|
มิตรผลแตกไลน์ธุรกิจพลังงาน
ผู้จัดการรายวัน(7 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
มิตรผล ชูโมเดลต้นแบบบราซิลยักษ์ใหญ่น้ำตาลของโลก ทุ่ม 1600 ล้านบาท แตกธุรกิจเอทานอลรับเทรนด์ความต้องการพลังงานทดแทนทั้งใน-ต่างประเทศ นำร่อง 2 โรงงาน กำลังผลิต 120 ล้านลิตรต่อปีป้อนประเทศ ลั่นอนาคตปรับเป้ารายได้น้ำตาลเหลือ 70% ส่วนกลุ่มพลังงานเพิ่ม 30% ระบุเห็นด้วยคณะกรรมการอ้อยยื่นปรับราคาน้ำตาลขึ้น 2-3 บาท ชี้ช่วยแก้ปัญหาน้ำตาลทะลักต่างประเทศ สิ้นปีตั้งเป้ารายได้ 12,000 ล้านบาท
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำตาลทรายตรามิตรผล เปิดเผยว่า บริษัทได้ทุ่มงบลงทุน 1500-1600 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจเอทานอลจากกากน้ำตาล นำส่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตแก๊สโซฮอลล์ เนื่องจากแนวโน้มตลาดเอทานอลจะเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศ ซึ่งพบว่าในปี 2550 ความต้องการของไทยจะเพิ่มเป็น 3 ล้านลิตร จากกรณีภาครัฐยกเลิกเบนซินออกเทน 95 และให้ใช้แก๊สโซฮอลล์แทน และปี 2555 เพิ่มเป็น 6 ล้านลิตร เพราะภาครัฐจะนำแก๊สโซฮอลล์ผสมกับเบนซินออกเทน 91
ขณะที่ความต้องการตลาดต่างประเทศ ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างสหรัฐอเมริกาในอีก 16 ปีข้างหน้าได้เตรียมใช้พลังงานทดแทนหรือแก๊สโซฮอลล์เช่นกัน จากปัจจุบันอเมริกามีอัตราการใช้น้ำมันสูง 24.45 ล้านบาเรล ทั้งนี้แผนการขยายธุรกิจสู่เอทานอลของกลุ่มมิตรผล เป็นโมเดลเดียวกับบราซิลซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำตาลสูงถึง 28.6 ล้านตัน และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อยด้วยการเริ่มผลิตเอทานอล กระทั่งปัจจุบันสามารถผลิตเอทานอลได้ถึง 50% โดยปัจจุบันบราซิลได้ผลิตรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอลล์ในสัดส่วนถึง 20%
สำหรับโรงงานผลิตเอทานอลของกลุ่มมิตรผลมี 2 แห่ง ได้แก่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งกำลังก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ โดยมีกำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวันหรือ 60 ล้านลิตรต่อปี ส่วนแห่งที่สอง จ.กาฬสินทร์ ซึ่งจะเริ่มสร้างใน 3-4 เดือน และคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ใน 15-18 เดือนข้างหน้านี้ โดยมีกำลังการผลิตเท่ากับโรงงานแห่งแรก ทั้งนี้กำลังการผลิตส่วนใหญ่ จะเน้นป้อนตลาดภายในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้บริษัทยังได้เตรียมเพิ่มผลผลิตประมาณ 20 ตันต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 8.2 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับกับการผลิตเอทานอลรวมทั้งธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า โดยคาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะคุ้มทุนภายใน 7 ปี
นายอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากบริษัทขยายธุรกิจสู่เอทานอลและธุรกิจไฟฟ้า ในปี 2550-2551 สัดส่วนรายได้ เอทานอล 11 % และไฟฟ้า 9% ส่วนน้ำตาล 80% ขณะที่ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจะมีอัตราการเติบโต 20% จากรายได้ในปี 2548 บริษัทมีรายได้ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ไฟฟ้า 10% และน้ำตาล 90% ส่วนปีนี้ตั้งเป้ามีรายได้รวม 12,000 ล้านบาท ลดลงเนื่องจากคาดว่ากำลังการผลิตโดยรวมทั้งของบริษัทและคู่แข่งจะลดลงเหลือเป็น 45 ล้านตันต่อปี จากในปีที่ผ่านมาผลิตได้ถึง 67 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตามในอนาคตบริษัทเพิ่มรายได้กลุ่มเอทานอลและไฟฟ้ามีสัดส่วนได้ 30% ขณะที่กลุ่มน้ำตาลเหลือ 70%
ด้านปัญหาราคาน้ำตาลในขณะนี้ ล่าสุดคณะกรรมการอ้อยฯได้เตรียมเข้ายื่นเรื่องเพื่อขอขึ้นราคาน้ำตาล 2-3 บาท ในวันที่ 7 มี.ค. นี้ กลุ่มมิตรผลเห็นด้วยกับการยื่นเรื่องดังกล่าว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือน้ำตาลขาดตลาด เนื่องจากราคาน้ำตาลของไทย 1 ก.ก. ราคา 14.50 บาท ถูกกว่าตลาดโลกซึ่งขายที่กว่า 20 บาท ทำให้น้ำตาลทะลักเข้าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ผู้บริโภคไม่ได้เดือดร้อนในเรื่องของราคา
อย่างไรก็ตามการขึ้นราคาน้ำตาล คงจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาโลก หากราคาลดลงน้ำตาลในประเทศก็ต้องลดราคาลง ซึ่งภาครัฐควรจะกำหนดอัตราขั้นต่ำคือ 15 บาท ขึ้นไปจนกระทั่งถึง 20 บาท เพื่อปกป้องทั้งผู้บริโภครวมทั้งผู้ผลิตไม่ให้แบกรับภาระจนเกินไป
นายอิสระ กล่าวว่า แผนการตลาดปีนี้บริษัทจะเน้นสร้างตลาดสินค้าในภูมิภาคเอเชียในเชิงรุกมากขึ้น ภายหลังจากที่บริษัทได้ปรับภาพลักษณ์และตราสินค้าใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา ในเบื้องต้นได้เตรียมขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย เพราะอัตราการบริโภคยังต่ำ 17 ก.ก.ต่อคนต่อปี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว 35-50 ก.ก.ต่อคนต่อปี
ปีนี้เตรียมขยายตลาดใน อินโดนีเซีย จีน และไต้หวัน ขณะเดียวกันบริษัทยังเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหาร รวมทั้งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อรับรองกับความต้องการของตลาดภายในประเทศที่มีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าอัตราการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศ 2 ล้านตัน เมื่อเทียบกับบราซิล 10.7 ล้านตัน จีน 12.5 ล้านตัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|