แบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 %ดำเนินนโยบายเข้มสกัดเงินเฟ้อพื้นฐาน


ผู้จัดการรายวัน(10 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติ สกัดเงินเฟ้อ ปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 0.25 % หลังเงินเฟ้อพื้นฐานพุ่งต่อเนื่อง ดังอาร์พี 14 วันขึ้นเป็น 4.5 % ยอมรับปัจจัยการเมือง ฉุดการลงทุนภาคเอกชนลดลง 1-2 % เชื่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ที่ 4.75-5.75% ตามที่ประเมินไว้ ด้านแบงก์ไทยพาณิชย์-ออมสิน ปรับดอกเบี้ยกู้และฝากขึ้นตามคาด

นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ว่า กรรมการฯมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์พี 14 วัน) อีก 0.25% จากเดิมที่อยู่ในระดับ 4.25% จึงส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 4.5% โดยมีผลทันที

ทั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการฯประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแล้วเห็นว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ จะเริ่มเห็นการชะลอตัวลง แต่ยังมีแรงส่งให้ขยายตัวได้จากการส่งออกที่จะขยายตัวดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน แต่ในส่วนของแรงกดดันด้านราคาจากการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงยังคงติดลบอยู่ที่ระดับ 0.85%

ส่วนปัจจัยด้านลบที่ต้องระวัง คือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่จะมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทของไทย และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาจากความตื่นตระหนกจากปัญหาการเมืองด้วย สำหรับผลกระทบของการปรับขึ้นราคาน้ำตาลนั้น ธปท. มองว่ามีผลกระทบต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อไม่มากนัก โดยคาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเพียง 0.2 % เท่านั้น

ทั้งนี้ การใช้กำลังการผลิตการชะลอของโครงการเมกะโปรเจกต์ และปัจจัยทางจิตวิทยา ทำให้ ธปท.ประเมินว่า การลงทุนภาคเอกชนในปี 2549 นี้ มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 8-9% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน 1-2% และจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเชื่อว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ระหว่าง 4.75-5.75% ตามประมาณการเดิมที่ ธปท.ตั้งไว้ แต่จะมีความเป็นไปได้ในทาง 4.75% มากขึ้นกว่าเดิม

" คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งหน้าในอีก 6 สัปดาห์น่าจะพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยทางการเมืองได้ดีกว่านี้ แต่ยอมรับว่าปัจจัยทางการเมืองอาจจะทำให้การลงทุนล่าช้าออกไป แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการลงทุนเลย และจากประวัติศาสตร์ของไทยก็มีปัญหาด้านการเมืองมาเรื่อยๆ แต่ไม่เคยทำให้การลงทุนภาคเอกชนหายไปเพียงแต่ชะลอตัวลงเท่านั้น ซึ่งถ้าเหตุการณ์จบได้เร็วผลกระทบก็ไม่มากหรืออาจไม่มีก็ได้ " นางอัจนา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลงบ้างแล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีโอกาสที่จะเกินเป้าที่ ธปท.วางไว้ที่ระดับ 0 - 3.5 % เพราะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงในขณะนี้เริ่มติดลบน้อยลงแล้ว ทำให้คาดว่าน่าจะเป็นบวกได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แต่ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นคณะกรรมการฯ ยังมีเป้าหมายจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเป็นบวก และแรงกดดันของเงินเฟ้อจะหมดไป ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น ธปท.จะให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพภายในประเทศเป็นสำคัญ

ไทยพาณิชย์ปรับดอกเบี้ยตาม

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ปรับมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และเงินฝากประจำ 24 เดือน และ 36 เดือน เพิ่มขึ้น 0.25 % ต่อปี และพิเศษสำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับเพิ่มขึ้น 0.50 % ต่อปี ขณะเดียวกันได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ทุกประเภท 0.25 % ต่อปี ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป

จากการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.75-3.75 % ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.00-4.00 % ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.50-4.25 % ต่อปี เงินฝากประจำ 24 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.00-4.25 % ต่อปี และเงินฝากประจำ 36 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.25% ต่อปีตามลำดับ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารปรับเป็น MLR 7.00 % ต่อปี MOR 7.25 % ต่อปี และ MRR 7.50 % ต่อปี

แบงก์ออมสินขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก-กู้

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารมีมติให้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทขึ้นอีก 0.25 % ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารอยู่ระหว่าง 3.00-4.00 % ต่อปี สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำทั้งประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) และประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) คณะกรรมการฯ มีมติปรับขึ้นอีก 0.25 % เช่นกัน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อยู่ที่ 7.00 %

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR อยู่ที่ 7.25 % และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารออมสินรอบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และที่สำคัญคือเพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากกว่า 20 ล้านบัญชี และป้องกันไม่ให้เงินฝากเหล่านี้ไหลออกไปยังสถาบันการเงินอื่น ซึ่งได้มีการปรับขึ้นทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ไปแล้วก่อนหน้านี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.