งบท่องเที่ยวปี50สะดุดหวั่นงบค้างจ่ายหลุด


ผู้จัดการรายวัน(6 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ยุบสภากระทบการจัดทำงบล่าช้า เหตุต้องดึงเรื่องกลับทั้งหมดแล้วรอรัฐบาลชุดใหม่ กระทรวงการท่องเที่ยวฯหวั่น โครงการพิเศษเร่งด่วน 2,500 ล้านบาท ที่ครม.อนุมัติใช้งบกลางปี 2548 อาจถูกยกเลิกได้ เพราะจนบัดนี้ยังไม่ได้เบิกจ่ายเลย ระบุ มีทั้งโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่นำเจ้าพระยา โครงการพัฒนาสวนป่าเขากระยาง สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากการประกาศยุบสภาทำให้ทางกระทรวงฯต้องนำเรื่องงบประมาณปี 2550 ที่ได้ยื่นเสนอต่อสำนักงบประมาณไปแล้วกลับคืนมาก่อน และรอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแล้วจึงยื่นเรื่องกลับเข้าไปใหม่ ซึ่งตรงนี้อาจทำให้การพิจารณางบประมาณประจำปี 2550 อาจต้องล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นไปตามกระบวนการและระเบียบปฎิบัติเมื่อมีการยุบสภาเกิดขึ้น ซึ่งในอดีตก็เคยเป็นเช่นนี้หลายครั้ง ส่วนการล่าช้า อาจใช้เวลา 1 หรือ 2 เดือน หรืออาจช้าเป็นปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการพิจารณาว่าจะล่าช้ามากน้อยแค่ไหน

ในส่วนที่วิตกกังวลคือ เรื่องงบประมาณที่รัฐบาลชุดเดิมได้อนุมัติไว้ แต่ยังไม่ได้เบิกจ่าย หากรัฐบาลชุดใหม่ไม่เห็นด้วยกับมติ ครม.เดิม ก็ให้ถือว่าโครงการนั้นๆตกไป ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งได้รับอนุมัติงบกลางประจำปีงบประมาณ 2548 ในวงเงิน 2,500 ล้านบาท แต่จนบัดนี้วงเงินดังกล่าวยังไม่ได้เบิกจ่ายเลย แบ่งเป็นส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 1,500 ล้านบาท สำหรับกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวเนื่องจากผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ส่วนอีก 1,000 ล้านบาท ให้กับสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) สำหรับปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

“ในส่วนของ ททท. ยังได้ทำเป็นงบผูกพันไว้บางส่วน ตรงนี้ทำให้เบิกจ่ายได้แม้เวลาล่าช้า แต่ในส่วนของ สพท. ไม่ได้ทำตรงนี้ไว้ และหลายโครงการอยู่ระหว่างการศึกษา เช่น โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือโครงการพัฒนาเขากระยาง จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เป็นโครงการสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ เป็นต้น ซึ่งหากรัฐบาลใหม่ยังไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วน ก็อาจทำให้เป็นมติที่ต้องตกไป หากหน่วยงานต้องการดำเนินการต่อก็ให้บรรจุไว้ในการของบประมาณประจำปี” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในปีงบประมาณ 2550 ทางกระทรวงฯได้ยื่นเสนอต่อสำนักงบประมาณไปจำนวนกว่า 27,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของท่องเที่ยวประมาณ14,000 ล้านบาท และอีกราว 13,000 ล้านบาท เป็นส่วนของการกีฬา ทั้งนี้วงเงินดังกล่าว เป็นจำนวนไม่แตกต่างจากการของบประมาณปี 2549 ซึ่งสำนักงบประมาณจะเป็นผู้พิจารณาก่อนปรับลดลงตามความเหมาะสมก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยแต่ละปีอาจถูกปรับลดลงจากวงเงินที่ยื่นขอไปราว 40-50%

ทั้งนี้ในส่วนของท่องเที่ยวจะมี 2 หน่วยงานหลักที่ต้องใช้งบประมาณมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ กล่าวคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งปีนี้ได้ยื่นของบประมาณมาในวงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท ส่วนสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) ยื่นของบประมาณมาที่ 3,300 ล้านบาท

ส่วนของสำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยื่นของบไว้ที่ กว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นงบบริหารและบางส่วนต้องไปแบ่งช่วยในสำนักงานการกีฬา นันทนาการ และท่องเที่ยว ซึ่งกระจายอยู่ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประกาศยุบสภา และรัฐบาลอยู่ในช่วงรักษาการ ดังนั้นจึงเป็นธรรมเนียมปฎิบัติ ที่ต้องดึงเรื่องกลับมาก่อนแล้วค่อยรอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา ทั้งนี้หากล่าช้า ไม่ทันเดือนตุลาคมซึ่งจะต้องเริ่มใช้งบประมาณใหม่ ตามกฎหมายด้านการจัดทำงบประมาณ ระบุไว้ว่า ให้ใช้งบประมาณในวงเงินเท่ากับงบประมาณในปีที่ผ่านมา แต่ใช้ได้เฉพาะงบรายจ่ายประจำ และงบผูกพันเร่งด่วนเท่านั้น ส่วนงบดำเนินโครงการ อื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสองกลุ่มดังกล่าว ก็ต้องรอไปก่อน

ทางด้านนางสาวเพ็ญสุดา ไพรอร่าม รองผู้ว่าการ ฝ่ายบริหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ยื่นของบประมาณปี 2550 ไปที่ 9,161 ล้านบาท โดย 70% เป็นงบสำหรับใช้ทำการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีก 25% ใช้สำหรับพัฒนาสินค้า และอีก 5% เป็นงบบริหารจัดการ ซึ่งการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภา ได้แจ้งปรับลดวงเงินงบประมาณ จากที่ยื่นขอไปดังกล่าวลงเหลือประมาณ 6,000 ล้านบาท

ดังนั้นเมื่อต้องดึงเรื่องกลับแล้วรอให้มีรัฐบาลใหม่จึงนำเสนอนั้น เบื้องต้น ททท.ก็จะยืนยันที่จะของบประมาณในวงเงินเดิมไปก่อน โดยค่าใช้จ่ายหลักๆที่ต้องใช้ในปีงบประมาณ 2550 ได้แก่ งบก่อสร้างศูนย์การประชุมนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเงินราว 1,100 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.