|

'พีเพิลมีเดีย' ชี้ทางรอด SMEs ปี 49 องค์ความรู้-นวัตกรรม สู่ความสำเร็จ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเพิลมีเดีย จำกัด ในฐานะธุรกิจสื่อครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น นิตยสารชี้ช่องรวย รายการทีวีมุมใหม่ไทยแลนด์ มีมุมมองต่อการเข้ามาทำธุรกิจของนักลงทุนเอสเอ็มอีว่า ปัจจุบันการเข้าสู่ธุรกิจของเอสเอ็มอีเพิ่มเป็นจำนวนมาก ด้วยปัจจัยใจการสนับสนุนของภาครัฐทั้งข้อมูลความรู้ การสนับสนุนสินเชื่อ และความต้องการสินค้าในตลาดที่มีความหลากหลายมากขึ้น
และด้วยปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นสู่การเข้าสู่ธุรกิจง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ข้อมูลจากนักลงทุนระดับเอสเอ็มอีทั่วโลกกว่า 90% ล้มเหลว หรือมีเพียง 10% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ สำหรับภาพที่เกิดขึ้นในไทยก็เช่นกัน จากการอยู่ในวงการมานานกว่า 4 ปี พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรอบครอบและความชาญในการทำธุรกิจ
ทั้งนี้ สมใจ มีข้อแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรถามตนเองก่อนว่ามีความรู้ในธุรกิจที่จะลงทุนหรือไม่ มีเงินทุนเท่าไหร่ การบริหารจัดการและความรู้ด้านการตลาดเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับคู่แข่งขัน สภาวะแวดล้อมอีกด้วย
" ต้นทุนการดำเนินการธุรกิจสำคัญมากเพราะบางคนไม่ได้คิดคำนวณ ไม่รู้จักต้นทุน ไม่รู้จักธุรกิจ ไม่รู้จักแคสโฟร์ ไม่รู้ว่าต้นทุนที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน แล้วตัดสินใจเข้ามา เจอปัญหาการบริหารเงิน บริหารบุคคล ถ้าเราไม่มีความพร้อม เราต้องศึกษาให้ดีก่อน ดูจากคนอื่น อ่านหนังสือ ดูทีวีหรือสื่อทุกรูปแบบ วิเคราะห์ให้ดีก่อนเข้ามา จะได้รู้สภาวะตลาดโดยภาพรวม ดูว่ายังขาดอะไรหาความรู้ให้ดีก่อนหรือเข้ารับการอบรม "
สมใจ กล่าวต่อไปอีกว่า และเมื่อตัดสินใจในการทำธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการต้องมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนั้นเพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นและควรดูแลด้วยตนเอง ขณะเดียวกันควรศึกษาช่องทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า เพราะอย่าลืมว่าเอสเอ็มอีขนาดเล็กจะมีเงื่อนไขงบประมาณ ฉะนั้นควรเลือกสื่อที่เหมาะสม พันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อตรงกลุ่มเป้าหมายด้วยงบประมาณที่จำกัด
"จะต้องรู้การทำประชาสัมพันธ์ โฆษณา ด้วยตัวเอง สร้างจุดที่แตกต่างน่าสนใจในตัวโปรดักส์ จะสามารถบริหารความคิดตัวเอง ออกมาในสื่อต่างๆ ได้ สามารถให้สัมภาษณ์ได้ พูดบนเวทีต่างๆ จะเป็นเวทีประชาสัมพันธ์ที่ถูกที่สุด ใช้เงินน้อยที่สุด ต่อไปจะเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่เอสเอ็มอีต้องเรียนรู้"
หรือการเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ถ้าคำตอบของผู้ประกอบการคือไม่ต้องการเรียนรู้ใหม่ซึ่งต้องเลือกแฟรนไชส์ที่มีระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่ดี มีการสนับสนุนการตลาดที่ดี ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องมีความชำนาญในธุรกิจ
"ถ้าทำธุรกิจเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่นเลย เรามีความชำนาญไหม จะหาคนที่ไหน โฆษณาอย่างไร มันคือการเรียนรู้ใหม่หมดเลย อีกแบบหนึ่งคือแฟรนไชส์ที่มาพร้อมกับเงินทุนสามารถกู้แบงก์ได้ สามารถตัดสินใจทำธุรกิจได้เร็วความเสี่ยงน้อยลง แต่ต้องเลือกแฟรนไชส์และ เลือกโลเคชั่นให้ถูก เพราะแฟรนไชส์ที่สำเร็จในตลาดมีประมาณ 100 ร้อยจากทั้งหมดที่มีประมาณ 300ราย"
สมใจ กล่าวถึงเทรนด์ธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้ ว่าต้องเน้นนวัตกรรมและการดีไซน์ หรือจากเดิมที่เป็นเพียงผู้ผลิต ต้องหาช่องทางในการสร้างแบรนด์ของตนเองไปพร้อมๆ กันทั้งนี้การสร้างแบรน์เป็นการพัฒนาศักยภาพของสินค้าทำให้มีมูลค่าเพิ่ม
และปัจจุบันธุรกิจมีการแข่งขันสูง การสร้างสินค้าและบริหารใหม่ๆขึ้นมารองรับความต้องการของตลาดจะเป็นทางรอดให้กับเอสเอ็มอีไทย ขณะเดียวกันการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเอสเอ็มอีเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทั้งการซื้อวัตถุดิบ การตั้งราคาขาย ขณะเดียวกันกระแสการลงทุนจากต่างชาติ ผู้ประกอบการไทยต้องสร้างจุดแข่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในตลาด
"สินค้า ที่นำเสนอในตลาด เป็นไอเดีย นวัตรกรรมใหม่ ๆ หรือเตาแก๊สเจ้าพายุทูอินวัน ต้นไม้ในขวดโดยไม่เปิดฝา ถ้าแปลกๆ ใหม่ๆ ก็ดังเร็ว แต่ถ้าซ้ำกันคนอื่นๆ ก็ต้องมาจ้างโฆษณา เพื่อโปรโมทตัวเอง แต่ถ้าแปลกกว่าชาวบ้าน คุณก็เกิดได้ด้วยตัวของคุณเอง
ฉะนั้นคนที่ตัดสินใจทำธุรกิจต้องพยายามถามตัวเองให้ได้ว่าเราอยู่ตรงไหนของตลาด ถ้าเราอยู่ตรงที่มีความแปลกแตกต่าง ก็ดังเร็วแต่ก็ต้องอธิบายมากเพราะคนไม่คุ้น แต่ถ้าทำของที่มีอยู่มากอาจไม่แตกต่างก็เกาะไปกับกระแสก็ขายได้ กรณีแฟรนไชส์อาหารรสชาติดีโลเคชั่นได้ อย่างไรก็ขายได้ไม่ต้องลงทุนเรื่องความแตกต่างอะไรมากมาย"
และในฐานะที่พีเพิลมีเดีย เป็นสื่อที่มุ่งเน้นนำเสนอข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สมใจ กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอีทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนเนื้อหาหรือคอนเท้นต์ให้สอดรับกับสถานการณ์ทั้งรายการทีวี นิตยาสารและสื่ออื่นๆในเครือบริษัท โดยมุ่งเน้นข้อมูลข่าวสารนวัตกรรมใหม่ๆ แฟรนไชส์ที่มีแนวโน้มดี หรือการนำเสนอให้เห็นถึงการแข่งขันของธุรกิจกับตลาดโลก การส่งออก โดยสื่อในเครือจะเชื่อมต่อกับตลาดโลก
"การที่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยน เช่น FTA ถ้าเอสเอ็มอีไม่ปรับตัวก็ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ทุกคนต้องฟิตตัวเองให้แข็งแรงอยู่ได้ให้เร็วที่สุด เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ธุรกิจที่อยากขยายไปอยู่ต่างประเทศ หรือธุรกิจต่างประเทศที่ขยายเข้ามาไทยจำนวนมาก ถ้าเราไม่พัฒนาศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่องก็จะสู้ไม่ได้ในที่สุดเราจะล้มหลายตายจากไป"
ขณะเดียวกันในปี 2548 นี้ยังคงดำเนินงานในส่วนของ Business Matching จับคู่ธุรกิจในแบบ B2B ที่นำผู้ประกอบการผู้ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจมาพบกันและเจรจาธุรกิจกันโดยตรง โดยในปีนี้จะเพิ่มความเข้มข้นในการเจาะลึกกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ
สมใจ กล่าวในตอนท้ายถึงความสำคัญของความรู้ในธุรกิจทั้งด้านการบริหารจัดการ บัญชี ข้อกฏหมาย ฯลฯ เป็นส่วนสำคัญที่จะลดอัตราเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ
"เอสเอ็มอีไทยต้องพัฒนาต่อเนื่อง เป็น smart sme เป็นเอสเอ็มอีฉลาดบริหารจัดการที่มีระบบมีประสิทธิภาพ มีตลาด พัฒนาสินค้าบริการ ถึงสามารถอยู่รอดได้ ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากนะที่จะประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทุ่มเทดังคำกล่าวของ 'บุญเกียรติ โชควัฒนา' ประธานเครือไอซีซี ที่ผู้ประกอบการควรนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจว่า บริหารงานอย่างมีเป้าหมาย ต้องมีความมุ่งมั่นอย่างไม่มีเงื่อนไข แล้วจะประสบความสำเร็จได้"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|