เคทีซีระดมทุนต่างชาติ 5 พันล้าน


ผู้จัดการรายวัน(10 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เคทีซี ผู้นำธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคของไทย ลงนามในสัญญาจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่กับธนาคารต่างประเทศ ในรูปแบบของซินดิเคท ออฟชอร์ โลน มูลค่า 15,000 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 5,160 ล้านบาท ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6.3% ต่อปี เพื่อนำเงินมาไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด 8 เมษายนนี้ พร้อมรองรับความต่อเนื่องในการใช้เงินทุนของบริษัทฯ ปูทางเพื่อโอกาสธุรกิจในอนาคต และเมื่อสัญญาครบกำหนด จะจ่ายคืนเงินกู้เป็นสกุลเงินบาท ทำให้ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "เคทีซี" หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หุ้นกู้ของเคทีซี ครั้งที่ 1/2546 จำนวน 5,000 ล้านบาท จะครบกำหนด ไถ่ถอนในวันที่ 8 เมษายน 2549 บริษัท จึงพิจารณาระดมทุน เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้จำนวนดังกล่าว อีกทั้งเพื่อรองรับความต่อเนื่องของการใช้เงินทุนของบริษัทฯในหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้ตลาดการกู้ยืมในประเทศโดยรวมลดน้อยลง อีกทั้งสภาพของตลาดหุ้นกู้ในประเทศเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเติบโตของธุรกิจ

บริษัท จึงพิจารณาทางเลือกของการระดมทุนในรูปแบบอื่นควบคู่ไปด้วย และพบว่าการจัดหาแหล่งเงินทุนในลักษณะของซินดิเคท ออฟชอร์ โลน (Syndicated Offshore Loan) ซึ่งเป็นการระดมเงินทุนจากต่างประเทศ เป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะการทำซินดิเคท ออฟชอร์ โลน จะปรับลดสัดส่วนหุ้นกู้ในประเทศของเคทีซีลง ทำให้บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ในประเทศได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มความสามารถในการกู้ยืมของบริษัทฯ ได้อีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีกองทุนต่างๆ สนใจลงทุนในอัตราค่อนข้างสูง แต่ไม่สามารถลงทุนเพิ่มเติมได้อีกมากนัก

การทำสัญญาซินดิเคท ออฟชอร์ โลน ในครั้งนี้ มีมูลค่า 15,000 ล้านเยน หรือ 5,160 ล้านบาท ระยะเวลาในการชำระคืนเงินกู้ 3 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6.3% ต่อปี ซึ่งไม่แตกต่างจากการกู้ยืมภายในประเทศ แต่เคทีซีเล็งเห็นถึงโอกาสในการแสวงหาพันธมิตรใหม่ในต่างประเทศ และยังเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคตอีกด้วย โดยการกู้ยืมในครั้งนี้ทางบาร์เคลย์ส แคปปิตอล จากอังกฤษ ธนาคารมิซูโฮ คอร์ปอเรท ธนาคารโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ และธนาคาร โนรินชูคิน สาขาสิงคโปร์ ได้ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการปล่อยกู้ (Mandated Lead Arranger)

ร่วมกับอีก 6 สถาบันการเงินซึ่งจะเข้าร่วมระดมทุน (General Syndication) ได้แก่ ซูมิโตโม ทรัสต์แอนด์แบงค์กิ้ง สาขาสิงคโปร์ / อินเตอร์เนชั่นแนล คอมเมอร์เชียล แบงค์ออฟไชน่า สาขาการธนาคารต่างประเทศ / แบงค์ออฟไชน่า สาขากรุงเทพฯ และการธนาคารระหว่างประเทศ / แบงค์ออฟไต้หวัน สาขาสิงคโปร์ / ธนาคารชางหวา คอมเมอร์เชียล สาขาสิงคโปร์ และธนาคารอี-ซัน คอมเมอร์เชียล สาขาการธนาคารต่างประเทศ โดยที่ธนาคาร บาร์เคลย์ส จำกัด (มหาชน) สาขาฮ่องกง ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็น Facility Agent

การที่เคทีซีเลือกที่จะขยายการหาแหล่งเงินทุนไปยังต่างประเทศ เนื่องมาจากตลาดต่างประเทศยังมีสภาพคล่องสูง (favorable market condition) ทำให้บริษัทฯ สามารถกู้เงินได้ในจำนวนที่ต้องการ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีอิสระในการกำหนดรูปแบบการกู้ยืม (flexibility in structuring) เช่น สกุลเงิน หรือข้อกำหนดการกู้ยืม อีกทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ ทำให้ เคทีซีเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งการมีธนาคารที่น่าเชื่อถือ (Barclays Bank PLC, "AA" rating) ทำหน้าที่ underwrite เต็มจำนวน ทำให้การกู้ยืมของบริษัทฯ มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

"นอกจากนี้ เคทีซียังได้บริหารความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการทำสัญญาแลกเปลี่ยนสกุลเงิน (Cross Currency Swap) ทำให้เงินต้นและดอกเบี้ยจากการทำซินดิเคท ออฟชอร์ โลนครั้งนี้ อยู่ในรูปของเงินสกุลบาททั้งสิ้น จึงไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด" นายนิวัตต์ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.