สินเชื่อ SME BANK ต่อยอดปั้นฝันผู้ประกอบการ


ผู้จัดการรายวัน(13 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ยังคงเดินหน้าสานนโยบายสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยในปี 2549 นี้ตั้งเป้าตัวเลขการปล่อยสินเชื่อกว่า 43,600 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท

โดยมุ่งการสนับสนุนสินเชื่อไปยังกลุ่มแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เพื่อผลักดันการคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงสร้างสรรค์ และทำให้เกิดการจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อจะสามารถแปลงเป็นสินทรัพย์ในการพัฒนาธุรกิจต่อไป รวมถึงสินเชื่อทั่วไปใน 10 คลัสเตอร์ เช่น ท่องเที่ยว บริการ และสินค้าโอทอป

นอกจากนี้ ในปี 2549 นี้เป็นปีที่เอสเอ็มอีแบงก์กำหนดให้เป็นปีแห่งคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยหลายส่วน เช่น ความร่วมมือกับธนาคารต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรเพื่อปล่อยสินเชื่อกรณีไม่เข้าเกณฑ์ของเอสเอ็มอีแบงก์ สนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ ลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อทางรอดของธุรกิจ

รวมทั้ง แจ้งเกิดสินค้าโอทอปด้วยการสนับสนุนการสร้างแบรนด์ในตลาด อบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการใหม่ และติดตามผู้ประกอบการรายเดิมที่ปล่อยกู้ไปแล้วกรณีที่ประสบปัญหาในการทำธุรกิจ พร้อมกับจัดหลักสูตรอบรมต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความรู้

ขณะเดียวกัน ยังเตรียมขยายสาขาเอสเอ็มอีแบงก์ไปยังพื้นที่ต่างๆอีก 19 สาขาเพื่อครอบคลุมการให้บริการและส่งรถโมบายยูนิตออกตระเวนตามพื้นที่เพื่อให้บริการและจัดอบรมอีกด้วย

จะเห็นได้ว่านโยบายดังกล่าวส่งผลดีต่อผู้ประกอบการใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่การสร้างธุรกิจและผู้ประกอบการรายเดิมหรือที่เป็นลูกค้าแบงก์อยู่แล้วที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อทางรอดธุรกิจในอนาคตและภาวะการณ์แข่งขันสูงในปัจจุบัน

เมื่อเร็วๆนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ได้จัดโครงการเยี่ยมชมลูกค้าในจังหวัดนครปฐม “สมพงษ์ สีมาปฐมพงษ์” เป็นหนึ่งตัวอย่างลูกค้าสินเชื่อประเภทแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน เจ้าของผลิตภัณฑ์ “ปาท่องโก๋แช่แข็ง” ที่ได้นำหลักทรัพย์ค้ำประกันคือ

1.หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการบริการ ลักษณะการถือสิทธิ์เป็นเจ้าของสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว

2.หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คุณสมบัติของสิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง ปาท่องโก๋

และ3.หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการบริการ คุณสมบัติของสิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง บริการอาหารและเครื่องดื่ม

สมพงษ์ บอกว่า ได้ยื่นกู้ในวงเงิน 215,000 บาท เพื่อเป็นทุนในการประกอบการ พัฒนาระบบการผลิตไม่ให้ปาท่องโก๋อมน้ำมัน ได้ไขมันต่ำ ทำให้สามารถพัฒนาการยืดอายุสินค้าในการจัดจำหน่ายเพื่อส่งออกต่างประเทศ

"เงินทุนที่ได้มานั้นนอกจากเพิ่มการผลิตสินค้าได้มากแล้ว ยังใช้สำหรับการคิดค้นสูตรใหม่ๆและพัฒนาคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับและวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง เช่น เดอะมอลล์ กว่า 7 สาขา และเตรียมขยายไปยังปั๊มน้ำมันต่างๆ"

ด้านผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์ภายใต้ชื่อ “กิ่งเมืองเบญจรงค์” ของ “เมืองแมน แตงทอง” ที่ได้รวมกลุ่มชาวบ้าน ต.แหลมบัว อ.นครชัยศรี ผลิตขึ้นและยื่นขอสินเชื่อกับเอสเอ็มอีแบงก์ประเภทสินเชื่อโอทอป ในวงเงินสินค้าระดับ 3 ดาว ได้เพดานเงินกู้จำนวน 200,000 บาท

เมืองแมน นำเงินไปใช้สำหรับซื้ออุปกรณ์เครื่องลอกลายเซรามิคมาประยุกต์ใช้กับงานเบญจรงค์ เพื่อรองรับความต้องการตลาดที่ชอบลวดลายใหม่และเพิ่มความรวดเร็วในการผลิตจากที่ผ่านมาต้องเขียนลายด้วยมือ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และใช้เป็นเงินทุนสำหรับอุปกรณ์และสีที่ปรับราคาสูงขึ้น

เช่นเดียวกับสินค้าโอทอปของกลุ่มชาวบ้าน ต.สระกระเทียม อ.เมือง ผลิตหมูแผ่น หมูฉีก ภายใต้แบรนด์ “หมูแผ่นผู้ใหญ่รีย์” โอทอประดับ 4 ดาวได้เพดานวงเงินกู้ 300,000 บาท “อารีย์ วงษ์ศรี” แกนนำชาวบ้านที่ได้รวมตัวผลิตสินค้าขึ้นจนได้รับการยอมรับในรสชาติจากการร่วมออกงานกับทางจังหวัด รวมทั้งผลิตขายในแบรนด์ของกลุ่ม กับการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่นๆ

โดยจะนำสินเชื่อที่ได้ไปซื้อเครื่องสไลด์หมู ซึ่งย่นระยะเวลาและได้ปริมาณการผลิตต่อวันเพิ่มขึ้น สร้างโรงตาก ซื้อตู้อบและเครื่องซิลสูญญากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดีขึ้น

สำหรับ “นฤทธิ์ ศิลากร” และ “เกศรินทร์ งามเจริญ” เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ “เกศรินทร์ฟมาร์ม” ยื่นขอวงเงินกู้ 4.5 ล้านบาท ประเภทสินเชื่อโครงการสินเชื่อพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีก โดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อเปลี่ยนระบบการเลี้ยงสู่มาตรฐานกรมปศุสัตว์หรือระบบ EVAP

“เป็นลูกค้าเก่าอยู่แล้วช่วงสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งตอนนั้นเราไม่มีปัญหาแต่ต้องการเงินมาปรับปรุงระบบปิดหรือ EVAP ก็ได้มา 3 ล้านบาท (ดอกเบี้ย 2% จ่าย 6 เดือนครั้ง) ตอนนี้ขอกู้อีก 4.5 ล้านเพื่อขยายโรงเลี้ยงเพิ่มและปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น และมาใช้หมุนเวียนธุรกิจเพราะธุรกิจเกษตรส่วนใหญ่ใช้เงินสดซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ ทุกวันนี้เป็นการแข่งขันการลดต้นทุนเพราะราคาสินค้าเกษตรมีการกำหนดราคาอยู่แล้ว” นฤทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม “เงิน” เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการต่อยอดธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น แต่จุดเริ่มต้นแนวคิดในการผลิตสินค้าออกวางจำหน่ายก็มีความสำคัญ เช่นเดียวกับความสำเร็จของลูกค้าเอสเอ็มอีแบงก์กลุ่มนี้ ที่ “สมพงษ์”เจ้าของปาท่องโก๋แช่แข็ง เกิดไอเดียจากการเห็นอาหารแช่แข็งแล้วนำมาพัฒนากับสินค้าตนเองจนทุกวันนี้ จนกระทั่งสามารถยืดระยะเวลาการเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน แล้วยังสร้างความแปลกใหม่ด้วยการใส่ไส้ เช่น ไส้ชาเขียว

หรือ “เมืองแมน” ผู้คิดสร้างความแตกต่างให้กับเครื่องเบญจรงค์ด้วยลวดลายแม่ไม้มวยไทยและเป็นที่นิยมทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่วน “นฤทธิ์” เล็งเห็นความสำคัญของระบบ EVAP แม้ต้องใช้เงินลงทุนระบบที่สูง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงต่อตัวสูงขึ้นถึง 30 บาท แต่ผลผลิตจากไก่ไข่ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.