|
ทุน ตปท.ไม่เอา"แม้ว" ลุยตลาดหุ้นจี้เลิกหนุนวันนี้
ผู้จัดการรายวัน(9 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นักลงทุนต่างชาติสะท้อนขอธรรมาภิบาล กติกาแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ต้องการผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ "ไกรศักดิ์" ร่อนหนังสือถึงประธานสภาและนายกฯแดนลอดช่องแสดงความกังวลดีลชิน-เทมาเส็ก "ชัยอนันต์" เผยปลัดกระทรวง-อธิบดีขอลงชื่อหนุนม. 7 ชี้แผนม็อบชนม็อบ"ทักษิณ"จบเห่ทันที พันธมิตรฯบุกตึกชินต้านเอไอเอส เดินหน้าลุยปิดล้อมตลาดหุ้นและสถานฑูตสิงคโปร์ทวงคำตอบวันนี้ ชาวเชียงใหม่ร่วมบอยคอตชวนงดเที่ยวไนท์ซาฟารี งดเว้นเสียภาษีจนกว่านายกฯจะลาออก
วานนี้ (8 มี.ค.) คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ที่มีนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา เป็นประธาน ได้เชิญผู้บริหารสภาหอการค้าจากต่างประเทศ ประจำประเทศไทย มาร่วมกันหารือถึงสถานการณ์การเมืองไทยที่อาจมีผลต่อธุรกิจและการลงทุน โดยมีสภาหอการค้าไทย-อังกฤษ, ไทย-อิสราเอล, ไทย-อินเดีย, ไทย-สวีเดน, ไทย-ศรีลังกา, ไทย-เกาหลีใต้ และไทย-เวียดนาม รวมทั้งนายเกียรติ สิทธิอมร และนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง
นายไกรศักดิ์ ได้เล่าสถานการณ์และปัญหาของประเทศไทยที่เกิดจากการบริหารงานของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจนทำให้ประชาชนทั่วประเทศออกมาต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะตัวผู้นำมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่น, จริยธรรมและธรรมาภิบาล, ละเมิดสิทธิมนุษยชน, ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้, การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับ 11 ประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร, การขายหุ้นชินคอร์ป รวมถึงการเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระด้วย
นายเกียรติ กล่าวในฐานะที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อนว่า การทำนายอนาคตที่จะเกิดขึ้นเป็นความจำเป็นในการทำธุรกิจ แต่ตอนนี้นักธุรกิจไม่สามารถทำนายได้ หลายฝ่ายเรียกร้องให้ทักษิณ ลาออกเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่เขากลับเลือกการยุบสภาจนฝ่ายค้านต้องคว่ำบาตรเลือกตั้ง
อดีตส.ส.บัญีรายชื่อ กล่าวต่อว่า ไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิดว่าประชาชนไทยต่อต้านการลงทุนของคนต่างชาติ จากการไปประท้วงที่สถานฑูตสิงค์โปร์ แต่คิดว่าการจะเข้าลงทุนในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องผ่านกระบวนการตามกฏหมาย และปัญหาที่ต้องแก้ไขคือเรื่องการถือหุ้นแทนกันหรือนอมินี
"การทำธุรกรรมจนได้เงิน 73,300 ล้านบาท มีหลักฐานชัดว่า มีการกระทำสวนทางกับกฎหมาย ขณะนี้กระทรวงพานิชย์ ประกาศดำเนินการกับเอเชียเอวิเอชั่นแล้ว อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีคำแถลงใดๆ จากเทมาเส็กหรือรัฐบาลสิงคโปร์เกี่ยวกับเรื่องการซื้อหุ้นชินฯ" นายเกียรติ กล่าว
สำหรับการพบปะครั้งนี้ ทางตัวแทนจากสภาหอการค้าจากต่างประเทศ ได้ถามถึงกระบวนการสร้างธรรมาภิบาล และบอกว่าไม่ต้องการรัฐบาลที่มีผู้นำมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งนายกษิต ภิรมย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำ ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ขอให้นักลงทุนใจเย็นเพราะประเทศไทยกำลังชำระล้างให้เกิดธรรมาภิบาลใหม่ ให้มีกติกาแข่งขันที่เป็นธรรม ที่ผ่านมาการทำข้อตกลงการค้าระหว่างรัฐ-รัฐ, การทำบาร์เตอร์เทรด การประมูลงานเมกะโปรเจค คนได้ประโยชน์ล้วนเป็นคนในครอบครัวรัฐบาล
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กรุงเทพฯ ยังตอบคำถามของตัวแทนสภาหอการค้าที่ว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและฝ่ายรัฐบาล จะหารือประนีประนอมกันว่า เกินจุดที่จะหันมาคุยกันแล้วเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ถูกตั้งคำถามถึงปัญหาจริยธรรมอย่างรุนแรง
นายไกรศักดิ์ แถลงข่าวหลังการประชุมว่า กรรมาธิการฯ ได้รับผลสะท้อนจากกลุ่มนักลงทุนว่า อยากได้ความมั่นคงทางการเมืองมากกว่าความขัดแย้ง ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้อธิบายถึงสาเหตุของความขัดแย้งว่ามาจากธุรกิจของครอบครัวผู้บริหารประเทศ และการไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ โลกกำลังเรียกร้องให้เอกชนมีจริยธรรม ไม่ใช่มองแค่ผลประโยชน์ของตนเอง
** "ไกรศักดิ์" ทำหนังสือถึงสิงคโปร์
นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภาสิงคโปร์และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการขายหุ้นชินฯกับเทมาเส็ก เพราะเป็นธุรกรรมที่มีมูลคาทางการเงินใหญ่มากเป็นประวัติศาสตร์ การประท้วงของประชาชนในไทย อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศที่มีต่อกันมานานโดยมี 3 ประเด็นที่อยากให้สิงคโปร์พิจารณา คือ
1.เป็นที่แน่ชัดว่าบริษัทชินฯได้รับสิทธิพิเศษมากมายอย่างไม่เป็นธรรมโดยนโยบายของรัฐบาลที่ลำเอียงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบริษัทชินฯโดยคนส่วนใหญ่มีข้อกังวลในปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งเป็นผลรายต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ปริมาณทุนของชินฯได้ขยายตัวในตลาดหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วถึง 4 เท่า อย่างน่าสงสัย
2.การซื้อหุ้นของเทมาเส็ก ที่ผนวกบริษัทลูกของชินฯแสดงให้เห็นความไม่ชอบมาพากลของฝั่งไทย ที่มีการละเมิดไม่ยอมแจ้งความเคลื่อนไหวของทุนของสมาชิกในครอบครัวชินวัตรมีการซุกหุ้นหลบเลี่ยงภาษี มีการใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะเป็นผลรายต่อระบบเศรษฐกิจ และสถาบันการเงินของสิงคโปร์เองด้วย
และ 3.ซึ่งสร้างความกังวลมากที่สุดคือ 3 ใน 4บริษัทลูกของชินฯ ไม่ทำตามกฎหมายโดยเฉพาะไทยแอร์เอเชีย ไอทีวี และชินแซทฯที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ ที่มีการใช้ตัวแทนหรือนอมินี เข้ามาดำเนินการแทนซึ่งถือว่าผิดกฎหมายการค้าของไทย
ในวันที่ 10 มี.ค. เวลา 13.30น.กรรมาธิการฯ เชิญทูตทุกประเทศที่ประจำประเทศไทยมาร่วมหารือสถานการณ์การเมืองของไทย ขณะนี้ทูตเกือบทุกประเทศตอบรับมาแล้ว
อนึ่ง นายเกียรติ ยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ขณะนี้แกนนำรัฐบาลยังส่งหนังสือไปให้ยังนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ไม่ต่ำกว่า 20-30 บริษัท ให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ ต่อไป
**ชัยอนันต์ เผยปลัด-อธิบดี ขอลงชื่อหนุน ม.7
จากกรณีที่มีราชนิกูล ได้ร่วมลงชื่อถวายฏีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงวินิจฉัยใช้อำนาจตามมาตรา 7 ที่ระบุว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ๆ ให้วินิฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ความคืบหน้าล่าสุด วานนี้ (8 มี.ค.) มีราชนิกูลและบุคคลชั้นนำจำนวนหนึ่งมาขอร่วมลงชื่อเพิ่มเติม อาทิ นายอนุชิต จุรีเกษ นางมนต์ทิพย์ บุนนาค นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ รศ.ดร.พะยอม วงศ์สารศรี นายชาติชาย มหาคีตะ นางสุนทรา เอี่ยมสุรีย์ นายเสรี วงศ์มนฑา นางศิริมา วรวรรณ
นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย พร้อมด้วยนายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกันแถลงข่าวที่วชิราวุธวิทยาลัย โดยนายชัยอนันต์ กล่าวว่า จะเปิดโอกาสให้บุคคลที่สนใจเข้ามาร่วมลงชื่ออีก 1-2 วัน จากนั้นจะนำรายชื่อกราบบังคมทูลผ่านสำนักราชเลขาธิการ เพื่อถวายฏีกาเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มีข้าราชการระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีหลายคนสนใจที่จะมาร่วมลงชื่อด้วย แต่ตนเห็นว่าอยากจะให้ไปรวมกลุ่มกันดำเนินการเองจะดีกว่า นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคนบ่นอึดอัด ซึ่งมีผลมาจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่มีใบสั่งให้ดำเนินการต่าง ๆ อยากมาร่วมลงชื่อ
ในระหว่างนายชัยอนันต์แถลงข่าวปรากฎว่ามีคนโทรศัพท์เข้ามาร่วมขอร่วมลงชื่อด้วย แต่นายชัยอนันต์ปฏิเสธ โดยจับใจความได้ว่าเป็นข้าราชการระดับสูง ที่ประสงค์จะร่วมลงชื่อและพร้อมที่จะลาออกหากมีเหตุการณ์รุนแรง
**เตรียมการแก้ไขหวั่นเผชิญหน้า
นายชัยอนันต์ กล่าวว่า การใช้มาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการใช้เพราะบ้านเมืองอยู่ในสภาพวุ่นวายเกิดสูญญากาศคือไม่มีสภา และนายกฯ หรือนายกฯและครม.ออกจากตำแหน่ง แต่ที่ประชุมรู้สึกเป็นห่วงเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มี.ค. มีอดีตรองนายกฯโทรศัพท์มาบอกว่า มีรัฐมนตรี 3 คนในรัฐบาลนี้ระดมคนจากภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง ให้มาเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นหากมีการประจันหน้าและรอให้มีการประจันหน้ากัน แล้วมายื่นถวายฏีกาภายหลังจะเป็นเรื่องที่ฉุกเฉิน ซึ่งเรามีประสบการณ์จากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มาแล้ว จึงต้องมาหาวิธีแก้ไขโดยใช้มาตรา 7 เพราะแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งงวันที่ 2 เม.ย. แต่เมื่อวาดภาพดูกรณี 3 พรรคการเมืองบอยคอตการเลือกตั้ง รัฐบาลคงพยายามหาคนมาเลือกตั้งให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มิสิทธิ์เลือกตั้งในแต่ละเขต เพราะไม่เช่นนั้นก็เปิดสภาไม่ได้
นายชัยอนันต์ กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะในระหว่างการเลือกตั้งอาจจะมีความไม่บริสุทธิ์ในบางแห่ง และคงเกิดการประท้วงเป็นหย่อม ๆ ดังนั้น จึงต้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญก่อน ให้มีกติกาที่เป็นกลาง เพื่อให้รัฐบาลและฝ่ายค้านแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม คงจะแก้ปัญหาได้ แต่เมื่อเกิดความวุ่นวายจึงอยากให้รัฐบาลรักษาการณ์เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ ในการบังคับใช้มาตรา 7 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยนำมาตรา 7 มาใช้ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น ที่มาของฝ่ายบริหาร รัฐสภา และองค์กรอิสระ โดยเฉพาะกกต.โดยการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำประชาพิจารณ์และสรุปส่งทูลเกล้าฯต่อไป
สำหรับประเด็นที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้ประชาชนเปิดไฟหน้ารถ นายชัยอนันต์ กล่าวว่า เขาเรียกร้องให้เปิดไฟตอนกลางวัน ตนก็อยากเรียกร้องให้เปิดไฟตอนกลางคืนถ้าใครเห็นด้วยกับมาตรา 7 การเสนอของโฆษกกรมตำรวจเป็นการเสนอแบบศรีธญชัย ตนคิดว่าที่ออกมาพูดอย่างนี้เพราะได้ข่าวเหมือนตนว่ามี 3 รัฐมนตรีไประดมคนมาสนับสนุนนายกฯจึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลมากกว่า เพียงแต่พูดไม่ชัดเท่านั้น พล.ต.ท.อชิรวิชย์ สุพรรณเภสัช คงคันปาก ปากอยู่ไม่สุข จึงได้เป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่คงอยู่ได้ไม่เกินเดือนก.ค. แต่รัฐบาลจะจบทันทีหากมีการระดมคนเข้ามากทม.
นายปราโมทย์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทูลเกล้าฯถวายฏีกาไปแล้วก็มีหลายคนที่มีใจตรงกันหลาย ๆ กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักในประเทศไทย มีความรักและเป็นห่วงอนาคตบ้านเมือง กลัวว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ กุลียุค และปะทะ และอยากจะมีส่วนร่วมในการลงชื่อเพิ่ม ซึ่งมีหลายกลุ่ม เป็นกลุ่มครูโรงเรียนต่าง ๆก็มี เช่น ร.ร.ราชินีบน ทหาร ราชนิกูล ถึงถือโอกาสมาพบกันที่นี้ รวมทั้งวุฒิสภาที่เป็นกลางแสดงความสนใจมาลงชื่อ
อย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องการรบกวนให้ละคายเคืองพระยุคลบาท เพียงแต่กราบบังคมให้ทราบเกล้าว่าเรามีความเดือดร้อนเกรงบ้านเมืองจะมีภัย จึงช่วยหาทางป้องกัน การใช้มาตรา 7 เป็นการทำลายรัฐธรรมนูญ และฉีกประชาธิปไตย แต่เราทำเพื่อแก้วิกฤตของประเทศชาติ และรักษาประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ และวิธีการที่เราทำเป็นวิธีการที่เรียกว่าราชประชาสมาศัย ซึ่งเป็นแนวปฎิบัติที่มีอยู่นานแล้วในสังคมไทย
รายงานข่าวแจ้งว่ามีข้าราชการระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีอีกจำนวน 11 คน มีความประสงค์ที่จะร่วมเซ็นชื่อครั้งนี้ด้วย ซึ่งหลัก ๆอยู่ในกระทรวงเกษตรฯคมนาคม ต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอิสระ แพทย์ประจำโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง รวมถึงมีนักศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นเดียวกับนายชัยอนันต์ รวมถึงนายทหารระดับพล.อ. อีกหลายนาย
** บุกชินฯ บอยคอตเอไอเอส
ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศใช้ยุทธวิธีดาวกระจายปิดล้อมแหล่งผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจตระกูลชินวัตรและบริวาร ตลอดวานนี้ (8 มี.ค.) เริ่มด้วยการชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตสิงคโปร์ ในเวลา 14.00 น.โดยกลุ่มองค์กรสลัมเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนางประทิน เดชะวากยานนท์ ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนคนไทยเชิญชวนให้เลิกใช้สินค้าของครอบครัวนายกฯ และพวกพ้องรวมทั้งจากสิงคโปร์ จากนั้น ได้รวบรวมซิมโทรศัพท์มือถือเอไอเอส ใส่กล่องกระดาษที่เขียนข้อความ "เลิกใช้ AIS" เพื่อนำไปรวมกันกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าตึกชินวัตร 3 ถ.วิภาวดีรังสิต ในเวลา 15.00 น.
นางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค แกนนำการชุมนุมที่หน้าตึกชินวัตร ได้แจกใบปลิวเชิญชวนประชาชนยุติการใช้สินค้าและบริการของบริษัทในเครือชินฯ ทั้งหมด และนำซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือในระบบของเอไอเอส จำนวนหนึ่งหักทิ้งลงกล่อง เพื่อเป็นการต่อต้าน กลุ่มพันธมิตรยังจะจัดทำคู่มือการเลือกซื้อสินค้าและบริการแจกจ่ายแก่ประชาชนทั้งในเขต กรุงเทพและในจังหวัดต่างๆ เพื่อเป็นการกดดัน ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกไปให้พ้นวงจรการบริหารประเทศโดยเร็ว
สำหรับเวทีพันธมิตรฯ ที่ท้องสนามหลวง เมื่อคืนที่ผ่านมา (8 มี.ค.) ซึ่งเป็นคืนวันที่ 4 ของการชุมนุมยืดเยื้อไล่ทักษิณ มีกิจกรรมบนเวทีเปิดมหาวิทยาลัยการเมืองภาคประชาชนต่อเป็นวันที่ 2 ด้วยการเสวนา "การซื้อขายหุ้นชินคอร์ป : รู้จักหุ้น รู้ว่าใครโกง" โดยมีผู้อภิปราย คือ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ มาให้ข้อมูลเรื่องกลโกง การเลี่ยงภาษี ในการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กลุ่มทุนเทมาเส็ก จากสิงคโปร์
**วันนี้บุกตลาดหุ้น-สถานฑูตสิงคโปร์
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (9 มี.ค.) เวลา 10.00 น. พันธมิตรฯ จะรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูป ร.6 สวนลุมพินี เพื่อเดินทางไปที่สถานทูตสิงคโปร์ ทวงถามคำตอบเรื่องที่ให้กองทุนเทมาเส็ก ยุติการซื้อหุ้นชินคอร์ปเพราะเป็นธุรกิจบริการพื้นฐานของประเทศที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ จากนั้นในช่วงบ่ายจะไปที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และวันพรุ่งนี้ (10 มี.ค.) จะไปที่บริษัทแอดว๊าน อินโฟร์ เซอร์วิส
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของสหภาพเรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) นั้น วันนี้ (9 มี.ค.) จะประชุมคณะกรรมการบริหาร และวันที่ 10 มี.ค. ประชุมประธานสหภาพเพื่อเตรียมการชุมนุมในวันที่ 14 มี.ค.ที่หน้าทำเนียบฯ นอกจากนี้ยังประสานกับสหภาพเอกชนที่จะเข้ามาร่วมด้วย ตลอดจนเครือข่ายของสหภาพจำนวน 400 องค์กร จาก 1,300 กว่าองค์กร เช่น จากจ.พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ภาคตะวันออก และภูเก็ต คาดว่าจะมาร่วมชุมนุมนับแสนคน
ด้านพล.ต.จำลอง ศรีเมือง กล่าวยืนยันว่าผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก และจะเดินขบวนไปยื่นหนังสือที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้การสนับสนุนรักษาการนายกรัฐมนตรี เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์, กรมสรรพากร, สหประชาชาติ เป็นต้น
** ชวนงดเที่ยวไนท์ซาฟารี-งดเสียภาษี
สำหรับความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด เครือข่ายพันธมิตรฯ ที่ภาคเหนือเดินหน้ารณรงค์บอยคอตทักษิณและบริวารด้วยการงดใช้สินค้าและบริการ อีกทั้งไม่เที่ยวไนท์ซาฟารี ไม่เสียภาษีทุกประเภทจนกว่านายกฯ จะลาออก โดยนัดประกาศบอยคอตใหญ่วันนี้ (10 มี.ค.) และเชิญชวนร่วมกิจกรรมติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามวอลเลย์บอล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เวลา 18.00 น. เป็นต้นไปทุกวัน ส่วนวันที่ 14 มี.ค. จะรวมตัวกันที่องค์การนักศึกษา มช. ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เพื่อติดตามการเคลื่อนขบวนของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ท้องสนามหลวง
เช่นเดียวกับที่ภาคใต้ แกนนำเครือข่ายพันธมิตรกู้ชาติกู้ประชาธิปไตย สงขลา เปิดเผยว่าจะจัดเวทีการเมืองภาคประชาชนบริเวณหน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ต่อเนื่องแบบคู่ขนานกับที่ท้องสนามหลวงไปทุกวันจนถึงวันที่ 14 มี.ค.นี้ และในวันที่ 13 มี.ค. ยังจะจัดเวทีคู่ขนานกับท้องสนามหลวง และจะรวมพลประชาชนชาวสงขลาออกจากทางจากอ.หาดใหญ่ไปศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อไปยื่นหนังสือเรียนร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งผ่านนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัด
** "ชิดชัย" เตรียมแผนรับมือ 14 มี.ค.
ด้าน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม กล่าวภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ได้เตรียมแผนรับมือกับการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ ในวันที่ 14 มี.ค. ทั้งด้านการจราจรและป้องกันปัญหาความวุ่นวายล่อแหลมที่อาจเกิดขึ้น
ในวันเดียวกันนี้ กลุ่มแกนนำในพรรคไทยรักไทยยังประชุมกันเพื่อประเมินสถานการณ์การเมือง โดยกังวลว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพพจน์ของประเทศ
ทางด้านพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ขณะนี้ว่า ต้องเจรจาพูดคุยกันเพื่อหาข้อยุติแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|