เผย 3 กลุ่มธุรกิจเป้าควบรวมกิจการ ไพร้ซฯชี้แนวโน้มปีนี้โตต่อเนื่อง


ผู้จัดการรายวัน(8 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ ชี้ แนวโน้มควบรวมกิจการปีนี้ยังคงโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน สื่อสาร และธนาคารพาณิชย์ เผยปี 48 มีการควบรวมกิจการในไทยกว่า 300 ราย มูลค่ารวม 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ก.ล.ต.ชี้การควบรวมกิจการแบบไม่เป็นมิตร จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและสร้างมูลค่าให้กับบริษัท

นายณัฐวัฒน์ ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "Merger& Acquisition: ทำอย่างไรจึงจะโปร่งใส" ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย วานนี้ (7 มี.ค.) ว่า แนวโน้มการควบรวมกิจการในปีนี้ยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน เนื่องจาก การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทำให้บริษัทต้องมีการปรับปรุงการดำเนินงาน รวมทั้งการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ที่จะผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการควบรวมกิจการคือ การวางแผนการควบรวม (Integration Plan) ที่จะต้องดำเนินงานรวดเร็วเพื่อที่ไม่ได้เกิดข่าวรั่ว ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การควบรวมไม่สำเร็จ โดยกลุ่มธุรกิจที่จะมีการควบรวมมากขึ้น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพลังงาน เพราะจากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ทำให้ต้องมีการลงทุนที่จะหาแหล่งพลังงานใหม่ กลุ่มสื่อสาร จากที่ต้องการเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนทำให้ต้องมีการใช้เงินลงทุนจำนวนที่สูง และ กลุ่มธนาคาร ซึ่งมีแผนแม่บทในเรื่องนโยบายทางการเงิน และระบบบาเซิล 2 ที่จะมีการนำมาใช้

สำหรับในปี 2548 ประเทศไทยมีการควบรวมกิจการจำนวน 350 ราย มูลค่ารวม 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม จากปี 47 มีมูลค่า 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 50% หากพิจารณามูลค่าการควบรวมที่เกิดขึ้นในไทยเฉลี่ยแต่ละกรณีประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเปรียบกับต่างประเทศ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและองค์กร บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การควบรวมกิจการจะทำให้บริษัทมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เช่น การควบรวมกิจการของ NPC และ TOC ที่ควบรวมกิจการแล้วมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10%

"การควบรวมกิจการ ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ ปัจจัยด้านธุรกิจ บุคลากร และเงินทุน"

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม๊คเค็นซี จำกัด กล่าวว่า การควบรวมกิจการมีหลายรูปแบบ ซึ่งจะคำนึงถึงการเสียภาษีเป็นสำคัญ โดยผู้ขายต้องการที่จะเสียภาษีให้น้อยที่สุด หรือไม่เสียภาษีเลย หากไม่สามารถตกลงกันได้อาจจะทำให้ดีลล้มเหมือนในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งจะต้องคำนึงถึงด้านต้นในการควบรวมกิจการอีกด้วย

ด้านประเด็นของกฎหมาย บริษัทที่จะเข้าไปซื้อกิจการจะต้องระมัดระวังให้ดี คือ จะต้องมีการเข้าไปตรวจสอบสินทรัพย์ของบริษัทที่จะเข้าไปซื้อกิจการ หรือบริษัทที่จะนำมาควบรวม เพราะอาจจะเจอกับเงินการเงินที่มีปัญหาในภายหลังหากไม่มีการเข้าไปตรวจสอบก่อน

นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การเข้าครอบงำกิจการ (เทกโอเวอร์) ไม่จำเป็นต้องแจ้งสำนักงานก.ล.ต. โดยกฎหมายหลักทรัพย์กำหนดไว้เฉพาะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรายงานการได้มาซึ่งหุ้นทุก 5% เท่านั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแนวโน้มว่าคนที่ได้หุ้นมาทุกๆ 5% อาจจะกำลังเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการรายใหม่ ขณะที่เจ้าของกิจการที่มีหุ้นลดลงในทุกๆ 5% อาจจะมีการขายหุ้นออกมา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเทกโอเวอร์ จะเป็นลักษณะที่เข้าซื้อหุ้นครั้งเดียวถึง 30% เลย เช่น กรณีของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ การทำคำเสนอซื้อจากรายย่อยแต่ละประเทศกำหนดสัดส่วนไม่เหมือนกัน โดยในส่วนของประเทศไทยจะกำหนดในสัดส่วนที่ระดับ 25%ซึ่งในระดับตัวเลขดังกล่าว ถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะสามารถคัดค้านวาระที่สำคัญได้ เช่นวาระการเพิ่มทุนเป็นต้น

ส่วนกรณีของเทมาเสก โฮลดิ้ง เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัทในเครือหลายแห่ง ตามหลักเกณฑ์สามารถขอผ่อนผันไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นบริษัทในเครือทุกแห่ง ซึ่งถือเป็นเกณฑ์สากล และได้มีการพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ของบริษัทลูก เมื่อเทียบกับบริษัทแม่ รวมถึงในแง่ของรายได้ด้วย

"ช่วงที่ผ่านมา มีการเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร ทำให้หลายบริษัทมีความระมัดระวัง แต่การเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร อาจจะไม่เป็นมิตรต่อฝ่ายจัดการ แต่จะเป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้น เพราะจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัท และกระตุ้นให้ฝ่ายจัดการต้องพยายามบริหารงานให้ดี เพื่อสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน"

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่สอบถามไปยังบริษัทจดทะเบียน เมื่อมีข่าวลือออกมา แต่ไม่ได้สอบถามไปยังผู้ถือหุ้น หากบริษัทได้มีการตรวจสอบไปยังผู้ถือหุ้นด้วยก็จะเป็นเรื่องที่ดี

"ดีลการควบรวมกิจการถือเป็นความลับ แม้จะมีข่าวรั่วไหลออกมา ก็หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องหรือรู้ข้อมูลภายใน จะไม่นำไปหาผลประโยชน์ ดังนั้นจึงหวังว่าในช่วงดีลผู้ที่รู้ข้อมูลไม่ควรที่จะมีการซื้อขายหุ้น"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.