คนไทยกินน้ำตาลแพง17.50บ./กก.ครม.ไฟเขียวขึ้นราคาแก้ปัญหาทั้งระบบ


ผู้จัดการรายวัน(8 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐบาลถึงทางตันขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก 3 บาท/กก.สั่งพาณิชย์ตรึงราคาขายปลีก อ้างแก้ปัญหาอุตฯ อ้อยและน้ำตาลทรายและลักลอบขายประเทศเพื่อนบ้าน หวังชำระหนี้กองทุนอ้อยฯ ใน 7 ปี เปิดราคาขายปลีกพุ่งทันทีกิโลละ 17.50 บาทจาก 14.25 บาท "สมคิด"สั่งวางแผนดูแลราคาสินค้าล่วงหน้า หวั่นผู้ผลิตฉวยโอกาส เผยขึ้นราคาน้ำตาลกระทบเงินเฟ้อจิ๊บจ๊อยแค่ 0.02% ขณะที่ผลกระทบกับเครื่องดื่ม ชาเขียว-นม ชี้ ต้นทุนเพิ่ม 10 %

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (7 มี.ค.) มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงาน ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยน้ำตาลทรายขาวจากราคา 11 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 14 บาทต่อกิโลกรัม ,น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากราคา 12 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 15 บาทต่อกิโลกรัม และเห็นชอบให้เรียกเก็บเงินจากชาวไร่อ้อย ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)

ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ให้นำส่วนต่างบางส่วนไปชำระหนี้ตามแผนการชำระหนี้ ธ.ก.ส. ซึ่งขณะนี้มีหนี้อยู่ประมาณหมื่นล้านบาท ดังนั้นหากเป็นไปตามแผนจะสามารถชำระหนี้ภายใน 7 ปี ส่วนการขาดน้ำตาลทรายมี 2 ปัจจัย คือ 1. ต้นทุนการผลิตอ้อยสูงขึ้นถึง 70% จากปี 2546-2547 ทั้งค่าขนส่ง ค่าจ้างแรงงาน ค่าปุ๋ย และสารเคมี ซึ่งปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายลดลง เนื่องจากภาวะแห้งแล้ง จาก 11.13 ตันต่อไร่ ในปี 2545-2546 เหลือเพียง 7.29 ตันต่อไร่ ในปี 2548-2549 และ2. ราคาในประเทศและต่างประเทศแตกต่างกัน ซึ่งหากนำเข้ามาบริโภคจะมีต้นทุนถึง 23.50 บาทต่อกิโลกรัม

ขายปลีกพุ่ง 17.50 บาท/กก.

รายงานข่าวจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) แจ้งว่า ที่ประชุมได้ประชุมเพื่อกำหนดราคาขายปลีกน้ำตาลทรายแล้ว และจะเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกกร.ลงนามเพื่อออกประกาศในวันนี้(8 มี.ค.) และบังคับใช้ในวันเดียวกัน โดยราคาขายปลีกรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กิโลกรัมละ 17.50 บาท เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 3.25 บาท จากเดิมกิโลกรัมละ 14.25 บาท สำหรับราคาหน้าโรงงาน หลังจากครม.อนุมัติให้ปรับขึ้นอีกกิโลกรัมละ 3.25 บาทรวมแวต อยู่ที่กระสอบละ 802.50 บาท จากเดิม 642 บาท ราคาขายส่งกระสอบละ 837 บาท จากเดิมกระสอบละ 676 บาท

โดยในที่ประชุมกกร. นายสมคิด ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดูแลโครงสร้างราคาสินค้าอื่นๆ ที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น นมข้นหวาน น้ำอัดลม ขนม เครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา เป็นต้น โดยกำหนดแผนในการดูแลราคาสินค้าล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยอัตโนมัติ หลังจากราคาน้ำตาลทรายปรับขึ้นไปแล้ว เพราะบางสินค้าใช้น้ำตาลผลิตเพียง 5% หรือ 10% ก็อาจฉวยโอกาสปรับขึ้นมากกว่าผลกระทบที่ได้รับจริง

นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวยอมรับว่า จะมีผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตสินค้าหลายรายการ ซึ่งการขอขึ้นราคา ผู้ผลิตต้องยื่นแสดงต้นทุนการผลิตมาให้กรมการค้าภายในพิจารณา โดยหากต้นทุนเพิ่มขึ้นจริงก็จะอนุมัติ แต่หากกระทบไม่มากจะขอความร่วมมือในการตรึงราคาต่อไป ส่วนผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ จะมีเพียงแค่ 0.02% เท่านั้น

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากซื้อน้ำตาลทรายในราคา 14.25 บาทเพื่อกักตุน โดยที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีผู้ประกอบการ และประชาชนเป็นจำนวนมาก นำรถบรรทุก และรถปิกอัพมาซื้อน้ำทรายจนหมดภายในเวลา 12.00 น. ก่อนที่ครม.อนุมัติปรับขึ้นราคา

ผู้ผลิตชาเขียว-นมเผยกระทบแน่

นายชัชชวี วัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีเอซี เบฟเวอร์เรจ จำกัด ผู้จำหน่ายชานม ชาเขียวเชนย่า กล่าวให้ความเห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีแน่นอนเพราะว่า การผลิตชาเขียวมีต้นทุนมาจากน้ำตาลถึง 30% ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น 10% แต่ไม่สามารถขึ้นราคาขายได้เพราะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดชาเขียว

นายพรชัย สวัสดิ์สุขสบชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด กล่าวว่า น้ำตาลเป็นส่วนประกอบในการผลิตนมประมาณ 10% ดังนั้นการที่ราคาน้ำตาลทรายขึ้นราคาเป็น 3 บาทต่อกิโลกรัม ต้องส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่านมเป็นสินค้าที่รัฐบาลขอร้องไม่ให้ขึ้นราคามาตลอด ผู้ผลิตคงต้องแบกรับภาระที่หนักนี้

แฉใบสั่งทักษิณสกัดม็อบ

แหล่งข่าวจากวงการอ้อยและน้ำตาลกล่าวว่า การปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานครั้งนี้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นากยกรัฐมนตรีได้ตกลงกับชาวไร่อ้อยที่ขู่จะปิดโรงงานหรือก่อม็อบ จึงมีคำสั่งให้3 กระทรวง ที่เกี่ยวข้องดูแล และมีการประชุมเสนอให้ขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงานให้ครม.เห็นชอบเพียง 1 วันโดยการขึ้นราคาครั้งนี้ถือว่าชาวไร่และโรงงานได้รับผลประโยชน์ซึ่งพึ่งได้จากการที่ราคาตลาดโลกสูงแล้วส่งผลให้น้ำตาลไหลออกเพื่อนบ้านจนขาดแคลนและนำไปสู่การฉวยโอกาสขึ้นราคาขายปลีกเกินกว่าที่พาณิชย์ควบคุม ซึ่งส่วนต่างที่ขึ้นไปตกอยู่กับพ่อค้าคนกลางก่อนหน้านี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.