอบี ปี49น่าจะเป็นปีแห่งความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน หลังจากมีการปรับเปลี่ยนองค์กรที่ ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีล์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
หลังการเปลี่ยนชื่อจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บีโอเอ เป็น ยูโอบี ภายใต้การถือหุ้น 100%ของธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีล์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นใน บลจ.แห่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินงานที่ต้องเล่นเชิงรุกมากขึ้น และการสร้างภาพลักษณ์องค์กรใหม่ให้ชัดเจนขึ้นโดยเน้นไปที่ความเป็นองค์กรรุ่นใหม่ไฟแรงทันสมัย และงานบริการที่ถึงใจ
บลจ. ยูโอบี เปลี่ยนชื่อตั้งแต่ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นยังไม่ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุผลอาจต้องการความชัดเจนในโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร ซึ่งรวมถึงการกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อลงสู่สนามแข่งภายใต้ความพร้อมที่เปรียบเสมือนนักกีฬาฟิตร่างกายเต็ม 100% เพื่อลงสู่สนามแข่ง
แม้จำนวน คู่แข่งในวงการธุรกิจกองทุนรวมไม่ได้มีจำนวนมากมายก็ตาม แต่การแข่งขันในแต่ละปีกทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ยูโอบี ในฐานะคนรุ่นเก่าแต่ชื่อใหม่ จะต้องเร่งเปิดตัวให้ชื่อเป็นที่รับรู้มากขึ้น ควบคู่การทำธุรกิจในเชิงรุกมากกว่าที่ผ่านมา
วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยูโอบี ประเทศไทย บอกว่า เมื่อเปลี่ยนชื่อก็อยากที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรที่แสดงถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ทันสมัย มีความโดดเด่นในตัวของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการให้เพิ่มบริการที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า
การเข้ามาของ ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีล์ ได้มีการปรับในส่วนของสายงานพัฒนาธุรกิจจากเดิมที่แยกธุรกิจกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคล เป็นทีมวางแผนการลงทุนหรือ "Wealth Planer" ซึ่งทีมดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้าแต่ละราย โดยแบ่งเป็นการวางแผนการลงทุนสำหรับลูกค้าทั่วไป และการวางแผนการลงทุนให้ลูกค้าสถาบัน เพื่อให้คำแนะนำในการจัดสรรเงินลงทุน และนำเสนอกองทุนที่เหมาะสม
วนา บอกอีกว่า ในส่วนของผลิตภัณฑ์จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อความชัดเจนของรูปแบบกองทุน โดยกลุ่ม UOB Sure เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่งคงสูง และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคาร ซึ่งกลุ่มนี้ หลักทรัพย์ที่ลงจะเป็นตราสรหนี้ภาครัฐบาล ประเภทคุ้มครองเงินต้น อย่างตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอายุใกล้เคียงกับกองทุน ดังนั้นการลงทุนในกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงที่ต่ำ
กลุ่มที่ 2 เป็นUOB Smart เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการความหลากหลายในการลงทุนตามระดับความเสี่ยง มีสภาพคล่องสูง ตั้งแต่การลงทุนในตราสารหนี้ ผสมไปถึงตราสารทุน โดยทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนระหว่างกองทุนในกลุ่มUOB Smart ได้
และกลุ่มUOB Select เหมาะกับผู้ที่ตองการลงทุนทางเลือกใหม่ ส่วนใหญ่เป็นประเภทคุ้มครองเงินต้น เงินลงทุนส่วนใหญ่ลงในตราสารหนี้ที่มีอายุใกล้เคียงกองทุน เพื่อทำให้เงินลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเท่ากับเงินทุนเริ่มแรก โดยเงินทุนเริ่มแรกในส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนตราสารอนุพันธ์ ดังนั้นผลตอบแทนของกลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับราคาหลักทรัพย์ หรือดัชนีอ้างอิงที่น่าสนใจ เช่นกองทุน EC คุ้มครองเงินต้นที่ ยูโอบีเพิ่งปิดกองทุนไปเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง 33.94% จากการลงทุน 3 ปี (อ้างอิงผลตอบแทนกับดัชนีSET50)
วนา เล่าอีกว่า สำหรับเป้าหมายในปี 2549 ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ให้มานั้นจะต้องเติบโตถึง 33.97% จากมูลค่ากองทุน 48,503 ล้านบาท ในปี48 เป็น 65,013 ล้านบาทในปี49 ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคาดว่าจะเติบโตอีก 23%จากมูลค่า 4,789 ล้านบาท เป็น 5,900 ล้านบาทมในปีนี้ และกองทุนส่วนบุคคลจะโตเป็นเท่าตัว จากมูลค่า 2,105 ล้านบาท เป็น 4,200 ล้านบาท
โจทย์ที่บริษัทแม่ให้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ บลจ. น้องใหม่แต่หน้าเก่ารายนี้ ด้วยอัตราการเติบโตที่วางไว้ถึงกว่า 30% เมื่อเทียบกับ บลจ. รายอื่นนั้นวางเป้าหมายโตกันประมาณ 10-20%เท่านั้น ซึ่งจะว่าไปก็เป็นแรงกดดันให้พนักงานต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่ง วนา ถึงกับกล่าวว่า แม้เป้าหมายจะสูง แต่ก็จะพยายามทำให้ได้ตามที่ตั้งไว้
เป้าหมายจะทำได้ดั่งหวังหรือไม่นั้นถือเป็นเรื่องถ้าทายสำหรับ ยูโอบี ด้วยบรรยากาศทางธุรกิจนับวันจะสร้างความกดดันยิ่งขึ้นด้วยการแข่งขันที่รุนแรง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่พลิกสถานการณ์ธุรกิจกองทุนรวมได้ทั้งทางบวกและลบ เพราะในแง่การแข่งขันที่รุนแรง สำหรับ บลจ.ที่ทำผลงานได้โดดเด่นก็จะได้รับผลบวกไป ด้วยการเข้ามาซื่อหฟน่วยลงทุนจากนักลงทุน ตรงกันข้าม บลจ.ไหนที่ทำผลงานไม่เข้าตาก็อาจจะก้าวเดินได้ลำบาก
และสำหรับ ยูโอบี ปีนี้เปรียบเสมือนปีแห่งความท้าทาย เพราะหนทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายได้นั้นย่อมหมายถึงการทำงานที่ต้องสร้างผลงานหรือผลตอบแทนจากการลงทุนได้เป็นที่โดดเด่นและเป็นที่พอใจสำหรับลูกค้า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|