1 ตุลาคม 2540 ที่ผ่านมา อาจเป็นอีกวันหนึ่งที่ชาวโตโยต้ามีความสุข ปลาบปลื้ม
ชื่นชมไม่น้อย เพราะถือได้ว่าบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ก้าวแซงคู่แข่งในตลาดรถยนต์เมืองไทย
ไปอีกขั้นหนึ่ง ในด้านของภาพพจน์ เชิงคุณภาพสินค้าและงานบริการ
"มอบความพอใจสูงสุดให้ลูกค้า โดยการประกันการสร้างคุณภาพในทุกกระบวนการ
(MAXIMIZE CUSTOMER SATISFACTION BY ASSURING BUILT-IN QUALITY)" คือเป้าหมายสำคัญของโตโยต้า
มอเตอร์ ประเทศไทย ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้บรรลุแล้ว ถ้าเราจะนับเอาพิธีการมอบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน
ISO 9002 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 เป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญ
ภายหลังการมอบประกาศนียบัตร โดย กร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ที่ให้แก่ โยชิอะคิ มูรามัตซึ ประธานบริษัทโตโยต้าฯ ดูเหมือนว่า ชาวโตโยต้าจะคึกคักสดชื่นสวนกระแสของตลาดรถยนต์เมืองไทยในขณะนี้ขึ้นมาทันที
ทีมประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม ได้ทำการรายงานถึงรายละเอียดของวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเข้าสู่มาตรฐาน
ISO 9002 อย่างทันที ซึ่งดูเหมือนว่าช่วงสองสามเดือนมานี้ โตโยต้าฯ ได้เน้นการเผยแพร่ข่าวสารขององค์กรในเชิงภาพลักษณ์ค่อนข้างมาก
สำหรับมาตรฐาน ISO 9002 ที่ได้มาหมาด ๆ นั้น โตโยต้าฯ อ้างว่า เป็นบริษัทแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย
ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้
ทั้งนี้ โตโยต้าฯ ได้รับการรับรองกระบวนการทั้งที่สำนักงานใหญ่, โรงงานผลิตที่สำโรง
และฐานการผลิตแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ หรือที่ส่วนใหญ่เรียกกันว่า
โตโยต้าเกตเวย์
ระบบงานที่โตโยต้าฯ ได้รับมาตรฐานนั้น ได้ครอบคลุมไปทุกกระบวนการ นับตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อ
การวางแผนการผลิต การตรวจรับชิ้นส่วนวัตถุดิบการผลิต การปั๊มชิ้นส่วนตัวถัง
การเชื่อมตัวถัง พ่นสี ผลิตชิ้นส่วนพลาสติก การประกอบ การทดสอบและตรวจสอบขั้นสุดท้าย
ไม่เพียงเท่านี้ ยังรวมไปถึงการรับรู้ข้อมูลจากลูกค้าหลังการจำหน่ายด้วย
แม้ว่า ก่อนหน้านี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จะได้รับการประกาศจากโตโยต้า
มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น แห่งประเทศญี่ปุ่นว่า เป็นฐานการประกอบโตโยต้า โคโรลล่าและปิกอัพ
ไฮลักซ์ ได้ดีที่สุดในโลกแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะเป็นการยืนยันคุณภาพ
เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การค้าระดับโลก
"เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และการส่งออกอย่างต่อเนื่อง
โตโยต้า จึงมีนโยบายขอเข้ารับการรับรองการบริหารและการประกันคุณภาพ ISO 9002
เพื่อสองเป้าหมายหลักคือ ข้อแรก เพื่อปรับระบบการบริหารและการประกันคุณภาพ
ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ข้อที่สอง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
และสร้างภาพพจน์ที่ดียิ่งให้กับผลิตภัณฑ์ของโตโยต้า ซึ่งจะสนับสนุนให้เป้าหมายการขายในประเทศ
และการส่งออกประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น"
ระบบบริหารคุณภาพในลักษณะของการบริหารงานเพื่อรักษาคุณภาพให้สม่ำเสมอ เท่ากับเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของกระบวนการที่โตโยต้ามีอยู่แล้วให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก
ทั้งนี้กระบวนการผลิตแบบโตโยต้านั้นได้มุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
นอกจาก ISO 9002 แล้ว โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยังคงไม่หยุดอยู่แค่นี้
โดยขณะนี้ได้เน้นการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโรงงานควบคู่กันไปด้วย
เช่น โรงบำบัดน้ำเสีย ระบบกรองอากาศและไอเสีย ซึ่งใช้ในทุกขั้นตอนการผลิต
โดยเฉพาะการกำจัดกลิ่นและสีนั้นนับว่ามีประสิทธิภาพมาก ทั้งนี้ โตโยต้าฯ
ได้มองถึงเป้าหมายที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO
14001 ไว้แล้ว
ในช่วง 1 ปีมานี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ดำเนินการด้านต่างๆ ไปมากมาย
ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระะบบงานและการเกื้อหนุนที่มองไปยังอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นการวางแนวทางในการเข้ารับการรับรองมาตรฐาน ISO หรือแม้กระทั่งศูนย์ฝึกอบรมโตโยต้า
"การส่งออกเป็นนโยบายสำคัญที่จะต้องให้เกิดต่อไป แต่การส่งออกนั้นมีอุปสรรคมากมาย
ผมจะเข้ามาแก้ไขขจัดอุปสรรคเหล่านั้น ต้องปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อพัฒนาบุคลากร
เตรียมรับการผลักดันให้ไทยเป็นฐานผลิตในระดับโลก" มูรามัตซึ ได้กล่าวไว้เมื่อกลางปีที่แล้ว
(2539) เมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ และนับเป็นภารกิจหลักของเขาในเมืองไทยช่วง
3-4 ปีนับแต่นั้น
แม้ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จะได้เริ่มการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์สำเร็จรูปไปบ้างแล้ว
แต่นั่นยังเป็นแค่การชิมลางเท่านั้น และยังไม่ใช่นโยบายหลัก
ยุคของมูรามัตซึ จึงถือเป็นการเริ่มยุคแห่งการส่งออกอย่างแท้จริง หรืออย่างน้อยอุปสรรคต่างๆ
จะต้องหมดไป
"เราเป็นหนึ่งมาตลอด ยุทธศาสตร์ของเรามีแต่รุกเท่านั้น" คำกล่าวที่หนักแน่นของมูรามัตซึ
เมื่อครั้งนั้น
ดูเหมือนว่าโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้เตรียมการในสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย
เพื่อการส่งออกที่รอวันยิ่งใหญ่ในอนาคต และก็ดูเหมือนว่าสิ่งที่เตรียมการไว้มากมายนั้นสำเร็จลุล่วงไปมาก
อาจกล่าวได้ว่า วันนี้โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นองค์กรที่แข็งแกร่งมากในด้านคุณภาพการผลิต
ถึงขนาดที่โตโยต้า ญี่ปุ่นยกให้เป็นอันดับหนึ่งของฐานประกอบโคโรลล่า และไฮลักซ์
ในด้านมาตรฐาน ISO 9002 ก็ได้รับแล้ว พัฒนาการอื่น ๆ ก็ก้าวหน้าไปมาก
ภาพลักษณ์องค์กรในไทยก็สุดจะสวยหรู
ถ้าจะทำการส่งออก ก็คงพร้อมอย่างรอบด้าน
แล้วโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยังจะรออะไรอีก
หรือหวังจะใหญ่คับประเทศไทย เพียงเท่านั้น
ยุคส่งออกกับการสร้างภาพ กำลังจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันเสียแล้ว