|
นักลงทุนผวา"การเมืองยืดเยื้อ" เก็บตัวนิ่ง-เมกะโปรเจกต์สะดุด
ผู้จัดการรายวัน(6 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่างให้การเมืองเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ แม้ภาพรวมโครงสร้างยังแข็งแกร่ง แต่ผลของความยืดเยื้อและไม่ชัดเจนทางการเมืองจะยิ่งกลายเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยเฉพาะในภาคเอกชนที่เริ่มออกอาการผวาไม่กล้าลงทุนเพิ่มรอความแน่นอน ขณะเดียวกันผลกระทบยังลามไปถึงโครงการต่าง ๆ ที่รัฐได้วาดฝันไว้ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ทำท่าจะไม่ได้เห็นในปีนี้ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่รัฐ
การประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี "ทักษิณ ชินวัตร" กลับไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ เพราะความเคลื่อนไหวของม็อบต่าง ๆ ไม่ต้องการให้ยุบสภา แต่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก เรื่องที่เกิดขึ้นจึงยังไม่จบ และมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไปจนไม่สามารถคลำหาทางออกที่สว่างได้ในเวลา โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุในรายงานเศรษฐกิจและการเงิน เดือนมกราคม2549ว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจได้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนถือเป็นการปรับลดลงในครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยสุชาดา กีระกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้คำตอบว่าดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำมันที่ราคายังอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น บรรยากาศการลงทุนจึงทรงตัว
สุชาดา บอกอีกว่า ปัจจัยด้านการเมืองจากผลสำรวจที่ออกมาในเดือนมกราคม นักลงทุนยังไม่เห็นเป็นปัจจัยหลักที่นำมาสู่ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคเศรษฐกิจของประเทศยังมีความแข็งแกร่ง แต่ถามว่าในเดือนหน้าจะมีผลหรือไม่นั้น ก็ต้องรอดูผลสำรวจที่จะออกในเดือนกุมภาพันธ์จึงไม่อาจด่วนสรุปได้ก่อนสำรวจความคิดเห็นจากภาคเอกชนหรือนักธุรกิจ
จะว่าไปแล้วพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยนั้นยังคงความแข็งแกร่งอยู่ แต่การเมืองที่ไม่ชัดเจนย่อมกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน และนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้อย่างโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ต้องชะลอออกไปและคาดว่าอาจไม่ได้เห็นในปีนี้ ผลที่ตามมาคือภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ จะได้รับผลกระทบไปด้วยซึ่งหมายถึงการลงทุนของภาคธุรกิจดังกล่าวอาจชะลอตัวลง เพราะขาดความเชื่อมั่นต่อภาพที่ยังมองไม่เห็นชัดเจนในอนาคต
ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลับหอการค้าไทย บอกว่า การลงทุนในเมกะโปรเจกต์ต้องชะลอตัวออกไปเป็นผลจากการเมืองที่ไม่นิ่ง ดังนั้นเม็ดเงินที่จะเห็น 2-3 แสนล้านบาทของโครงการนี้ที่คาดว่ากระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ 0.5% อาจไม่เห็น เป็นผลให้จีดีพีที่ประมาณการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 5% อาจเหลือ 4.5% ขณะเดียวกันการลงทุนในโครงการดังกล่าวอาจยืดระยะเวลาออกไปเป็นกลางปี 2550 เพราะต้องรอดูนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่
กระนั้นก็ตาม แม้ทาง ธปท. ยังไม่ได้ฟันธงว่า นักธุรกิจให้การเมืองเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ศูนย์วิจัย กสิกรไทย กลับมองว่าการเมืองที่ยังไม่แน่นอนนั้นเป็นผลกระทบและสร้างความกดดันต่อเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัย กสิกรไทย ระบุว่า โดยปกติแล้วการยุบสภาฯและจัดการเลือกตั้งใหม่จะทำให้เม็ดเงินสะพัดเนื่องจากต้องมีการยง ซึ่งจะเป็นยบวกต่อภาวะการใช้จ่ายและเศรษฐกิจของประเทศ แต่จากสถานการณ์ ทางการเมืองขณะนี้ กลับกลายเป็นความไม่แน่นอนเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน ทำให้แนวโน้มในเชิงบวกที่น่าจะมีต่อทั้งตลาดหุ้น ค่าเงินบาท และภาวะการใช้จ่ายในประเทศในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ จะไม่สดใส
โดยคาดว่านักลงทุนและนักค้าเงินน่าจะยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะประเมินแนวโน้มสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของเสถียรภาพของรัฐบาล โดยน่าจะกลับมาลงทุนอย่างจริงจัง เมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นแล้วเท่านั้น
และแล้วปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นอีกครั้งไม่ต่างจากปี48 ซึ่งผลกระทบในครั้งนั้นเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากคลื่นยักษ์เข้าถล่มเมือง แต่ครั้งนี้เป็นผลของกระแสมหาชนเข้าถล่มนายกรัฐมนตรี แม้ความรุนแรงดูจะไม่เหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่จากคำพยากรณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ และองค์กรต่าง ๆ ก็ล้วนออกมาในทิศทางเดียวกันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|