ใครจะคิดว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทุกหนทุกแห่งมีแต่คนตกงาน จะกลับมีคนที่กล้าตั้งบริษัทของตัวเอง
ด้วยทุนจดทะเบียน 6 ล้านบาท (ชำระเต็ม) เหมือนกับ อิทธิพันธ์ วัฒนลิขิต ที่แยกตัวออกมาจากบริษัทของครอบครัว
คือเวิล์ดเทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล และคันไซเวิล์ดแอนด์แทรเวิล
อิทธิพันธ์ วัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการบริษัท เคทีที อินเตอร์เนชั่นแนล
ฟู้ด โพรดักส์ จำกัด เพิ่งตั้งบริษัทของตนเองขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2540 ที่ผ่านมา
เพื่อนำเข้าลิขสิทธิ์การผลิตและจำหน่ายวอฟเฟิล ภายใต้ชื่อ "MANNEKEN"
หรือ แมนนีเคน จากประเทศเบลเยียม อันเป็นผลงานชิ้นแรก
อิทธิพันธ์เริ่มรู้จักกับวอฟเฟิลแมนนีเคน ที่ประเทศญี่ปุ่น จากการเดินทางตามบิดาไปประชุม
และติดต่อการค้าบ่อยครั้งกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้ชื่อว่ามีเชื้อสายซามูไรอยู่ครึ่งหนึ่งจากข้างแม่
ภาพการต่อคิวยาวเหยียดเป็นสาเหตุที่ทำให้อิทธิพันธ์สนใจและมีโอกาสทำให้เขาได้ชิมวอฟเฟิลแมนนีเคน
ในญี่ปุ่นและถูกใจ ถึงกับต้องสืบหาเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อติดต่อขอนำเข้ามาขายให้กลับกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ
ในเมืองไทยได้ลิ้มรสกันบ้าง
"เริ่มแรกหลังจากที่ชิมแล้ว แมนนีเคนเป็นวอฟเฟิลที่หอมมาก รสชาติอร่อย
ผมก็ติดต่อกับเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ญี่ปุ่น ให้ญาติๆ ที่ญี่ปุ่นช่วยติดต่อให้
ผลปรากฏว่าทางญี่ปุ่นเขาขายดีเกินไป มีกระจายอยู่ทั่วเกาะ เขาบอกว่าแค่นั้นเขาก็ยุ่งมาก
พูดสรุปได้ว่าไม่อยากขาย หรือถ้าขายก็จะส่งมาเป็นแพ็กให้เรามาขอ อ.ย. (องค์การอาหารและยา)
แล้วเอาไปขายเอง ก็เลยตกลงกันไม่ได้"
ความพยายามของอิทธิพันธ์ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น หลังจากติดต่อกับทางญี่ปุ่นไม่สำเร็จ
แล้วพบว่าวอฟเฟิลแมนนีเคน มีชื่อของประเทศเบลเยียมติดอยู่ คือ MANNEKEN THE
BELGIAN WAFFLE HOUSE ก็เลยลองติดต่อใหม่ โดยติดต่อผ่านไปทางทูตพาณิชย์ของประเทศเบลเยียมประจำประเทศไทย
ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี หาต้นสังกัดวอฟเฟิลที่เบลเยียมให้
จนได้เจรจาติดต่อกับทางเจ้าของลิขสิทธิ์คือบริษัท MARC ซึ่งเป็นผู้ผลิตวอฟเฟิลแมนนีเคนมากว่า
150 ปี จากวอฟเฟิลที่มีอยู่ในยุโรป กว่า 300-400 ชนิด และเป็นวอฟเฟิลยี่ห้อที่รู้จักกันดีในเบลเยียม
จนได้มาเป็นพาร์ตเนอร์กันในปัจจุบัน
"การดำเนินงานนับว่าเร็วมาก พอทูตพาณิชย์แนะนำพาร์ตเนอร์มา เราก็บินไปดู
คุยกันถูกคอ พอตั้งบริษัทปุ๊บเดือนสี่เดือนห้า เราก็บินไปยุโรป เดือนหกเดือนเจ็ดก็เริ่มเปิด
เร็วมาก" อิทธิพันธ์ กล่าว
วอฟเฟิลแม้จะมีอยู่มากกว่า 300-400 ชนิด แต่โดยทั่วไปอิทธิพันธ์ กล่าวว่า
คนไทยไม่ค่อยรู้จักวอฟเฟิลที่แท้จริงเป็นอย่างไร ทำให้เกิดความคิดที่จะให้คนไทยได้มีโอกาสกินวอฟเฟิลของแท้ดู
"คนไทยยังมีความสับสนเกี่ยวกับตัวขนมวอฟเฟิล และการกินวอฟเฟิลของคนไทยโดยทั่วไป
หนึ่งจะไม่ได้มาตรฐานเรื่องรสชาติ แต่ละที่รสชาติไม่เหมือนกัน สอง - ส่วนผสมไม่เหมือนวอฟเฟิลต้นตำรับ
คนไทยจะเข้าใจว่าวอฟเฟิลเป็นขนมแห้งๆ แล้วก็มีอะไรๆ มาโปะๆ ข้างหน้า หรือมาราดน้ำเชื่อม
แต่ที่บริษัทเคทีทีนำเข้ามา เรียกว่าวอฟเฟิลแท้ ส่วนผสมจะมีตัวน้ำตาลเกล็ดหิมะผสมอยู่
เป็นสิ่งที่แตกต่างจากส่วนผสมที่ที่อื่นไม่มี"
ส่วนผสมของน้ำตาลเกล็ดหิมะ จะทำให้แป้งขนมอ่อนนุ่มมีน้ำตาลกรุบๆ ปนอยู่
และน้ำตาลบางส่วนจะละลายกลายเป็นน้ำเชื่อมหวานๆ อร่อยลิ้นไปอีกแบบ
สำหรับน้ำตาลเกล็ดหิมะ มีผลิตเพียงที่ประเทศเบลเยียม โดยมีโรงงานอยู่เพียงแห่งเดียว
ดำเนินงานในรูปแบบของรัฐสาหกิจ โดยมีชาวญี่ปุ่นได้รับลิขสิทธิ์ในการผลิตสนับสนุนโดยรัฐบาลเบลเยียม
ในปีหนึ่งๆ ญี่ปุ่นซึ่งมีการจำหน่ายวอฟเฟิลแมนนีเคนอยู่ทั่วเกาะ จะนำเข้าน้ำตาลเกล็ดหิมะเดือนหนึ่งประมาณเกือบ
30 ตัน (1 ตัน = 1,000 กิโลกรัม)
เช่นเดียวกับส่วนผสมของวอฟเฟิลแมนนีเคน ที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทย จะต้องมีการนำเข้าส่วนผสมกว่า
50% คือ น้ำตาล วานิลาในรูปเกล็ดซึ่งในเมืองไทยจะเป็นวานิลาในรูปของเหลว
ส่วนแป้ง ยีสต์ และไข่ เป็นของในประเทศ
ขณะนี้แมนนีเคน ยังดำเนินงานโดยบริษัทเคทีที เปิดดำเนินงานแล้ว 2 สาขา
สาขาแรกที่สยามสแควร์ และสาขาสองที่เซ็นทรัลพระราม 3 โดยตั้งเป้าหมายสำหรับการเปิดสาขาในปีนี้จำนวน
8 สาขา โดยจะกระจายบริเวณมหาวิทยาลัยต่างๆ จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งใจกระจายตามศูนย์การค้า
เพราะต้องการเสริมรายได้ให้แก่นักศึกษาในการทำงานพาร์ทไทม์
จากนั้นในปี 2541 จะเริ่มขายแฟรนไชส์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำตัวเลขต้นทุนค่าแฟรนไชส์
ซึ่งจะต้องรวมต้นทุนนอกเหนือจากวัตถุดิบที่จะต้องส่งให้แฟรนไชซี ก็ยังมีเครื่องอบซึ่งตกเครื่องละประมาณ
5-6 หมื่นบาท เป็นเครื่องที่ผลิตด้วยมือและต้องนำเข้าจากเบลเยียม เป็นต้น
คาดว่าค่าแฟรนไชส์คงจะอยู่ที่เลขหกหลักต้นๆ
ปัจจุบันรายได้จากการขายวอฟเฟิลของแมนนีเคนที่สาขาสยามสแควร์มีรายได้ตกเดือนละ
4-5 แสนบาท จากราคาวอฟเฟิลชิ้นละ 20 บาท หรือตกวันละ 1 พันกว่าชิ้นหรือ 2
พันชิ้นในวันเสาร์ - อาทิตย์
นอกเหนือจากแฟรนไชส์แมนนีเคน ซึ่งจะเป็นกิจกรรมแรกของบริษัทเคทีทีแล้ว
เคทีทียังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ดำเนินงานตามมาเนื่องจากการติดต่อการค้ากับแมนนีเคน
คือ สิทธิ์การขายช็อกโกแลตยี่ห้อ แอนเทรีย ซึ่งจะเริ่มวางตลาดในเดือนตุลาคมนี้
และแฟรนไชส์ภัตตาคารเชรีอองจากฝรั่งเศส เป็นภัตตาคารระดับ 4 ดาว อยู่ระหว่างการติดต่อพื้นที่ที่ดิสคัฟเวอรี่
รวมทั้งแผนการซื้อลิขสิทธิ์การค้าอีกหลายตัวในปี 2541 ซึ่งต้องดูสภาพการตลาดของสินค้าแต่ละประเภทแล้วทำตลาดไปทีละอย่าง