|
คลังติดเรดาร์ตรวจจับทางเลี่ยงภาษี ควานหาแหล่งเงินเข้ากระเป๋ารัฐ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เศรษฐกิจและการเติบโตของประเทศทั่วโลกเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทุกประเทศเกิดการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาประเทศนั้นต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล และในแต่ละปี งบประมาณในการพัฒนาประเทศมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การจัดเก็บภาษีหรือรายได้เข้ากระเป๋ารัฐเพื่อนำไปพัฒนาประเทศจึงเป็นภาระหน้าที่ของ 3 กรมจัดเก็บ อย่าง สรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร แต่ขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งรายได้จะต้องมีศักยภาพสูง ไอทีจึงถูกนำมาใช้กับทั้ง 3 กรมจัดเก็บเพื่อทำให้รายได้รัฐเป็นไปตามเป้าหมาย
การจัดเก็บรายได้รัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายจะต้องอาศัยศักยภาพของเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการควานหาเป้าหมายที่หลุดรอดออกจากสายตาของกรมจัดเก็บภาษีทั้ง 3 แห่ง ให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบได้อย่างถูกต้อง ไม่เพียงสร้างความยุติธรรมให้แก่สังคมและผู้เสียภาษีได้อย่างถูกต้องแล้ว แต่รายได้ดังกล่าวคืองบประมาณนำไปสู่การพัฒนาประเทศ และการตั้งงบประมาณในแต่ละปีก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงเพื่อการพัฒนาประเทศเพื่อประชาชนเท่านั้นแต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ด้วยเหตุนี้ขีดความสามารถและศักยภาพในจัดเก็บภาษีหรือรายได้เข้ารัฐของทั้ง 3 กรมจึงเป็นส่วนสำคัญ แม้ว่าในอนาคต กรมศุลกากรจะขาดรายได้จากส่วนของการจัดเก็บภาษีก็ตาม แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้จะเป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมข้อมูลถึงกัน เพื่อเป็นเรด้าจับบุคคล และนิติบุคคล ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง
กล่าวได้ว่า กรมที่จัดเก็บภาษีด้วยระบบเทคโนโลยีทันสมัยและดีที่สุดในขณะนี้คือกรมสรรพากร รายได้จากการจัดเก็บในแต่ละปีล้วนแล้วแต่เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยที่สรรพากรไม่ได้มีการเพิ่มรูปแบบภาษีใหม่ ๆ ขึ้นเลย
"เราจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่มีนโยบายออกภาษีตัวใหม่เลย มิหนำซ้ำเรายังลดภาษีบางตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำ แต่เราก็สามารถจัดเก็บภาษีได้เกินเป้า ซึ่งที่ทำได้เช่นนี้ก็เพราะการพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ทันสมัย และมีการเชื่อมโยงข้อมูลเชิงลึกเข้าถึงกรมและกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง"สาธิต รังคสิริ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าว
สาธิต เล่าว่า สำหรับสรรพากรแล้วนั้นใช้ระบบไอทีเป็นตัวนำในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ในช่วงปีที่ผ่านมาการพัฒนาฐานข้อมูลส่วนนี้ค้อนข้างแข็งแกร่งพอสมควร ส่วนปีนี้จะเริ่มเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นที่อย่างล่าสุดก็มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานประกันสังคม จากตรงนี้ทำให้สรรพากรสามารถลงลึกได้ถึงข้อมูลตัวบุคคล
นอกจากนนี้ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากสรรพสามิต ศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจากจุดนี้ได้ทำให้สรรพากรสามารถดึงข้อมูลภายนอกมาใช้ในการบริหารจัดเก็บภาษีได้มากยิ่งขึ้น
"เราไม่ได้หวังว่าทุกคนจะต้องเสียภาษี เพราะบางคนรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสีย แต่สิ่งที่เราต้องการคือให้ทุกคนเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง โดยยื่นแบบภาษีตามกระบวนการที่ถูกต้อง เมื่อทำถูกต้องข้อมูลของบุคคลนั้นจะถูกบันทึกไว้เป็นประวัติสามารถเรียกดูได้ทุกรายละเอียด ตั้งแต่มีรายได้เท่าไร ยื่นแบเท่าไร ส่วนนี้คือผลจากที่นำไอทีมาช่วยทำให้เราเข้าถึงฐานข้อมูลได้ดีขึ้น"
อีกทั้งในวันนี้แม้บุคคลทั่วไปอาจจะยังมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เมื่อวันใดที่สามารถขยายธุรกิจและกิจการให้เติบโตได้ บุคคลนั้นก็ถึงเวลาที่ต้องเสียภาษีให้รัฐอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันระบบไอทีที่นำมาใช้ก็จะช่วยควานหากลุ่มนิติบุคคลที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องได้ด้วย
"ดังนั้นวันนี้จึงบอกได้เลยว่าจริง ๆ สรรพากรรู้แล้วด้วยซ้ำว่าใครที่ยังหลักเลี่ยงภาษีอยู่ ซึ่งก็ขอให้รีบเตรียมตัวเพื่อเข้าระบบให้ถูกต้อง เพราะวันหนึ่งสรรพากรจะตามตัวเจอแน่"
สาธิต บอกอีกว่า สำหรับสรรพากรค่อนข้างพอใจกับการพัฒนาระบบไอทีเรื่อยมา ซึ่งทำให้ประหยัดในเรื่องต้อนทุนด้วยโดยเฉพาะการใช้กระดาษ อีกทั้งยังเน้นพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ไฟแรงให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีซึ่งที่ผ่านมา สรรพากรค่อนข้างโชคดีในเรื่องนี้ เพราะบุคคลากรที่เข้ามาใหม่ส่วนใหญ่จะเก่งและเข้าใจเรื่องเทคโนโ,ยีได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังปลูกฝังให้ทุกคนมีความภูมิใจในระบบ e-Revenue
ด้านสรรพาสามิตก็ไม่น้อยหน้า เดินเข้าสู่ยุคไอทีมุ่งพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนผู้เสียภาษีและบริหารงานภายในองค์กร
อุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดี กรมสรรพสามิตบอกว่า การนำระบบไอทีมาใช้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบันด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่ใช้นั้นสามารถคำนวณรายได้ในอนาคตของนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีสรรพาสมิตได้ ซึ่งหมายความว่าบริษัทแห่งนี้มีรายได้ต่อปีประมาณเท่าใด และจะต้องจ่ายภาษีประมาณเท่าใด ซึ่งจะทำให้การคาดเดาการจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างแม่นยำมาขึ้น
วันนี้สรรพาสามิตรได้พัฒนาระบบไอทีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้านทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอร์ฟแวร์ และระบบเน็ตเวิร์คให้สามารเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังสำนักงานสรรพสามิตทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานใน 3 ด้าน คือ การอำนวยความสะดวกให้แกผู้เสียภาษีและผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เช่นการให้ยื่นแบบและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้ 24 ชั่วโมง
ด้านที่ 2 คือระบบสำนักงานอัตโนมัติ และสุดท้ายคือระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร ซึ่งจะนำข้อมูลการจัดเก็บรายได้สรรพสามิตผ่านระบบอินทราเน็ตแก่ผู้บริหารเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงาน และติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้ตลอดเวลา
อุทิศ ยังเล่าถึงว่าสรรพสามิตกำลังพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่นกำลังศึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีไมโครชิปRFID มาใช้แทนแสตมป์สุราและยาสูบ ซึ่งไมโครชิปดังกล่าวจะใช้ในการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน เพื่อป้องกันการปลอมแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบติดตามสินค้า
เห็นได้ว่าทุกวันนี้การนำระบบไอทีเทคโนโลยีเข้ามาใช้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการบริหารงานในหน่วยงานจัดเก็บภาษีไปแล้ว ไม่เพียงแค่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานรายบุคคลหรือนิติบุคคลแล้ว แต่ยังเป็นเรด้าควานหาแหล่งเงินของรัฐเข้ากระเป๋ารัฐได้อีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|