|

คอนโดฯป่วนเจอกฎเหล็กรัฐ
ผู้จัดการรายวัน(6 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ประกอบการคอนโดฯระส่ำ หลังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกกฎเหล็กให้อาคารพักอาศัยในพื้นที่เดียวกันตั้งแต่ 2 อาคารขึ้นไป หากมีพื้นที่รวมเกินกว่า 10,000 ตร.ม.ถูกเข้าข่ายเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ด้าน 3 สมาคมอสังหาฯ ยื่นหนังสือให้ยกเลิกชี้ขัดกฎหมายควบคุมอาคาร ด้านผู้ประกอบการชะลอแผนลงทุนรอความชัดเจน
นายอธิป พีชานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศกำหนดให้ อาคารพักอาศัยความสูงไม่เกิน 23 เมตร ตั้งแต่ 2 อาคารขึ้นไปตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หากมีเนื้อที่อาคารรวมกันเกิน 10,000 ตารางเมตร จะถือว่าเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษทัน โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว ทำให้อาคารที่เข้าข่ายจะต้องเพิ่มระยะถอยร่นโดยรอบอาคารจากเดิม 3 เมตร เป็น 6 เมตร และเพิ่มอุปกรณ์ดับเพลิง เช่น สปริงเกอร์ บันไดหนีไฟ เป็นต้น ตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดไว้ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มต้นทุนการก่อสร้างแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ประกอบการจะไม่สามารถพัฒนาโครงการคอน-โดฯความสูงระดับกลางหรือโลว์ไรส์ คอนโดมิเนียมสูงไม่เกิน 8 ชั้นได้
"ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียมจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาด รวมทั้งหอพักและอพาร์ตเมนต์ที่จะได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว ซึ่งหากต้องเพิ่มระยะถอยร่น จาก 3 เมตร เป็น 6 เมตร ทำให้เนื้อที่อาคารน้อยลง ราคาขายหรือราคาเช่าจะปรับสูงขึ้นทำให้คนระดับกลางไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ หรือผู้ประกอบการอาจจะตัดสินใจไม่พัฒนาโครงการระดับกลางเพราะไม่คุ้มกับการลงทุน" นายอธิป กล่าว
อนึ่งประกาศดังกล่าว เป็นประกาศแนวทางการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการที่พักอาศัยบริการชุมชนและสถานที่พักตากอากาศออกโดยสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลจากการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการที่พักอาศัยบริการชุมชน และสถานที่พักตากอากาศโดยได้มีมติให้โครงการอยู่อาศัยรวมที่มีจำนวนอาคารตั้งแต่ 2 อาคารขึ้นไปบนพื้นที่เดียวกัน และมีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปให้ถือเสมือนว่าเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ
ทั้งนี้โครงการต้องดำเนินการดังนี้ 1.กำหนดระยะถอยร่นจากแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 6 เมตร 2.กำหนดระบบป้องกันเพลิงไหม้และกฎเกณฑ์ความปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ประกาศดังกล่าวจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป
นายอธิป กล่าวอีกว่า ประกาศของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถือว่าขัดกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เพราะกฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้อาคารพักอาศัยมีระยะถอยร่นรอบอาคาร เพียง3 เมตรเท่านั้น ในขณะที่ประกาศของคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเองไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ได้ออกเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากเอกชนไม่ปฏิบัติตามก็ไม่สามารถไปขออนุญาตก่อสร้างได้
ประกาศฉบับดังกล่าว ส่งผลให้คอนโดมิเนียมหลายโครงการต้องชะลอการก่อสร้างไป เพราะเห็นว่าขัดกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งทาง 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรจะทำหนังสือโต้แย้งไปยังสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่ประกาศดังกล่าวขัดกับกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้พิจารณายกเลิกประกาศดังกล่าว
นายอธิปกล่าวว่า ประกาศฉบับดังกล่าวได้ส่งผลให้บริษัทต้องชะลอแผนการพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับกลางราคาตั้งแต่ 900,000 บาท ในแบรนด์ ซิตี้โฮม ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ โดยมีแผนจะเปิดในปีนี้ 2 โครงการ ออกไปก่อน เนื่องจากติดปัญหาจากประกาศฉบับดังกล่าว จึงต้องรอให้มีความชัดเจนหลังจากที่ตัวแทนจากสมาคมส่งหนังสือชี้แจงไปยังคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|