ภารกิจแรกของคาร์สเท่น แองเกิลในฐานะประธาน BMW ประเทศไทย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ภารกิจแรกของคาร์สเท่น แองเกิล ที่ปรากฏต่อสาธารณะ หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทบีเอ็มดับบลิว(ประเทศไทย) ได้เพียง 2 เดือน คือ การแถลงทิศทางของบีเอ็มดับบลิว เนื่องในโอกาส ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยครบ 2 ปีเต็ม

ประเด็นสำคัญ ที่เขาย้ำในการแถลงข่าวครั้งนี้ คือ จุดยืนของบีเอ็มดับบลิว ที่ยังคงยืนยันในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ เพื่อการส่งออกในภูมิภาคนี้ แม้ว่าสนธิสัญญาอาฟตาจะถูกเลื่อนกำหนดใช้ออกไป หลังจากประเทศมาเลเซีย ขอเลื่อนแผนการลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปจากไทยออกไปอีก 2 ปี

"การเลื่อนการประกาศใช้สนธิสัญญาอาฟตา ถือได้ว่าเป็นข่าวร้าย เพราะเป็นการทำลายความเป็นไปได้ในการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทย อย่างไรก็ตาม บีเอ็มดับบลิวยังคงใช้โรงงานในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานการส่งออก ตามกลยุทธ์ระยะยาวของเรา"แองเกิลกล่าว

เมื่อ 2 ปีก่อน บีเอ็มดับบลิว จากเยอรมนีได้เข้ามารุกธุรกิจรถยนต์ในไทยอย่างเต็มตัว โดยดึงความรับผิดชอบการทำตลาดรถยนต์ในประเทศมาดำเนินการเอง หลังจากได้มอบภารกิจดังกล่าว ให้กับบริษัทยนตรกิจในฐานะตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมาเป็นเวลานานถึงกว่า 30 ปี

นอกจากนี้ บีเอ็มดับบลิวยังได้มีการลงทุนเป็นเงิน 26.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(1,000 ล้านบาท) สร้างโรงงานประกอบรถยนต์บีเอ็มดับบลิวขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดระยอง

ตามแผนงาน บีเอ็มดับบลิวจะใช้โรงงานแห่งนี้ ประกอบรถยนต์ซีรี่ส์ 3 ซีดานใหม่ ทั้งรุ่น 318 ไอ และ 323 ไอ มีกำลังการผลิตปีละ 10,000 คัน เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกไปขายในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกำลังจะกลายเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่แห่งใหม่ ตามนโยบายตลาดการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่กำลังจะเริ่มประกาศใช้ แต่ก็ต้องมาสะดุดลง เมื่อประเทศมาเลเซียยังไม่ยอมลดภาษีนำเข้ารถยนต์ดังกล่าว

คาร์สเท่น แองเกิล เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกันยายน ต่อจากเยซุส คอร์โดบา ที่ครบวาระ และย้ายกลับไปรับตำแหน่งในสำนักงานใหญ่ของบีอ็มดับบลิว ที่เยอรมนี

ตลอดระยะเวลา 2 ปีของคอร์โดบา เป็นการสร้างพื้นฐานของบีเอ็มดับบลิวในไทย โดยมีเป้าหมาย ที่จะขึ้นเป็นผู้นำในตลาดรถประเภทหรูหราในไทย และสร้างฐานการผลิต เพื่อการส่งออกเป็นหลัก

คอร์โดบา ประสบความสำเร็จในการสร้างบีเอ็มให้กลายเป็นรถยอดนิยมสำหรับตลาดรถหรูหรา ด้วยยอดขาย ที่สูงถึง 1,840 คันในปี 2542 ขณะเดียวกันโรงงาน ที่ระยอง ก็เริ่มได้เปิดเดินสายการผลิตแล้ว ตั้งแต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

พร้อมรับออร์เดอร์นำเข้า ที่มาจากคู่ค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน !!!

ผลจากการเลื่อนแผนการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ของมาเลเซียออกไปอีก 2 ปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนการผลิต เพื่อส่งออกรถยนต์ของบีเอ็มดับบลิว ที่ได้มีการลงทุนไปแล้วถึง 1,000 ล้านบาท ทำให้ในช่วงนี้ บีเอ็มดับบลิว(ประเทศไทย)จำเป็นต้องปรับแผนใหม่ โดยเพิ่มบทบาทให้กับตลาดภายในประเทศมากขึ้น

ภารกิจนี้ คาร์เท่น แองเกิล ที่เพิ่งย้ายมาจากประธานบีเอ็มดับบลิวในเกาหลีใต้ ต้องเข้ามารับผิดชอบอย่างเต็มตัว

แองเกิล กล่าวถึง แผนการสำหรับตลาดภายในประเทศ ในยุคที่เขาเข้ามารับผิดชอบว่า จะเน้นการสร้างเครือข่ายดีลเลอร์ และเพิ่มคุณภาพการให้บริการกับลูกค้า โดยตั้งเป้าเพิ่มดีลเลอร์ทั่วประเทศจากที่มีอยู่ 21 รายในปัจจุบัน ขึ้นเป็น 30 ราย

นอกจากนี้ จะมีการนำธุรกิจใหม่ๆเข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะการให้บริการทางการเงิน เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า ที่ต้องการซื้อรถยนต์บีเอ็มดับบลิว รวมทั้งการนำรถจักรยานยนต์บีเอ็มดับบลิวเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอีกครั้ง

ทิศทางของบีเอ็มดับบลิว ในยุคของคาร์สเท่น แองเกิล หลังจากนี้ไป น่าจะทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีสีสันยิ่งขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.