"ขาดเงินกู้ระยะยาว"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล กุสุมา พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

แทนไท เป็นพนักงานระดับบริหารของบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่ง ในวัย 30 ตอนปลาย รายได้ของเขาที่มีอัตราเพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้เขาต้องการซื้อบ้านใหม่แทนบ้านหลังเดิมที่เป็นแบบทาวน์เฮาส์เพียง 20 ตารางวาหลังเล็กๆ

เขาตัดสินใจซื้อบ้านหลังใหม่เนื้อที่ 60 ตารางวาราคาประมาณ 3 ล้านบาทเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ในย่านชานเมืองแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งสามารถเดินทางมาทำงานได้ด้วยการขึ้นทางด่วนแจ้งวัฒนะ บ้านใหม่หลังนี้สร้างเสร็จพร้อมโอนให้กับเขาได้ในเดือนตุลาคม 2540

แต่ชั่วระยะเวลาปีเดียว เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายกับชีวิตของแทนไท โดยที่เขาตั้งตัวรับแทบไม่ทัน หลังจากผ่อนดาวน์บ้านไปแล้ว 10 งวด เหลือระยะเวลาเพียง 2-3 เดือนจะถึงเวลาโอน ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างรุนแรงนั้นทำให้ผู้บริหารของบริษัทที่เขาทำงานอยู่ ลดเงินเดือนเขาถึง 25% ในชั่วระยะเวลาไล่เลี่ยกัน แป้งร่ำภรรยาของเขาซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์รายใหญ่แห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ถูกให้ออกจากงาน สาเหตุเพราะบริษัทเงินทุนแห่งนั้นถูกแบงก์ชาติสั่งปิด

โชคดีที่แทนไทได้น้องชายเข้ามาช่วยเป็นผู้กู้ร่วมในการซื้อบ้าน โชคดีโครงการบ้านจัดสรรที่แทนไทซื้อนั้นใช้เงินกู้ทำโครงการกับบริษัทเงินทุนแห่งหนึ่งที่ถูกสั่งปิด แต่เจ้าของโครงการสามารถหาเงินจากแหล่งอื่นมาก่อสร้างบ้านของเขาจนเสร็จ แต่พวกลูกค้ารายย่อยจะต้องหาเงินกู้ระยะยาวกันเอง ครั้งแรกทางโครงการแนะนำให้แทนไทกู้เงินจากธนาคารซิตี้แบงก์ เขายื่นหลักฐานการกู้ไปเพียงอาทิตย์เดียว ฝ่ายสินเชื่อของซิตี้แบงก์ก็ติดต่อกลับมา ขอดูผลประกอบการบริษัทที่แทนไททำงานอยู่ และแน่นอนแทนไทไม่ได้รับอนุมัติ เพราะผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่ในช่วงเวลานี้ติดลบกันอยู่ทั้งนั้น รวมทั้งบริษัทเขาด้วย

แทนไทติดต่อไปยังสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งตามคำแนะนำของเพื่อน คราวนี้เขารออยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ เจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาว่า รายการของแทนไทไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะเมื่อมีการเช็กย้อนหลังไปพบว่าเมื่อปี 2538 แทนไทใช้บัตรเครดิตใบหนึ่งเกินวงเงิน และจ่ายชำระช้าไป 2 เดือน ถึงแม้ปัจจุบันเขาไม่มีวงเงินค้าง แต่ถูกสรุปไปแล้วว่าประวัติทางการเงินของเขาไม่ดี

เขากลุ้มใจมาก ในขณะเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่ของหมู่บ้านก็โทรมาเร่งรัดเขาทุกวันให้โอนให้ได้

"จันทร์นี้นะคะ แน่นอนนะไม่อย่างนั้นแล้วบริษัทก็ช่วยไม่ได้" แทนไทมาเล่าให้เพื่อนฝูงฟังถึงคำขู่ของเจ้าหน้าที่หมู่บ้าน

ไม่เฉพาะแทนไท คนกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของบริษัทบ้านจัดสรรกำลังเจอปัญหานี้ โพสไฟแนนซ์คือเรื่องใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างจัง

"ตอนนี้ผมมีลูกค้าพร้อมโอนอยู่หลายสิบหลัง แต่ก็โอนไม่ได้ ก็ต้องแก่งแย่งไปขอเงินกู้ให้ลูกค้าตามแบงก์ต่าง ๆ ผมพูดได้เลยใน 15 แบงก์ตอนนี้ ปล่อยจริง ๆ ไม่เกิน 3 แบงก์ นอกนั้นปล่อยแต่ปาก หรือต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน แล้วสรุปว่าไม่ได้ อย่าไปยื่นให้เสียเวลา เสียกระดาษเลย" อธิป พีชานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บจม. ศุภาลัยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" และเล่าให้ฟังต่อว่า ทุกรายถูกเช็กโดยละเอียดขึ้นเช่นว่าทำงานอยู่ที่บริษัทใด บริษัทนั้นมีผลประกอบการเป็นอย่างไร และหลายรายได้รับอนุมัติในวงเงินที่น้อยลง ซึ่งในกรณีนี้ก็เท่ากับทำให้ลูกค้าโอนไม่ได้อยู่ดี เพราะต้องไปหาเงินก้อนส่วนที่เหลือเข้ามาก่อน

ซึ่งลูกค้าที่ว่านั้นอาจจะไม่รวมลูกค้ารายย่อยที่ทางสถาบันการเงินนั้นปล่อยกู้โครงการอยู่แล้ว ดังนั้นลูกค้าที่เจอปัญหาหนักในเรื่องนี้ก็คือลูกค้าในโครงการที่กู้เงินจากสถาบันการเงินทั้ง 58 แห่ง ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก

แต่ก็ไม่แน่นักลูกค้าโครงการคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งบนถนนเพชรบุรีเคยร้องเรียนมาที่ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า ซื้อคอนโดไปแล้ว พอถึงเวลาโอนกับแบงก์ที่สนับสนุนโครงการ หรือนัยหนึ่งคือแบงก์ผู้ถือหุ้นโครงการนั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับบอกว่าตอนไม่มีเงินให้ไปติดต่อกู้เงินที่อื่นก่อน

"สมัยก่อนโอนช้า โอนเร็ว ติดอยู่ที่หน่วยราชการ ขึ้นอยู่กับใครใต้โต๊ะเท่าไหร่ ส่วนเงินกู้นั้นแบงก์กลับแข่งกันให้ 3 วัน 7 วัน ได้ ตอนนี้ยื่นเรื่องแล้วผ่านใน 1 เดือนก็นับว่าเร็วมากแล้ว" แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดูราวกับว่าขณะนี้ความหวังของทุกคนกำลังพุ่งไปยังธนาคารคนยาก หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์แทน ซึ่งจากตัวเลขสถิติยืนยันชัดเจนว่าขณะนี้กลายเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกระดับ

ตัวเลขจากฝ่ายวิชาการธนาคารอาคารสงเคราะห์ระบุว่าในปี 2538 รายได้ครัวเรือนที่มีรายได้เกิน 600,000 บาท มากู้เพียง 0.10% แต่ในปี 2539 เพิ่มเป็น 10.93% และแน่นอนคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวแน่นอน

สำหรับตัวเลขการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปี 2540 นั้น ทาง ธอส.ตั้งเป้าไว้ที่ 92,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ปล่อยไปแล้วประมาณ 55,000 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ธอส. ยังเหลือเงินสำหรับปล่อยกู้ประมาณ 37,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้า ธอส. ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อถึง 108,000 ล้านบาท

เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แน่นอนว่าในขณะนี้คิวของ ธอส. ต้องยาวเหยียดแน่นอน ระยะเวลาขอกู้ของธนาคารจึงอาจจะยาวขึ้น และแน่นอนเพื่อป้องกันความเสี่ยงของตนเอง ธอส. จึงมีความจำเป็นต้องเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้นเช่นกัน

"จำนวนเงินของ ธอส. ไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ต้องการเงินกู้ที่ค้างอยู่แน่นอน เพราะผมเชื่อว่ามีบ้านที่ค้างโอนอยู่ มีเป็นแสนยูนิต" ไชยันต์ ชาครกุล นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรยืนยันกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกค้ากำลังคิดหนัก เพราะมันทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนเพิ่มขึ้นด้วย หรือระยะเวลาในการผ่อนนานขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ต่ำสุดอยู่ที่กู้ไม่เกิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 11% เกิน 1 ล้านขึ้นไปประมาณ 12.5% ในขณะที่เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ อยู่ที่ประมาณ 14.5-15.5%

ปัญหาเรื่องของเงินกู้ระยะยาวนี้นับเป็นปัญหาเฉพาะ หน้าที่สำคัญที่รัฐควรจะหามาตรการอย่างเร่งด่วน และควรจะมีมาตรการว่านอกจาก ธอส. แล้วยังมีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาปล่อยกู้ได้บ้าง

เพราะเมื่อประชาชนได้บ้านไปผู้ประกอบการเองก็ได้เงินจากสถาบันการเงินไปเร่งสานต่อโครงการที่คั่งค้าง เพื่อการโอนครั้งต่อไป ปัญหาก็จะบรรเทาลง เพราะยอดขายรอบใหม่ที่เหลือมันก็จะช้าลง หลายโครงการที่ผู้ประกอบการประสบปัญหาก็จะต้องชะลอโครงการออกไปก่อนอยู่แล้วเช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.