"AMAZING THAILAND GRAND SALE ปรากฎการณ์ครั้งใหญ่..ประเทศไทยถูกจริงๆ"

โดย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

Spot โฆษณาความยาว 1 วินาที ข้อความ : ไทยประกาศลั่นแค่เงินบาทถูกลง 40% ยังไม่พอ เดินหน้าจัดมหกรรมลดกระหน่ำ 70% ทั่วประเทศอีกระลอก หวังดึงยอดขายช่วงปลายปีให้ได้ตามเป้า ย้ำว่างานนี้ลดกันแบบสุด ๆ นานถึง 1 เดือนเต็ม

ในชั้นแรกที่โครงการ Amazing Thailand เปิดตัวออกมานั้นก็กลายเป็น issue ใหม่ ที่ให้ใครๆ หลายคนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในด้านสนับสนุนว่าเป็นทางรอดของประเทศ และทั้งด้านติติงเพราะไม่เห็นว่าจะมีอะไรขายได้แล้วเว้นแต่ "ชื่อเสีย" ของประเทศเท่านั้น

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง แม้จะทำงานภายใต้แรงกดดันมากมายแต่ก็ได้ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าในช่วง 2 ปี (2541-2542) จะต้องมีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเดินทางเข้ามาอย่างน้อย 17.18 ล้านคน และจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในปีนี้เอง เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีเอามาก ๆ รัฐบาลซึ่งต้องหาทุกวิถีทางที่ได้มาซึ่งรายได้ของชาติ จึงเลื่อนให้โครงการดังกล่าวดำเนินงาน ตั้งแต่ปีนี้เลย ด้วยหวังว่าจะเพิ่มนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงรายได้เข้าประเทศมากขึ้นไปด้วย

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่ทุกฝ่ายคาด เพราะสถานการณ์เริ่มส่อแววมาตั้งแต่ตัวเลขการท่องเที่ยว 6 เดือนแรกออกมา พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวโตเพียง 1.8% ทั้งๆ ที่มีฐานเดิมในปี'39 อยู่ที่ 4% เท่ากับว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปกว่าครึ่ง

และเหตุการณ์ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงไปอีก เมื่อตัวเลข 8 เดือนออกมาปรากฏว่ามีตัวเลขนักท่องเที่ยวโตเพียง 0.72% หรือ 4,774,943 คน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ว่าจะต้องเพิ่มขึ้นปีละ 7.8%

ททท. ได้ให้เหตุผลการถดถอยของตัวเลขนักท่องเที่ยวว่า สาเหตุเกิดจากโครงสร้างทางการตลาดของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเมืองไทย 60% เป็นตลาดเอเชียระดับกลางและล่างซึ่งที่ผ่านมามีการเติบโตแบบฟองสบู่ โดยมุ่งขายปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทำให้เกิดปัญหาถูกหลอกลวงมากจนภาพลักษณ์ของเมืองไทยติดลบ ในขณะที่ตลาดยุโรปเป็นเป้าหมายสำคัญของไทยแต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย

ด้าน เสรี วังส์ไพจิตร ผู้ว่าททท. คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้ จะมีตัวเลขการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในอัตราเพียง 3.5% เท่านั้น และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของปีอะเมซิ่งไทยแลนด์จึงต้องปรับแผนการตลาด โดยหันมาใช้จุดขายเรื่องค่าเงินบาทลอยตัวกระตุ้นความสนใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยมากขึ้น

สอดรับกับแนวคิดข้างต้นโครงการ "Amazing Thailand Grand Sale" ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์และห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ จึงถูกจับตามองว่าจะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด

Grand sale ลดกระหน่ำ 20-70%

โครงการดังกล่าวกำลังจะสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ ด้วยการขายสินค้าลดราคา 20-70% ทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม โดยความร่วมมือของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นโต้โผหลัก กับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ศูนย์การค้า พลาซ่า และร้านค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 70 แห่ง ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา พัทยา ชลบุรี หาดใหญ่ ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี

และเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว ททท. จะทำหนังสือแนะนำร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ หรือ SHOPPING GUIDE BOOK แจกจ่ายแก่นักท่องเที่ยวที่ท่าอากาศยาน ที่พัก และประชาสัมพันธ์บนสายการบิน โรงแรม และเอเยนซีทัวร์ต่างๆ รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ติดธงทิว และสติกเกอร์ร้านที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศโดยตลอดทั้งงานจะแบ่งการส่งเสริมการขายเป็น 4 สัปดาห์คือ สัปดาห์ที่ 1 เน้นขายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม, สัปดาห์ที่ 2 เน้นอัญมณี, สัปดาห์ที่ 3 เน้นของขวัญของที่ระลึก และสัปดาห์ที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะสร้างความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างมาก คือ การต่อรองราคาสินค้าที่ตลาดนัด อาทิ ตลาดนัดจตุจักร เป็นต้น

ผู้ว่า ททท. เชื่อว่า ความพยายามดังกล่าวจะได้ผลอย่างแน่นอน เพราะจากสถิติของนักท่องเที่ยวนั้นพิจารณารายได้จากการท่องเที่ยว พบว่ามีถึง 38-40% ที่เป็นส่วนของการจับจ่ายซื้อของ และในปี'39 ที่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 7.2 ล้านคน นำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ประมาณ 8 หมื่นกว่าล้าน เป็นเงินที่นำเข้ามาเพื่อการจับจ่ายซื้อสินค้าและของที่ระลึกจริง ๆ

นอกจากนี้ ททท. ได้โชว์ตัวเลขให้แน่ใจขึ้นอีกว่า ในปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามีอัตราพักแรมในประเทศเฉลี่ย 7.5 วัน ใช้จ่าย 2,500/คน/วัน ส่วนกลุ่มประชุมสัมมนาจากต่างประเทศมีระยะเวลาพักประมาณ 5-8 วัน ค่าใช้จ่าย 5,000 บาท//คน/วัน ซึ่งถ้าสามารถดึงให้นักท่องเที่ยวพักให้นานวันขึ้น ตั้งแต่ 9 วันขึ้นไป ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นด้วย

เช่นเดียวกันถ้าพิจารณาประเภทของนักท่องเที่ยวจะพบว่าในปี'39 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาจากยุโรป อเมริกา แอฟริกา และเอเชีย เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทยกว่า 7 ล้านคน และมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการเฉลี่ยถึง 3,706 บาท/คน/วัน หรือคิดเฉลี่ยต่อปีเป็นเงินถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ใช้จ่ายหมุนเวียนอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมหาศาล

และเมื่อเจาะจงไปยังนักท่องเที่ยวในแถบเอเชียตะวันออก อันได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ก็จะพบว่าพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยิ่งน่าสนใจมาก เพราะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามากว่า 10 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึง 4,107 บาท/คน/วัน หรือคิดเป็นเงินต่อปีกว่าแสนล้านบาทเช่นกัน

กิจกรรมการโฆษณาจึงเน้นประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก อาทิ ประชาสัมพันธ์ในหนังสือท้องถิ่น 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ จำนวน 14 ฉบับ รวม 28 ครั้ง, เผยแพร่ข้อมูลในนิตยสารและวิดีโอ จำนวน 100 ม้วนบนสายการบินต่างๆ, เผยแพร่ข้อมูลในรูปวิดีโอ 500 ชุด โปสเตอร์จำนวน 2,000 แผ่น และแผ่นพับ 50,000 แผ่นในโรงแรมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งบริษัทนำเที่ยวทั่วไป ฯลฯ

สหพัฒนฯ ร่วมเซล

นอกจากกิจกรรมที่เดินเรื่องโดยภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนเองยังสนใจกลยุทธ์จัดมหกรรมลดราคาแบบสุด ๆ เช่นกัน เห็นชัด ๆ ก็รายของยักษ์ใหญ่อย่างเครือสหพัฒนฯ ประกาศจัดโครงดาร "SAHA GROUP THAILAND BEST" ขายสินค้าราคาประหยัดทั่วประเทศ

จากการเปิดเผยในงานแถลงข่าวของบุญชัย โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และบุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งรวมกันชี้แจงว่าสิ่งที่สหกรุ๊ปทำนั้น "เป็นการทำเพื่อ SPIRIT โดยนำจุดเด่นเรื่องส่งเสริมสินค้าไทยและประกาศว่าสหกรุ๊ปผลิตสินค้าไทยเช่นกัน"

แนวทางของเครือสหพัฒน์นั้นเน้นที่ส่งเสริมสินค้าไทยตามนโยบายซื้อสินค้าไทย และเพื่อประกาศให้ทราบว่าสินค้าใดบ้างที่เป็นของคนไทยและผลิตโดยสหพัฒน์ ซึ่งนอกจากเป็นการแสดง spirit ของกลุ่มธุรกิจที่มีชื่อยาวนานอย่างสหพัฒน์แล้ว กรณีการรณรงค์ใช้สินค้าแบรนด์เนมของไทยคาดว่าน่าจะกระทบสหพัฒน์เช่นกัน เพราะสินค้าส่วนใหญ่ของสหพัฒน์ใช้ ชื่อฝรั่งทั้งนั้น อาทิ Arrow, Guy Laroche, Lacoste, Naturalizer, Wacoal เป็นต้น

โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยจะใช้วิธีนำสัญลักษณ์ "SAHA GROUP THAILAND BEST" ไปติดบนภาชนะ บรรจุภัณฑ์ และป้ายสินค้าของบริษัทกว่า 200 แห่งในเครือ ที่มีรายการสินค้าซึ่งผลิตและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศกว่า 1,000 รายการ ประกอบด้วย หมวดสินค้าและเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องไฟฟ้า

ไฮไลต์ของงานอยู่ในวันที่ 13-14 พฤศจิกายน ซึ่งจัดให้มีการขายสินค้าในราคาประหยัดของเครือที่ท้องสนามหลวงแบบมาราธอนรวดเดียว 36 ชั่วโมงตลอดวันตลอดคืน เพื่อให้ผู้สนใจมาหาซื้อของได้ทุกเวลา ทั้งนี้ ถ้างานดังกล่าวประสบความสำเร็จ ทางกลุ่มก็เตรียมจัดคาราวานสินค้าสัญจรไปทั่วทุกภาคของประเทศด้วย

และในเดือนพฤศจิกายนอีกเช่นกันที่เครือสหพัฒนฯ ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออกจัดมหกรรมส่งออกสินค้าในเครือฯ ในงาน "SAHA GROUP EXPORT'98" เพื่อเป็นการส่งเสริมสินค้าไทยให้เป็นที่แพร่หลายไปในต่างประเทศ เพราะตามแผน 5 ปี ของเครือสหพัฒนฯ ก็ตั้งเป้าที่จะส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีน และเพิ่มน้ำหนักที่ยุโรปขึ้นถึง 50% อยู่แล้ว โดยสินค้าที่จะจัดส่งไปนั้นจะอยู่ในหมวดอุปโภคประเภทรองเท้า เสื้อผ้า ในสัดส่วน 80-90% เพราะโอกาสเติบโตสูงเมื่อเทียบกับสินค้าหมวดอื่นๆ

ด้านยอดขายสินค้าของสหกรุ๊ปในปี 2540 คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 70,000 ล้านบาท แต่ยังเป็นการเติบโตในลักษณะติดลบอยู่ ดังนั้น สินค้าที่มีสต็อกเหลือมากก็จะแก้ปัญหาด้วยวิธีลดกำลังการผลิต ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบ้างแล้ว เช่น สินค้าประเภทเสื้อผ้าที่ลดการผลิตลง 20-30% เป็นต้น

ลดราคา-กระตุ้นใช้จ่าย ภายใต้สโลแกน "Value of Money"

นอกกจากิจกรรมลดราคาสินค้าแล้ว ททท. ยังกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการร่วมกับการท่าอากาศยาน ด่านตรวจคนเข้าเมืองและบริษัทนำเที่ยว หารายได้เข้าประเทศจากผู้โดยสารที่รอเปลี่ยนเครื่อง เนื่องจากพบว่ามีผู้โดยสารที่มาจากสายการบินต่าง ๆ ต้องมารอเปลี่ยนเครื่อง ที่ดอนเมืองเป็นเวลานาน 6-8 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยแล้วมีจำนวน 2.5 ล้านคนต่อปีนั้น ททท. กะคร่าว ๆ ว่า ถ้ามีการใช้จ่ายคนละประมาณ 500 บาท เป็นจำนวนสัก 1 ล้านคนต่อปี แล้วรายได้ขั้นต่ำที่น่าจะได้ก็คือ 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจมิใช่น้อย

จากความเคลื่อนไหวของทั้งภาครัฐ และเอกชนที่พยายามจะสร้างปรากฏการณ์สินค้าราคาถูกเพื่อดึงนักท่องเที่ยว และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ราคาสินค้าที่ถูกลงนั้น จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จริงหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนเองก็พอจะได้ยินเสียงบ่นของนักท่องเที่ยว เรื่องของถูกแต่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้น ปัญหาต่อมาคือการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานด้วย

คำว่า "Value of Money" จึงกลายเป็นสโลแกนที่นำออกมาขายให้กับชาวต่างชาติรู้โดยทั่วกันและมีความมั่นใจว่า นอกจากค่าเงินที่ถูกลงราว 40% และการจัดกิจกรรมลดราคาสินค้า 20-70% แล้ว สินค้าเหล่านั้นจะได้มาตรฐานและมีคุณภาพด้วย และนั่นหมายถึงการปูทางไปสู่ความเป็น Shopping Paradise หรือสวรรค์สำหรับนักชอปปิ้งอีกแห่งนอกเหนือไปจากสิงคโปร์และฮ่องกง

ด้วยโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น เสรีเองถึงกับออกปากว่า "รายได้ 2.4 แสนล้านในสิ้นปีนี้อย่างไรก็ได้แน่นอน หรืออาจจะถึง 2.5 แสนล้านด้วยซ้ำ" แม้ว่ายอดนักท่องเที่ยวจะลดลง แต่เขาเชื่อมั่นว่าการเพิ่มจำนวนวันพักและการกระตุ้นการใช้จ่ายจะต้องประสบความสำเร็จแน่นอน

ดูๆ ไปแล้วภาพรวมของการเคลื่อนไหวต่าง ๆ และเป้าหมายที่วางไว้น่าจะเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ถ้าไม่ติดว่ามีข้อติติงที่น่าสนใจออกมา

โดย ดร.ธวัช วิชัยดิษฐ กรรมาธิการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอในงานสัมมนาเศรฐกิจกับการท่องเที่ยวไทยปัญหาที่ต้องแก้ไขทันทีว่า "ททท.ต้องปรับเป้าหมายรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2540 ที่คาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้าสู่เมืองไทยประมาณ 2.4 แสนล้านบาทเสียใหม่โดยจะต้องเป็น 4 แสนล้านบาท เพื่อให้เท่ากับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง 40% หากไม่มีการปรับก็แสดงว่าไม่ได้ทำอะไรเลย"

ข้อติติงดังกล่าวน่าคิดว่า ททท. จะทำอย่างไร จะยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า รายได้การท่องเที่ยวมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 2.4 แสนล้านหรือจะยอมปรับตัวเลขตามค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป

สิ้นปีคงได้มาประเมินกันว่า แท้จริงแล้วเราจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเท่าไรแน่ คุ้มกับเงินลงทุนหรือไม่ (ซึ่งยังเป็นข้อกังขาว่าใช้กันไปเท่าไรแล้ว เพราะถามเท่าไร ททท. ก็ไม่บอกอ้างว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดและกลัวคู่แข่งจะรู้)

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมนำล่องด้านสินค้าราคาถูกซึ่งให้ความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน คงจะช่วยกระตุ้นรายได้ในปีนี้ให้มากขึ้น และคงเป็นความพยายามเฮือกสุดท้ายของห้างต่าง ๆ ก่อนปิดงบสิ้นปีหลังจากผิดหวังจากยอดขาย 10 เดือนที่ผ่านมา

ขออย่างเดียว..ขอให้เป็นความพยายามที่อยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และภายใต้สโลแกน Value of Money จริงๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.