GIT เปิดข้อมูลลึกเจาะตลาดอัญมณีจีน ชี้‘ทับทิม-ไพลิน’รุ่ง-จับกระแสเบื่อสีขาว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

GIT เปิดข้อมูลเชิงลึกตลาดอัญมณีจีน เชิญผู้ประกอบการพลอยสีเข้าไปเจาะตลาดแดนมังกรอีกครั้ง หลังจากเคยรุ่งโรจน์มาในอดีต มุ่งจับลูกค้าระดับกลาง-บน อำนาจซื้อสูงกว่า 300 ล้านคนในเมืองใหญ่ เพื่อดึงเงินหยวนเข้าประเทศ เชื่อมีโอกาสที่พลอยสีจะฟื้นความนิยม หลังจากเพชรได้แย่งส่วนแบ่งการตลาดไปเกือบหมด ชี้คนจีนเริ่มเบื่อสีขาว!

นอกจากจีนจะก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจ จำนวนประชากรที่มีมากถึง 1,300 ล้านคน และมีคนที่มีกำลังซื้อสูงอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ถึง 300 ล้านคน ได้ทำให้ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ที่หอมหวนที่จะเข้ามาเจาะตลาด สินค้าใดที่เปิดตลาดสำเร็จนั่นหมายความว่าสินค้านั้นจะขายได้เป็นจำนวนมหาศาล สินค้าอัญมณีก็เช่นกัน...

ทำไมถนนทุกสายมุ่งตลาดจีน?

วิลาวัณย์ อติชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) กล่าวว่าจีนเปิดประเทศตั้งแต่ปี 2521 และมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจจีนมีการพัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด ประกอบกับจีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน และในนั้นมีคนถึง 300 ล้านคนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งเท่ากับประชากรของประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ

เมื่อปลายปี 2544 จีนยังเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ซึ่งมีข้อตกลงให้ประเทศสมาชิกรวมทั้งจีนมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำเข้าสินค้าหลายรายการ จึงยิ่งทำให้จีนเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีศักยภาพสูง

สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจีนนับว่าจะยิ่งเติบโตขึ้นพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มูลค่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจีนเพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านหยวน เป็น 100,000 ล้านหยวน ภายในระยะเวลาแค่ 20 ปี

ในปี 2547 มีการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของจีนจากทั่วโลกสูงถึง 2,653.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเบลเยี่ยม 747.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ 738.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อินเดีย 231.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 9 มีมูลค่าที่จีนนำเข้าสินค้าประเภทนี้เพียง 48.32 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงแค่ 1.5%

อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากสัดส่วนการนำเข้าสินค้าอัญมณีของไทยจากจีนแล้ว ตลาดพลอยสีจำพวกทับทิม และแซปไฟร์ ถือว่าจีนมีการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 80-90 ของมูลค่าการนำเข้าพลอยเนื้อแข็งรวม

“จุดนี้สถาบันฯ เห็นว่าตลาดจีน ยังมีโอกาสให้คนไทยได้รุกคืบเข้าสู่กลุ่มชนชั้นกลางที่มีอำนาจซื้อ ที่มีจำนวนกว่า 300 ล้านคน”

ที่ผ่านมาทางสถาบันฯ จึงได้จัดสัมมนาเรื่อง “เปิดประตูมังกร ลัดเลาะเจาะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับจีน” เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมทั้งได้มีการจัดทำการศึกษาวิจัยในโครงการ “การศึกษาตลาดพลอยเนื้อแข็งเพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคในประเทศจีน” เพื่อเสนอภาพรวมตลาดอัญมณีจีนแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป เชิญชวนผู้ประกอบการเจาะตลาดจีน มุ่งกระตุ้นเม็ดเงินหยวนเข้าสู่ประเทศไทย

หวนอดีต - ชี้พลอยสียังรุ่งได้

ผศ.ดร.สมชนก ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการวิจัยการศึกษาตลาดพลอยเนื้อแข็งเพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคในประเทศจีน กล่าวว่า ตลาดจีนเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสสำหรับคนไทยที่มีสินค้าพลอยสีที่มีคุณภาพได้รับการยอมรับจากคนจีน ซึ่งเคยรุ่งโรจน์มากในตลาดจีน ในปี 2537-2540 ที่มียอดจำหน่ายสูงถึงปีละ 80 พันล้านหยวน เป็นพลอยสีที่มาจากประเทศไทยร้อยละ 80 จากชานตงร้อยละ 10 ที่เหลือมาจากอินเดียและศรีลังกา

“สมัยนั้นคนจีนนิยมพลอยที่มีสี โดยเฉพาะพลอยที่มีสีออกแดง เนื่องจากเป็นสีที่มีมงคล”

ก่อนที่ความนิยมพลอยสีของชาวจีนในปัจจุบันจะลดลงมาก หลังจากบริษัทเดอ เบียร์ส ได้นำเพชรเข้าเจาะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับจีน ตั้งแต่ปี 2536 และระหว่างปี 2536-2547 ได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพชรอย่างต่อเนื่อง ทำให้เพชรชิงส่วนแบ่งการตลาดไปจากพลอยสีได้สำเร็จ

“เดอ เบียร์ส สร้างค่านิยมขึ้นมาใหม่ว่าเพชรคือสินค้าที่มีราคา และมีแต่ราคาจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ส่วนพลอยมีแต่จะราคาตกลงเรื่อย ๆ ซึ่งเนื่องจากเขาทุ่มงบประมาณจำนวนมาก ก็ทำสำเร็จทำให้ตลาดพลอยสีตกลงมาอย่างหนัก แต่พอนานเข้าคนจีนหลายคนมีแนวโน้มเบื่อสีขาวมากขึ้น ข่าวดีคือยังคงมีความต้องการบริโภคพลอยสีจำพวกทับทิมและไพลินแฝงเร้นอยู่ในตลาดจีนจำนวนมาก ประเทศไทยซึ่งมีพลอยสีที่มีคุณภาพจึงยังพอมีโอกาสในตลาดนี้”

เปิดงานวิจัยแนะข้อมูลลึกเมืองจีน

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการที่จะไปเจาะตลาดจีน จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน โดยข้อมูลที่สำคัญประกอบด้วย

ข้อมูลกลุ่มผู้ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในจีน จากงานวิจัยของ CHINA BRANDING STRATEGY ASSOCIATION ระบุว่าคือ กลุ่มคนทำงานวัย 30-40 ปี มีรายได้ประมาณปีละ 30,000 เหรียญสหรัฐฯ คือประมาณ 240,000 หยวน มีเงินออมประมาณ 300,000 -500,000 หยวน และมีลักษณะคล้ายกับผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเมื่อ 15 ปีก่อนคือกระหายสินค้าแบรนด์เนมหรู ราคาแพง

ศูนย์กลางด้านการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของจีน ได้แก่ เมืองเซินเจิ้น ปานหยู ซุ่นเต๋อ และซาโถวเจี่ยว ในมณฑลกวางตุ้ง ส่วนที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซี่ยงไฮ้ มีชื่อเสียงเรื่องไข่มุกน้ำจืด หยก เพชร

ปัจจุบันจีนมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในจีนทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน ประมาณ 24,500 ราย มียอดขายรวมของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการขยายตัว 8-10% ต่อปี มียอดขายปลีกอัญมณีและเครื่องประดับร้อยละ 60-80 มาจากการจำหน่ายให้ผู้บริโภคภายในประเทศ ส่วนอีกร้อยละ 20-40 มาจากการจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

ทั้งนี้จากงานวิจัยของ CHINA GOLD NEWS และ BEIJING GOLD ECONOMIC CENTER พบว่าผู้บริโภคชาวจีนชอบเครื่องประดับที่มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของความเป็นตะวันออกเป็นหลัก โดยสร้อยคอ แหวน สร้อยข้อมือ คนจีนให้ความนิยมมานาน โดยจี้แพลทินัม จี้เพชร และจี้พลอยสีกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนราคาที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายอยู่ที่ระดับราคาต่ำกว่า 1,000 หยวน ซึ่งเครื่องประดับเพชรระดับราคาต่ำกว่า 5,000 หยวนได้รับความนิยมมากถึงร้อยละ 80 ในขณะที่ร้อยละ 80 ของผู้บริโภคที่ชอบ แพลทินัม พลอยสี และหยก ยินดีจ่ายที่ระดับราคาต่ำกว่า 3,000 หยวน

เตือนระวังถูกโกง!

ศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากข้อมูลที่ผู้ประกอบการต้องแม่นแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องอาศัยการโปรโมทสินค้าเข้าช่วย โดยใช้ THEME เป็นหลัก เช่น ออกแบบพลอยสีที่เกี่ยวกับความรักขาย ในวันวาเลนไทน์ ซึ่งจะมีเป้าหมายดีกว่าไปขายแบบทั่ว ๆ ไป

ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องระลึกอยู่เสมอว่าการเข้าไปค้าขายกับคนจีน ซึ่งเปรียบได้กับยักษ์ที่มีภูมิปัญญา และถืออาวุธ ผู้ประกอบการจึงต้องเข้าไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะเรื่องถูกโกง และต้องมีความรู้ในระดับลึกซึ้งคือในระดับมณฑลทั้งเรื่องรสนิยม กฎหมายส่วนกลาง กฎหมายส่วนท้องถิ่น ระบบการค้า มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมทั้งต้องสร้างพันธมิตรทางการค้าในบุคคลระดับต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้การเจรจาธุรกิจประสบความสำเร็จ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.