วีซ่าเผยยอดใช้จ่ายเพื่อการบริโภคไทยขึ้นอันดับ8ของเอเชียแปซิฟิก


ผู้จัดการรายวัน(7 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ยอดใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเชิงพาณิชย์ในเอเชีย แปซิฟิกทะลุ 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2548 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ โดยไทยมีปริมาณการใช้จ่ายสูงเป็นอันดับ 8 ในเอเชีย แปซิฟิก คิดเป็นมูลค่า 2.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

นายไมเคิล แคนนอน ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจบัตรเชิงพาณิชย์ วีซ่าเอเชีย แปซิฟิก เปิดเผยว่า วีซ่า เอเชีย แปซิฟิก ได้ประมาณพาณิชย์ (Commercial Consumption Expenditure - CCE) โดยคาดว่าธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐในเอเชีย แปซิฟิก จะใช้จ่ายกว่า 16.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2549 นี้

ดัชนี CCE นี้เป็นดัชนีที่เป็นกลางสำหรับธุรกิจชำระเงินรวมทั้งสถาบันการเงินสมาชิกของวีซ่ากว่า 21,000 แห่ง ในการรวบรวมและติดตามตัวเลขปริมาณการใช้จ่ายของภาครัฐและธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นมาตรวัดตัวแรกและตัวเดียวที่ครอบคลุมการใช้จ่ายของภาครัฐและการใช้จ่ายเชิงพาณิชย์ในการจัดซื้อสินค้าและบริการ โดยยกเว้นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าตอบแทนพนักงาน

โดยคาดว่าภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก จะมีปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเชิงพาณิชย์สูงเป็นอันดับ 3 จาก 6 ภูมิภาคทั่วโลก รองจากสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีตัวเลขอยู่ที่ 17.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และยุโรปที่ 22.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2549

"ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในเอเชีย แปซิฟิก ได้กลายเป็นภูมิภาคที่มีอัตราเติบโตของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเชิงพาณิชย์สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ภายในระยะเวลา 1 ปี จากเดิมที่สูงเป็นอันดับ 5 โดยหลักๆ เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีน เราคาดว่าอัตราการเติบโตนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเชิงพาณิชย์ของเอเชีย แปซิฟิกสูงเกือบเท่ายุโรป" นายไมเคิลกล่าว

สำหรับในเอเชีย แปซิฟิก ญี่ปุ่นยังคงมีการเติบโตของ CCE สูงเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง (5.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ตามด้วยจีน (3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) และอินเดีย (1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) โดยจีนมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงสุดที่ 16% และตามด้วยอินเดียซึ่งอยู่ที่ 13% สำหรับไทยมีปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเชิงพาณิชย์อยู่ที่ 264 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโตประมาณ 9% เมื่อเทียบปีต่อปี

วีซ่าได้พัฒนาและเปิดตัวดัชนี CCE ขึ้นในปี 2548 ที่ผ่านมา โดยเป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลการใช้จ่ายของภาครัฐและธุรกิจต่างๆ ในลักษณะเดียวกันกับดัชนี PCE (Personal Consumption Expenditure) ซึ่งเป็นการวัดปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของผู้บริโภค โดยดัชนี CCE จะใช้ข้อมูลหลัก 4 ส่วน ได้แก่ ปริมาณการจัดซื้อสินค้าและบริการระหว่างธุรกิจกับธุรกิจเพื่อการผลิต การจัดซื้อสินค้าทั้งจากร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายด้านทุนเพื่อธุรกิจบางส่วน และการใช้จ่ายของภาครัฐด้านสินค้าและบริการ โดยมีการปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทุน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้าง การคำนวณจะวัดรายการชำระเงินในราคาพื้นฐานซึ่งรวมภาษีการผลิต ประเภทรายการชำระเงินที่ใช้ใน CCE สามารถวัดได้จากผลิตภัณฑ์บัตรวีซ่าสำหรับองค์กรหลายประเภท เช่น วีซ่า คอร์ปอเรท วีซ่า คอมเมิร์ซ วีซ่า เพอร์เชสซิ่ง วีซ่า บิสซิเนส และวีซ่า ดิสทริบิวชั่น

ทั่วทั้งเอเชีย แปซิฟิกมีแนวโน้มในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ไทยเป็นประเทศล่าสุดที่มีการกำหนดให้ใช้บัตรชำระเงินในส่วนของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีประกาศในเดือนที่ผ่านมาให้หน่วยงานของรัฐทั่วประเทศใช้บัตรเครดิตเพื่อการบริหารค่าใช้จ่ายและพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารเงินสด ในออสเตรเลีย สำนักงานประจำภูมิภาคของโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่แห่งหนึ่งประมาณตัวเลขว่า บัตรวีซ่า เพอร์เชสซิ่งช่วยบริษัทลดจำนวนร้านค้าที่ขายสินค้าให้แก่บริษัทได้ 72%

ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการหมุนเวียนเงินสด 50% และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนด้านตลาดบัตรสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและบันเทิงขององค์กร ชุดผลิตภัณฑ์บริหารข้อมูลของวีซ่าได้ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากบัตรของบริษัทสำหรับพนักงานได้ทั่วทั้งภูมิภาค และจากการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจขนาดเล็กโดยดันแอนด์แบรดสตีท ฮ่องกง ซึ่งสนับสนุนโดยวีซ่านั้น พบว่า 78% ของผู้ตอบการสำรวจจะพิจารณาใช้บัตรวีซ่า บิสซิเนสสำหรับบริษัทของตนมากกว่าบัตรอื่นๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.