แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยอาร์พี"สกัดเงินเฟ้อ-แบงก์เด้งรับ"


ผู้จัดการรายวัน(8 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติ ดำเนินนโยบายเข้ม หวังสกัดเงินเฟ้อ ปรับดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 % หลังตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานพุ่ง ตามผลของต้นทุนและราคาสินค้าทยอยปรับขึ้น นายแบงก์เชื่อดอกเบี้ยไทยปีนี้ยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น ขณะที่ดอกเบี้ยต่างประเทศเริ่มทรงตัวและปรับลดลงภายในปีนี้ คาดเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีอยู่ที่ระดับ 0-3 %

นายบรรลือศักดิ์ ปุสสะรังษี รองผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันนี้(8 มีนาคม)เชื่อว่าคณะกรรมการจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน( อาร์พี 14) วันอีก 0.25 % และทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 5-5.5 % เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินเฟ้อทั่วไปจะทรงตัวหรือปรับลดลงจากเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ 5.9 % และในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับอัตรา 5.6 % แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นเริ่มมีผลต่อต้นทุนสินค้า รวมทั้งราคาสินค้าของไทยยังคงมีการควบคุมอยู่ ส่งผลให้ราคาสินค้าเริ่มขยับตัวขึ้น ดังนั้นจากแนวโน้มดังกล่าว เชื่อว่าราคาต้นทุนและราคาสินค้าจะยังคงมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้อีก ทำให้เป็นแรงกดดันกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นอย่างมาก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอีกต่อไป

โดยคาดว่าภายในปีนี้อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายธปท.ระดับ 0-3 % ปัจจัยหลักเกิดจากต้นทุนและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะทรงตัวหรือปรับลดลงช้ากว่าดอกเบี้ยในต่างประเทศ โดยอัตราดอกเบี้ยเฟด คาดว่าจะทรงตัวหรือปรับลดลงภายในปลายปีนี้ แต่ในส่วนของดอกเบี้ยไทยปีนี้ยังคงมีทิศทางของการปรับขึ้นอีกต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การประชุม กนง. ของ ธปท. ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ คงจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วัน อีก 0.25 % จาก 4.25 % เป็น 4.50 % โดยจะเป็นการสานต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยเข้มงวดมากขึ้นที่ ธปท. ได้ดำเนินการผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว รวม 2.25 % นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547

โดยเหตุผลสนับสนุนการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ประกอบด้วย แนวโน้มเศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ

ส่วนการประชุมรอบต่อไปนั้น ธปท. คงจะมีการทบทวนสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสมสอดคล้องกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจ ซึ่งหากสถานการณ์โดยรวมทางด้านเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากการคาดการณ์เดิม ธปท. ก็คงจะมีแนวโน้มเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกอย่างน้อยใน 1 หรือ 2 รอบการประชุมข้างหน้า เพื่อผลักดันระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้กลับมาอยู่ในแดนบวกตามที่ได้มุ่งหวังไว้ คือ อัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วัน น่าจะมีแนวโน้มขยับเข้าสู่ระดับ 4.75-5 % ภายในครึ่งแรกของปี 2549

แต่ทั้งนี้ ธปท. อาจมีความจำเป็นน้อยลง หากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลงมาต่ำกว่าระดับ 4 % ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับขั้นต่ำ 3-3.25 % อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 4 % ณ ปลายปี 2549

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทาง ธปท.ระบุว่าจะดำเนินนโยบายการเงินจนกว่าจะแซงอัตราเงินเฟ้อ และยังต้องการให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเป็นบวกจากปัจจุบันที่ติดลบอยู่ 1.17% ซึ่งล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. อยู่ที่ระดับ 4.25 % ซึ่งเป็นการปรับขึ้น 0.25 % เนื่องจากคณะกรรมการฯ ต้องการลดแรงกดดันที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคมจะอยู่ในระดับ 5.8 % ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายนเล็กน้อย แต่แนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้นยังคงมีอยู่ตามราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับสูงขึ้น

แบงก์กรุงเทพขยับดอกเบี้ยตาม

รายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 24 และ 36 เดือน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีผลตั้งแต่วานนี้ (7 มี.ค.) เป็นต้นไป โดยเงินฝากประจำ 12 24 และ 36 เดือน ปรับขึ้น 0.25 % อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้น 0.25 % ทุกประเภท ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) เท่ากับ 7 % อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) เท่ากับ 7.25 % และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าทั่วไป (เอ็มอาร์อาร์) เท่ากับ 7.50 %


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.