เอนเตอร์เทนเมนตครบวงจร ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ขยายพรมแดนธุรกิจบันเทิง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กฤษณัน จูง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ขยายพรมแดนธุรกิจบันเทิง เปิดศึกแนวรบใหม่ด้วยบริการเสริม เป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ต ตอบโจทย์เพิ่มคุณค่าความเป็นไลฟ์สไตล์เอนเตอเทนเมนต์ครบวงจรสร้างความพอใจให้ผู้บริโภคมากกว่าการเป็นโรงหนัง ผนวกจุดแข็งด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 75%

แม้จะเปิดตัวร่วมงานกันได้ไม่นาน แต่ด้วยประสบการณ์นักการตลาดมืออาชีพ กฤษณัน งามผาติพงศ์ ที่เวียนว่ายอยู่ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมยาวนานถึง 14 ปี ก็สามารถหาประเด็นทางการตลาด ทั้งสินค้าใหม่ บริการใหม่ หรือกิจกรรมใหม่ ๆ มาเปิดตัวกันได้ถี่ยิบเป็นรายสัปดาห์

กฤษณัน รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อต้นปี 2549 วางแนวทางในการใช้ไอทีมาเป็นเครื่องมือนำพาธุรกิจ โดยกำหนดนโยบายให้กับธุรกิจใหม่ที่เพิ่งมีโอกาสบริหารว่า เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จำเป็นต้องเพิ่มบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ต้องเพิ่มความสะดวกสบายในบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะบริการพื้นฐาน เช่น ระบบการจองตั๋ว การเช็ครอบหนัง ต้องเปิดกว้างในการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ และต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจ

"ผมตั้งเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนังของเมเจอร์ฯ โดยผสมผสานระหว่างระบบไอทีที่ผมเชี่ยวชาญกับความบันเทิงของการดูหนัง เช่น สร้างบริการระดับเวิลด์คลาส สร้างความสะดวกและรูปแบบใหม่ในการดูหนัง ซึ่งผมตั้งใจที่จะมาเติมเต็มระบบไอทีให้กับเมเจอร์ฯ"

Out put แรก ๆ ที่เป็นไฮ ไลท์ซึ่งเกิดจากการลงทุนด้านไอทีนี้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มองไปถึงศักยภาพที่จะสลัดออกจากเงาของตนเอง ขยายธุรกิจออกไปเป็นตัวแทนรับจองบัตรชมการแสดงต่างๆ ผ่านเคาท์เตอร์บริการในโรงหนังในชื่อ Major ticketing center ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ตามย่านสรรพสินค้าใหญ่ๆในกรุงเทพและหัวเมือง นำเทคโนโลยีมาพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์สูงขึ้น พร้อมตอบโจทย์ความเป็น Total life-style Entertainment เสริมมิชชั่นขององค์กรให้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือการเข้ามาในอาณาจักรของเมเจอร์ครั้งหนึ่งแล้วลูกค้าสามารถที่จะเลือกความบันเทิงที่จะตอบสนองตัวเองได้มากกว่าการดูหนัง

Major ticketing center ถือเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเมเจอร์และอีจีวีเมื่อปี 2547 ส่งผลให้เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์มีจำนวนสาขาในการบริการมากกว่า 30 สาขา สามารถรองรับลูกค้าได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในกรุงเทพฯ ที่เป็นลูกค้าเป้าหมายของการแสดงส่วนใหญ่ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเทพฯ มากกว่า 90% จึงสร้างความมั่นใจให้กับกฤษณัน ได้ว่า แม้จะเริ่มเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ แต่การที่มีคู่แข่งในตลาดอยู่เพียงรายเดียว คือ ไทยทิกเก็ตมาสเตอร์ ก็น่าจะชิงส่วนแบ่งมาได้ราว 20-25% ในปีแรก กำหนดเป้ารายได้ไว้ 200 ล้านบาท

อนวัช องค์วาสิฏฐ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ Chief Cinema Business ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การตลาดที่จะออกเพิ่มเติมมาในปีนี้ก็จะใช้ลักษณะร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆอีกเช่นเคยโดยแยกเซ็กเมนต์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มๆไป จากก่อนหน้านี้ที่มีการร่วมมืออาทิกับอิออนในการดูหนังเงินผ่อนหรือร่วมกับโพธาลัยให้บริการนวดกับลูกค้าที่ดูหนังโรงพรีเมี่ยม นอกจากเป็นการเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกันแล้วยังจะช่วยให้ประหยัดงบการตลาดลงไปได้อีกทางหนึ่งด้วย

"เป็นการสร้างให้เกิดความรู้สึกว่าคุ้มค่าและพอใจในการจ่ายมากขึ้นด้วยการเสริมทั้ง Emotional service และ Functional service"

ด้วยจำนวนสาขากว่า 36 แห่งที่มีลูกค้าเข้าถึง มียอดใช้บริการเฉพาะตั๋วหนังมากกว่า 20 ล้านใบต่อปี จึงประเมินได้ว่าเมเจอร์มีศักยภาพเบื้องต้นในการก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งทางตรงในตลาดตัวแทนจำหน่ายบัตรชมการแสดงที่มี ไทยทิกเก็ตมาสเตอร์ เป็นเจ้าตลาดเพียงหนึ่งเดียวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมียอดจองในปีที่ผ่านมารวมเกือบ 1 ล้านครั้งจากงานแสดงคอนเสิร์ต, ละคร, กีฬา ที่รวมกันราว 100 งานต่อปี รวมถึงบริการรับจอง ทัวร์ และ โรงแรมอีกด้วย ผ่านสาขาที่มีอยู่ 9 แห่งซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในห้างเซ็นทรัล บวกกับช่องทางการจำหน่ายทางเว็บไซต์โดยมีระบบชำระเงินในลักษณะ E-commerce ด้วยบัตรเครดิตสนับสนุน

สำหรับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ก็ไม่ได้รอช้าในการไล่ตามเทคโนโลยีนี้ ทีมมือพัฒนาระบบจากเอไอเอสที่ตามกฤษณันเข้ามา อยู่ระหว่างการพัฒนาเว็บไซต์เมเจอร์ออนไลน์ ให้เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ซึ่งกฤษณันตั้งเป้าเป็นประเด็นแถลงข่าวในราวไตรมาส 2 ของปีนี้ ต่อไปการจองบัตรชมภาพยนตร์ รวมถึงบัตรการแสดงคอนเสิร์ต ทอล์คโชว์ ที่จำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์ Major ticketing center จะสามารถจองและเลือกที่นั่งผ่านอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือได้

แม้ อนวัช จะแบ่งรับแบ่งสู้ในการที่จะยกให้ธุรกิจใหม่ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์นี้ เป็นคู่ท้าชนไทยทิกเก็ตมาสเตอร์ โดยว่าผู้จัดการแสดงมีสิทธิ์ที่จะเลือกให้รายใดรายหนึ่งหรือแบ่งทั้ง 2 รายในการจัดจำหน่ายตั๋วได้ก็ตาม แต่หากมองในแง่ผู้บริโภคแล้วจะพบความจริงที่ว่า ต้องเลือกซื้อกับเจ้าใดเจ้าหนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่าต้องมีผู้ใดผู้หนึ่งที่ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาด ซึ่งวันนี้ ไทยทิกเก็ตมาสเตอร์ ถือได้ว่ามีความได้เปรียบจากจุดแข็งจากการเป็นบริษัทลูกของบีอีซี-เทโร ซึ่งเป็นโปรโมเตอร์ในการจัดโชว์ และคอนเสิร์ต ที่จะมีงานป้อนงานให้อยู่อย่าสม่ำเสมอ

แต่การก้าวขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์ถึง 75% จากมูลค่าตลาดรวม 4.5 พันล้านบาท ทิ้งห่างเอสเอฟคู่ปรับเก่าที่มีส่วนแบ่งเหลือไว้ให้เพียงแค่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์นั้น ส่งผลให้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เป็นบิ๊ก เพลเยอร์ที่มีอำนาจในการเจรจาและต่อรองเลือกหาพันธมิตร (Business partner) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเองยิ่งขึ้นทั้งในแง่การขยายฐานลูกค้าและรายได้ที่เข้ามาเป็นตัวเงินโดยตรง จำนวน outlet ที่มีอยู่มากถึง 36 แห่ง ประกอบกับช่วงเวลาในการเปิดให้บริการในแต่ละวันที่ยาวนานกว่า ก็น่าจะสั่นครอนบัลลังก์ไทยทิกเก็ตมาสเตอร์ ให้ต้องหันมารื้อระบบกันครั้งใหญ่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.