"กลุ่มองค์กรใหญ่ชูบทบาทบีโอไอสู่ประชาสัมพันธ์แห่งชาติ"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

คงไม่มีประวัติศาสตร์ครั้งไหนของไทยก่อนหน้านี้ ที่ชี้ให้เห็นถึงภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจได้มากเท่าในปีนี้ และคงไม่มีครั้งไหนที่สร้างภาวะของความกลมเกลียวในการมุ่งมั่นเข้าแก้ไขปัญหาของชาติของคนจากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยที่ไม่รอคอยการสั่งการจากทางรัฐบาลได้มากเท่านี้อีกเช่นกัน

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ถูกชูบทบาทหลัก เป็นแกนนำในการสร้างภาพบรรยากาศการลงทุนที่ดีของประเทศไทย เพื่อไม่ให้นักลงทุนต่างชาติตื่นตระหนกต่อปัญหาของชาติไทย ด้วยมาตรการสารพัดรูปแบบ อันเป็นตัวแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในขั้นย่ำแย่ จนหันเหทิศทางการลงทุนไปสู่ประเทศอื่น

แผนปฏิบัติการโครงการเผยแพร่ภาพลักษณ์เศรษฐกิจไทย ถูกดำริขึ้น โดยการระดมมันสมองในด้านการประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น โดยเลือกมืออาชีพมาดำเนินการ ไม่เหมือนเมื่อครั้งก่อนที่รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ยอมให้ผู้ใกล้ชิดบางคนออกไปประชาสัมพันธ์กับต่างประเทศ ดังที่ภูษณ ปรีย์มาโนช อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเคยทำมาแล้ว

เป้าหมายใหม่เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ ลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และข่าวที่มีผลกระทบในแง่ลบแก่ประเทศ ปลุกจิตสำนึกให้ชาวไทยเกิดความภาคภูมิใจในชาติ นำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีในระยะยาวเพื่อเพิ่มเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย และสร้างการยอมรับในคุณค่าและมาตรฐานสินค้าและบริการไทย

การดำเนินการครั้งนี้ได้รับการตอบสนองจากภาคธุรกิจอย่างมาก อันเป็นตัวแปรประการหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจทำงาน แม้ผลที่ออกมายังไม่สามารถเป็นรูปธรรมที่ทำให้เห็นว่าจะแก้ปัญหาได้โดยเร็ว

ไม่เคยมีครั้งใดที่บีโอไอดำเนินการอย่างชัดเจนในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อยักษ์ระดับสากล ด้วยการนำ Time Warner เจ้าของผู้ผลิตสื่อที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก อย่าง CNN หรือนิตยสารชั้นนำอย่าง Time, Fortune, Asiaweek, กับอีกกว่า 30 ฉบับที่มีจำหน่ายอยู่ในทุกภูมิภาค เข้ามาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย

เป็นการร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการดังกล่าว ปรับแผนเป็นระยะสั้น เริ่มปฏิบัติการทันทีในเดือนกันยายน 2540 - มกราคม 2541 เป็นระยะเวลา 5 เดือน

โครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการว่าจ้าง Time Warner ด้วยงบประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ไม่ได้มาจากแค่เงินงบประมาณแผ่นดิน แต่ยังมีกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนการสนับสนุนจากภาคเอกชนอื่น โดยมีชื่อของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ติดกลุ่มอยู่ในผู้ให้การสนับสนุนด้วย

ภาพยนตร์โฆษณาที่ออกเผยแพร่ในช่วงรายการข่าวของ CNN กับเนื้อที่โฆษณาเต็ม 2 หน้า ในนิตยสารเครือ Time Warner ซึ่งเป็นสารจากบีโอไอ ส่งถึงนักธุรกิจทั่วโลกชี้ให้เห็นสภาวการณ์ที่แท้จริงของประเทศไทยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเสือแห่งเอเชียตัวนี้ที่ลดแรงปราดเปรียวลง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากไอเอ็มเอฟ และคงฟื้นตัวขึ้น ด้วยการทำงานหนัก และประหยัด ซึ่งคงต้องใช้เวลานับจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

หรือแม้แต่ของแถมโฆษณาที่เป็นหน้าปกนิตยสารฟอร์จูนฉบับเดือนกันยายน ที่อุทิศให้กับประเทศไทย ด้วยบริบทที่ว่า "ประเทศไทยบนหนทางสู่การฟื้นฟู ยาขนานเอกเพื่อเศรษฐกิจที่กำลังเจ็บป่วย" พร้อมกับสารจากสถาพร กวิตานนท์ ที่มีถึงผู้อ่าน นิตยสารฟอร์จูน รวมถึงสาระสำคัญและการเสนอตัวเป็นศูนย์กลางตอบข้อซักถามด้านการลงทุนในประเทศไทย

นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ที่นำประเทศไทยทั้งประเทศออกโฆษณาเสริมสร้างภาพพจน์สู่สายตาชาวโลก

แม้สถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการ บีโอไอ ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารโครงการเผยแพร่ภาพลักษณ์เศรษฐกิจไทย จะไม่ได้มุ่งหวังการประชาสัมพันธ์ครั้งนี้มากนัก

เพียงแต่เป็นอีกหนทางหนึ่งในปฏิบัติการกู้ชาติ ที่ต้องถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ แผนที่ส่งผลเป็นรูปธรรมชัดเจนอีกขั้น ก็เมื่อครั้งการประชุม World Bank - IMF ที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมามีการเปิดแถลงข่าวเรื่องภาพลักษณ์เศรษฐกิจไทยก่อนการประชุมเหล่าผู้ว่าการธนาคารทั่วโลก 1 วัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ที่พิเศษสุดสำหรับการประชุมครั้งนี้

ผู้เข้าร่วมแถลงข่าวประกอบไปด้วย ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โอฬาร ไชยประวัติ ประธานสมาคมธนาคารไทย ชาติศิริ โสภณพานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ (มหาชน) จำกัด และสถาพร กวิตานนท์

เลขาบีโอไอสรุปประเด็นการแถลงข่าวของไทยในเวทีโลกครั้งนี้ว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าได้เพราะช่วยระดมเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทยได้มากขึ้น

แถลงการณ์ครั้งนี้ได้สร้างทัศนคติที่ดีต่อสื่อมวลชนต่างชาติ ที่ยอมรับข้อผิดพลาด พร้อมกับรับปากที่จะเร่งแก้ไขและฟื้นฟูตามกรอบของไอเอ็มเอฟ

และสิ่งที่สื่อมวลชนต่างชาติสนใจมากกว่าก็คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจของมาเลเซีย ที่อยู่ในช่วงขาลงเช่นเดียวกันกับไทยและในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเรื่องท่าทีของ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่มีต่อนายจอร์จ โซรอส นักค้าเงินของสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมประชุม World Bank - IMF ครั้งนี้

แม้ฝ่ายไทยจะไม่มีความคิดเห็นต่อท่าทีของฝ่ายมาเลเซียกับนักค้าเงินข้ามชาติ แต่กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นของทั้ง 2 ฝ่ายกลายเป็นเรื่องที่ทำให้สื่อมวลชนเปลี่ยนประเด็นด้านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยไปเป็นมาเลเซียแทน

ผลต่อภาพลักษณ์ของไทยจึงดูดีขึ้นมาก

นอกจากการเปิดแถลงข่าวที่ฮ่องกง ก็ยังมีการลงโฆษณาเผยแพร่ข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันในหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ที่ออกจำหน่ายในช่วงระหว่างการประชุม World Bank - IMF เป็นเวลา 2 วัน

การประชาสัมพันธ์เพื่อยอมรับบาดแผลทางเศรษฐกิจและอาการที่กำลังเจ็บหนักนี้ กลับกลายเป็นเรื่องที่ดี เพราะถึงอย่างไรยังมีความเชื่อมั่นจากต่างประเทศว่า วงจรเศรษฐกิจขาลงของไทย เป็นเรื่องที่สามารหาทางออกได้

บทบาทที่ปรับเปลี่ยนไปของบีโอไอ จึงกลายเป็นเรื่องที่ผ่อนคลายสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสให้เบาบางลงได้บ้าง นอกเหนือจากการรอคอยให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามเนื้อหาที่ได้ประชาสัมพันธ์สู่สายตาชาวโลกแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.