ทีโอทีวืดโครงการคอลเซ็นเตอร์กฟภ. ประมูลแข่งขันไม่เป็นยื่นราคาเต็มงบ


ผู้จัดการรายวัน(9 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีโอทีอกหักโครงการคอลเซ็นเตอร์ กฟภ. หลังเสนอราคาแบบไม่ตั้งใจชนะเต็มงบประมาณ 111 ล้านบาท ในขณะที่วันทูวันของกลุ่มสามารถเสนอราคา 108 ล้านบาทเศษ รอบอร์ดกฟภ.ตัดสินปลายเดือนนี้ คนในทีโอทีสลดใจการบริหารงานและการทำธุรกิจแบบไม้ใกล้ฝั่ง ดีแต่จะแย่งงานประมูลซื้อของหวังผลประโยชน์ ในขณะที่งานประมูลแข่งเอกชนเพื่อสร้างรายได้ให้ทีโอทีกลับไม่สนใจ ปล่อยปละละเลย

แหล่งข่าวจากบริษัท ทีโอที กล่าวว่าเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการเปิดซองประกวดราคาโครงการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า (คอลเซ็นเตอร์) งบประมาณ 111 ล้านบาท ปรากฏว่าทีโอทีเสนอราคาเต็มงบประมาณคือ 111 ล้านบาท ในขณะที่คู่แข่งอีกรายคือบริษัท วันทูวัน ในกลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น เสนอราคาประมาณ 108 ล้านบาทเศษ ทำให้กลุ่มสามารถคอร์ปน่าจะเป็นผู้ชนะการประกวดราคาและได้งานนี้ไป โดยอยู่ในระหว่างขั้นตอนการเจรจาต่อรองราคาเพื่อนำเสนอบอร์ดกฟภ.ให้พิจารณาอนุมัติภายในปลายเดือนมี.ค.นี้

เป็นที่น่าสังเกตว่าการยื่นราคาของทีโอทีเต็มงบประมาณ ในขณะที่รู้ว่ามีคู่แข่งขันเป็นเอกชนซึ่งย่อมต้องเสนอราคาต่ำกว่างบประมาณอยู่แล้ว สะท้อนให้เห็นแนวทางทำธุรกิจและมุมมองที่มีกับการแข่งขันว่าอ่อนด้อยไร้ประสบการณ์ ถนัดแต่การทำงานในลักษณะกินหัวคิว หรือกินส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาร่วมการงาน มากกว่าการยื่นราคาแข่งขันกับเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาทีโอทีแพ้ประมูลงานในลักษณะเช่นนี้มาตลอด โดยเฉพาะงานที่น่าผิดหวังมากที่สุดคือการประมูลติดตั้งระบบสื่อสารภายในศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ซึ่งทีโอทีประมูลแพ้กลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่นที่ร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม โดยเฉพาะการติดตั้งอุปกรณ์ก็ประมาณ 600 ล้านบาทยังไม่รวมค่าจ้างบริหารรายเดือน

“รู้ทั้งรู้ว่าประมูลแข่งกับเอกชน ยังเสนอราคาเต็มงบประมาณ ไม่รู้ว่าบ้าหรือเมา ทำอย่างนี้ไม่ต้องไปฝันว่าจะทำธุรกิจแข่งกับเอกชนเลย หมดหวัง”


สำหรับงานประมูลคอลเซ็นเตอร์ของกฟภ.อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของนายองอาจ ผู้กฤตยาคามี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่

แหล่งข่าวกล่าวว่าการทำงานของผู้บริหารในช่วงไม้ใกล้ฝั่ง รอเกษียณ หากเป็นงานที่คนในวงการทีโอทีเรียกว่าไม่มีเจ้าภาพ มักเกิดเหตุการณ์เหมือนกรณีการประมูลคอลเซ็นเตอร์คือเสนอราคาให้จบๆกันไป ได้หรือไม่ ไม่มีความสำคัญกับส่วนตัว องค์กรจะเป็นอย่างไรในอนาคตก็เป็นเรื่องขององค์กร แต่หากเป็นกรณีการจัดซื้อเป็นลอตใหญ่จำนวนมากหรืองบประมาณเหลือค้างอยู่อย่างการซื้อสายเคเบิล โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งเป็นงานที่เรียกว่ามีเจ้าภาพ ก็จะเกิดการขอแบ่งการจัดซื้อมาบางส่วน จนถึงกับมีวิวาทะระหว่างรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้วยกันว่าจะขอแบ่งงาน หรือ แบ่งเงิน

สำหรับโครงการคอลเซ็นเตอร์ของกฟภ.นั้น สถานภาพของทีโอทีเดิมเรียกว่าอยู่ในหลุมถูกกลบฝังเรียบร้อย ถูกละเลยจากกฟภ.อย่างสิ้นเชิงแล้ว เพราะไม่เชื่อมั่นในศักยภาพการให้บริการ ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการเสนอราคามาตั้งแต่ต้น รวมทั้งผู้บริหารทีโอทีก็ไม่ได้ใส่ใจถึงความคืบหน้าของโครงการว่าจะมีการขายซองประกวดราคาเมื่อไหร่ ทั้งๆที่เป็นโครงการขนาดร้อยล้านบาท จนเป็นเรื่องขึ้นเมื่อรู้ตัวจะตกขบวนรถ จึงทำหนังสือร้องไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2549 อ้างมติครม.ที่มอบหมายให้ทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการให้บริการโครงการศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน(Government Contact Center หรือ GCC 1111) ซึ่งได้ให้บริการกับส่วนราชการ 20 กระทรวงและส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงอีก 9 ส่วนงานได้เสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่ 1 เม.ย.2547

แต่กฟภ.ได้ประกาศประกวดราคาโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2548 โดยมีเอกชนซื้อซองประกวดราคา 4 รายคือบริษัท วันทูวัน,บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น,บริษัท เออาร์ และบริษัทยิปอินซอย

แหล่งข่าวกล่าวว่าหลังจากเกิดเรื่องขึ้น กฟภ.จึงเสนอที่จะให้ทีโอทีเสนอราคาแข่งขันกับเอกชน เพราะเกรงจะขัดกับมติครม. ซึ่งเป็นเรื่องที่เอกชนที่เข้าร่วมประมูลก็มีความข้องใจเพียงแต่ไม่อยากค้าความกับหน่วยราชการโดยไม่จำเป็น และเชื่อว่าหากเสนอราคาแข่งกันแบบเท่าเทียม ทีโอทีไม่อยู่ในฐานะที่สู้กับเอกชนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุน ประสิทธิภาพในการบริหารงาน ทัศนคติในการทำธุรกิจที่มีการแข่งขันเต็มรูปแบบ

“เอกชนถึงกับสบประมาทว่า หากทีโอทีอยากได้ก็ให้เขาไป แต่จะทำได้หรือ มีประสิทธิภาพแค่ไหน ซึ่งสุดท้ายก็พิสูจน์ว่าทีโอทีหมดสิทธิ์”

แหล่งข่าวกล่าวว่าหากทีโอทีอยากได้โครงการนี้คงต้องชี้ให้บอร์ดกฟภ.ใช้เกณฑ์การตัดสินแบบ Price/Performance หรือ ทำให้เห็นความสำคัญของประสิทธิภาพของระบบเมื่อเทียบกับราคา หากระบบของทีโอทีมีประสิทธิภาพและมีแต้มต่อเหนือกว่าเอกชนจริง เพื่อที่บอร์ดกฟภ.จะไม่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุดมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว

“การประมูลคอลเซ็นเตอร์ถือเป็นกรณีศึกษาชั้นดี ที่ควรให้คนมีฝีมือที่ต้องอยู่กับทีโอทีอีกนาน มาบริหารงานหรือรับผิดชอบ เพราะทุกการตัดสินใจจะมีผลกับองค์กรที่ผู้บริหารเหล่านั้นยังมีอนาคตผูกพันอยู่”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.