การตัดสินใจของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับโครงการระบบขนส่งมวลชน
และทางยกระดับโฮปเวลล์ หากดูแล้วว่าจะเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดหรือไม่นั้น
ต้องดูด้วยว่าระยะเวลาของโครงการมาอยู่ในช่วงที่ต้องเร่งตัดสินใจแล้วมากกว่า
หลังจากปล่อยทิ้งร้างมานาน เพราะมีความแน่นอนแล้วว่า ปี 2541 อย่างไรเสียโครงการโฮปเวลล์ก็คงเสร็จไม่ทันแน่นอน
หากไม่ล้มสัญญาตั้งกติกาใหม่ เสาตอม่อที่ขึ้นตามแนวรางรถไฟก็ยังเป็นเสาตอม่อแบบนั้นต่อไป
โดยไม่มีใครมารับผิดชอบได้ และตัวโฮปเวลล์เองก็คงรับภาระของตนเองไม่ไหวเช่นกัน
นอกเหนือจากกอร์ดอน วู ซึ่งกลายเป็นมังกรที่เจ็บหนักและบอบช้ำจากการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย
บุคคลที่ถูกระบุว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบกับปัญหานี้คือ อนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์
ผู้เป็นกาวใจสร้างสายสานสัมพันธ์ให้กับ กอร์ดอน วู และมนตรี พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจอมโปรเจกต์
เมื่อครั้งที่นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จากฮ่องกงรายนี้ตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเมื่อประมาณ
8 ปีก่อน
ครั้งนั้นเป็นการย้ายฐานการลงทุนก่อนที่ฮ่องกงจะถูกคืนให้กับจีนใหญ่
อนุศักดิ์ ผู้รับงานเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกระบุว่าเป็น ล็อบบี้ยิสต์ ของโครงการโฮปเวลล์
และอยู่เบื้องหลังโดยไม่ยอมออกหน้า ปล่อยให้กฤษณนันท์ พลาฤทธิ์ ซึ่งทำงานร่วมกัน
ที่บริษัท ซีทีไอออกหน้าแทน
เพราะอย่างไรอนุศักดิ์ ก็ยังถือว่าตนเองเป็นเพียงผู้ประสานงาน หาใช่ผู้ลงทุนตัวจริงไม่
ไม่ว่าโครงการโฮปเวลล์ จะเดินหน้า ถอยหลัง มีปัญหาหนักในเรื่องแบบก่อสร้าง
การประสานงานกับหน่วยงานรัฐ ตั้งแต่การรถไฟแห่งประเทศไทย เจ้าของสัมปทานเรื่อยไปจนถึงหน่วยงานทั้งไฟฟ้า
ประปา ถนนหลวง กทม. การดำเนินงานร่วมกันที่ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น เป็นเพราะฝ่ายฮ่องกงต้องลงมือเจรจาต่อรองด้วยตนเองหลายครั้ง
ผู้ที่เกี่ยวข้องบางคนบอกว่าเป็นเพราะทางฝ่ายฮ่องกงเองก็ยังไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่คนไทยที่ทำงานให้
หรืออีกนัยหนึ่งยังไม่มีใครที่วางใจได้ ซึ่งบทบาทของผู้ประสานงานจากที่อนุศักดิ์
เปิดทางไว้ให้ในตอนแรกนั้นก็คงทำได้แค่ในระดับบนเท่านั้น
การมาของโฮปเวลล์เมื่อ 8 ปีก่อน เป็นการสร้างความหวังให้กับบริษัทเอกชนหลายราย
มีการติดต่อตัวแทนที่จะเข้ามาเป็นซัปพลายเออร์โครงการในด้านระบบขนส่ง มีบริษัทเอกชนหลายรายที่สนใจเข้ามาร่วม
เพราะโครงการระดับถึง 80,000 ล้านบาทนั้นหาไม่ได้มากนักในกรุงเทพมหานครที่กำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น
ผู้ประกอบการร่วมที่สามารถเข้ามาร่วมอยู่ในโครงการโฮปเวลล์มีได้มากมายหลายระดับ
นับตั้งแต่ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นด้านอาคารสำนักงาน
คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล การหาประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในเขตกรุงเทพฯ
จนถึงผู้ผลิตจำหน่ายล้อเลื่อน ผู้จัดทำระบบรถไฟฟ้า ระบบรางรถไฟ ผู้จำหน่ายหัวรถจักร
รถขบวน
แต่โครงการเหล่านี้ต้องพับปิดโครงการเป็นทิวแถว เอกชนเหล่านี้ ล้วนรอผลบุญที่ได้รับส่งต่อมาจากโฮปเวลล์หากโครงการสามารถทำสำเร็จ
บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมา ประสบภาวะย่ำแย่เช่นเดียวกับโฮปเวลล์จริงหรือ?
ปัญหาโครงการโฮปเวลล์ถูกจับตามองมาโดยตลอดเกี่ยวกับความคืบหน้า ซึ่งสิ่งที่ถูกนำเสนอมาตลอดระยะเวลา
7 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายฮ่องกงคงไม่ประสบผลสำเร็จในประเทศไทยอย่างแน่นอน
เพียงแต่รอระยะเวลาสุกงอมที่ฝ่ายรัฐบาลไทยสามารถดำเนินการเชือดได้เท่านั้น
เนื่องจากสัญญาที่เซ็นไว้ยังคงสร้างความได้เปรียบให้กับโฮปเวลล์อยู่
เหล่าธุรกิจใหม่ที่ริเริ่มขึ้นมาช่วงหลังก่อตั้งโฮปเวลล์ย่อมต้องรู้สถานการณ์ดี
หากไม่มีการประกอบการใดก็พร้อมที่ปิดบริษัทคืนทุนจดทะเบียนได้ไม่ยาก และหากมีการสานต่อโครงการก็สามารถก่อสร้างขึ้นมารับงานใหม่ได้
เพียงแต่ขอความแน่นอนจากผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น
เมื่อโฮปเวลล์ถูกลดบทบาทเพราะต้องทำสัญญาใหม่กับฝ่ายรัฐบาลไทย ก็ต้องมีการเตรียมตัวของบริษัทเอกชนอีกหลายรายขึ้นมารับงานโครงการอีกครั้ง
และทุกคนก็รอเวลาว่าจะมีใครที่อาจหาญมารับบทบาทแทน โฮปเวลล์และกอร์ดอน
วู ได้ โดยเฉพาะการจับเอาโครงการมาปรับเปลี่ยนเสียใหม่ให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนคนไทย
เหมือนเมื่อครั้งบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวล็อปเมนต์ จำกัด เคยเสนอตัวมาแล้ว
เพียงแต่กอร์ดอน วูไม่ยอม
เงื่อนไขใหม่ของรัฐบาลไทยที่มีอยู่ด้วยกันใน 5 รูปแบบ คือ 1. หาเอกชนรายใหม่มาร่วมกับภาครัฐดำเนินการ
2. หาเอกชนรายใหม่มาเจรจาร่วมทุนกับโฮปเวลล์ 3. เปิดโอกาสให้เอกชนรายใหม่เข้ามารับสัมปทานแทน
4. ให้การรถไฟฯ ดำเนินการเอง และ 5. ให้โฮปเวลล์หาผู้ร่วมทุนรายใหม่เอง
อย่างน้อยก็มี 2 แนวทางที่ยังคงให้โฮปเวลล์สามารถดำเนินการได้ต่อเพียงแต่ลดบทบาทลง
หากโฮปเวลล์ไม่เจ็บหนักเกินไป แล้วถอนตัวบทบาทของผู้ประสานงานฝ่ายไทยอย่างอนุศักดิ์
ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ปรับกลยุทธ์บางอย่างหากต้องการทำธุรกิจต่อไปกับโฮปเวลล์
แต่หากเอกชนรายใหม่เข้ามา อนุศักดิ์ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้
เพราะรู้ช่องทางในโครงการว่าอย่างไรเสียโครงการก็ยังมีความใหญ่อยู่พอที่จะหาทางเข้าร่วมลงทุนได้
แม้จะมีเอกชนรายอื่นเข้ามาแทน
และถึงอย่างไรตอนนี้ โฮปเวลล์ก็ยังไม่ดับไปในทันที อันจะเป็นบทพิสูจน์ผู้ประสานงานฝ่ายไทยอย่างอนุศักดิ์ว่าจะสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ได้อีกหรือไม่
หากกอร์ดอน วู สามารถคงโฮปเวลล์ในประเทศไทยได้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจากความสามารถในการประสานงานของอนุศักดิ์
แต่หากไม่มีอะไรดีขึ้น และกอร์ดอน วูต้องเจ็บหนักกลับไป อนุศักดิ์ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร
เพราะเขายังมีธุรกิจในมือที่ต้องดูแลอยู่อีกมาก
แม้จะได้ชื่อว่าไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นล็อบบี้ยิสต์โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ก็ตาม
ครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ฝีมืออนุศักดิ์ว่าการเป็นล็อบบี้ยิสต์ก็ยังดีกว่าเป็นนักลงทุนเพราะความเจ็บตัวย่อมมีระดับที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด