|
การบินไทยรุกศูนย์ธุรกิจตะวันออกกลาง เปิด“กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด”-ฉลอง 30 ปีหวังแซงคู่แข่ง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การบินไทยเปิดสายการบินใหม่ “กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด”ขยายฐานลูกค้าสู่ศูนย์ธุรกิจตะวันออกกลาง “ปากีสถาน” หวังดันเป้าเติบโต 150 ล้าน บาทต่อเดือน หลัง2 เที่ยวบิน “การาจี-ลาฮอร์”ประสบความสำเร็จ ฑูตไทยประสานรัฐบาลปากีฯจัดแคมเปณ “Visit Pakistan” เพิ่มยอดขายให้การบินไทย-บูมท่องเที่ยวในอิสลามาบัด
30 ปีที่สายการบินไทย เปิดให้บริการข้ามฟ้าสู่ประเทศปากีสถานมาอย่างยาวนาน โดยไฟลท์แรก สายการบินไทยได้เปิดศักราชที่เมืองการาจี (KHI) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.1976 จนถึงปัจจุบัน จากนั้นต่อมาเมื่อ ก.ค.1994 การบินไทยได้เปิดไฟลท์เพิ่มขึ้นที่เมืองลาฮอร์ (LHE) เพื่อขยายฐานลูกค้าอีกหนึ่งเส้นทาง
และเมื่อปลายปี 2548 ที่ผ่านมาในวันที่ 2 พ.ย.สายการบินเที่ยวใหม่ล่าสุดบินตรงจากกรุงเทพฯถึง กรุงอิสลามาบัด ได้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ นับเป็นจุดบินที่ 3 นอกเหนือไปจากทั้ง 2 แห่งคือการาจีและลาฮอร์ ที่การบินไทยได้ขยายเส้นทาง เปิดให้บริการบินตรงจากกรุงเทพฯไปสู่ กรุงอิสลามาบัด (ISB) เมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศปากีสถาน
ทั้งนี้การบินไทยได้ตั้งเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้า ตลอดจนเป้าหมายที่จะปั้นเม็ดเงินก้อนโต ซึ่งถือเป็นการสร้างผลกำไรที่น่าสนใจท่ามกลางสถานการณ์ที่ ไม่เรื่องที่ง่ายดายนัก เนื่องจากในสภาพความเป็นจริงเป็นที่รู้กันดีว่า ด้วยปัจจัยบรรยากาศการเมืองที่ไม่อยู่ในภาวะที่นิ่ง อีกทั้งจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังคงพุ่งสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งอย่างหนัก อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆเหล่านี้กำลังรอท้าทายพิสูจน์ศักยภาพของการบินไทย
การบินไทยเปิดสายการบินใหม่ “กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด”
การเดินทางไปรับตำแหน่งในฐานะผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศปากีสถาน ของ “กิตติพงศ์ สารสมบูรณ์” เป็นเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งทีมงานของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ที่กรุงอิสลามาบัดนั้นต่างต้องทำงานอย่างหนักเพื่อศึกษาข้อมูลในด้านต่างๆของประเทศปากีสถาน ทั้งในด้านวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ตลอดจนด้านธุรกิจ เพื่อประมวลออกมาสู่การวางแผนการตลาดอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
โดยการเปิดสายการบินใหม่เส้นทางกรุงเทพฯ-อิสลามาบัด เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2548 ที่ผ่านมานั้น บริษัทการบินไทย ฯต้องการขยายบริการสู่ปากีสถานได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากสองเส้นทางที่มีอยู่เดิม คือเมืองการาจีและลาฮอร์ ส่งผลให้บริษัทการบินไทยฯสามารถขยายการบริการสู่ศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางได้อย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากเส้นทางกรุงเทพฯ-อิสลามาบัด มีด้วยกัน 2 เที่ยวบินประกอบด้วย เที่ยวบิน TG 509 บินในวันพุธและวันเสาร์ ออกจากกรุงเทพฯเวลา 19.30 น.ถึงกรุงอิสลามาบัด เวลา 22.45 น. และเที่ยวบิน TG 510 ในวันพฤหัสบดีและวันเสาร์ ออกจากอิสลามาบัด เวลา 23.00 น.ถึงกรุงเทพฯเวลา 06.30 น. จากตารางการบินนี้จะทำให้ผู้โดยสารทั้งจากประเทศไทย และประเทศอื่นๆในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการเดินทางทั้งขาเข้าและออก อย่างไรก็ตามกล่าวได้ว่าการบินไทย คือสายการบินแรก และสายการบินเดียวจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังกรุงอิสลามาบัด
สำหรับแผนการตลาดที่การบินไทย วางไว้คือให้ครอบคลุมผู้โดยสาร 3 กลุ่มหลักได้แก่ 1.กลุ่มเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business travel) 2.กลุ่มเดินทางเพื่อเยี่ยมครอบครัวและญาติ (Visit family and relatives) และ3.กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อการพักผ่อน (Leisue travel) โดยแต่ละกลุ่มลูกค้าการบินไทยได้วางกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าทั้งในและนอกประเทศปากีสถาน เพราะนอกเหนือไปจากการสร้างรายได้เข้าสู่ไทยแล้วด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับปากีสถาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
“สิงคโปร์ แอร์ไลน์”คู่แข่งที่ต้องจับตา
“เมื่อก่อนยังถือว่าเรายังไม่มีคู่แข่งมากนัก แต่เมื่อมีสิงคโปร์ แอร์ไลน์ มาเปิดสายการบิน บินวนที่ลาฮอร์ ทำให้เราต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากทางสิงคโปร์ แอร์ไลน์ นำเรื่องความเหนือกว่า ในด้านเกม สิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่อง แต่เมื่อล่าสุดเราได้ กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด คาดว่าจะต่อสู้กับคู่แข่งได้ เนื่องจากจะทำให้ลูกค้าสามารถบินไป-กลับ ได้ถึง3 จุด คือลาฮอร์ การาจี และอิสลามาบัด จุดนี้เราเหนือกว่าชัดเจน”
กิตติพงศ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปเยียนกรุงอิสลามาบัด เมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งชี้ถึงตัวเลขความสำเร็จในด้านการตลาดสายการบินใหม่ กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด ที่จะเติบโตขึ้นว่าสามารถแบ่งช่วงเวลาในการประเมินไว้ 3 ช่วง ได้แก่1. ในช่วง Winter Program จะเป็นช่วงที่กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักท่องเที่ยว เดินทางเข้า-ออกปากีสถาน เพื่อการท่องเที่ยวในลักษณะครอบครัวและแบบเดี่ยว ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวนี้จะมาจากชาวต่างชาติที่ทำงานประจำในกรุงอิสลามาบัด ขณะเดียวกันชาวปากีสถานเอง จำนวนไม่น้อยที่ต้องการเดินทางไปเยี่ยมญาติและท่องเที่ยว หลังจากผ่านพ้นช่วงรอมฎอนไปแล้วจะมีวันหยุดยาวนานถึง 1 สัปดาห์ ดังนั้นคาดว่าจะมีรายได้เติบโตในช่วงนี้ประมาณ12-13 %
สำหรับในช่วง Summer Program คาดว่าจะมีลูกค้านนิยมใช้บริการจำนวนมากกว่าช่วง Winter Program โดยจะทั้งกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มเดินทางเพื่อเยี่ยมครอบครัวและญาติและเดินทางเพื่อการพักผ่อน ผสมผสานกันโดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางไปเยี่ยมญาติชาวอิสลามาบัดที่พักอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งจากประเทศจีนและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ก่อนหน้านี้เรามีทั้งหมด 9 เที่ยวบิน คือที่ลาฮอร์มี 5 เที่ยวบิน และอีก 4 เที่ยวบินที่การาจี ตัวเลขรายได้เฉลี่ยเดือนละ 400 ล้านบาท แต่เมื่อเรามีกรุงเทพฯ-อิสลามาบัดเพิ่มขึ้นมาอีก คาดว่าน่าจะได้ถึง 150 ล้านบาทต่อเดือนสำหรับที่นี่แห่งเดียว”
อย่างไรก็ตามถึงแม้การบินไทย จะทำธุรกิจด้านนี้ในปากีสถานมายาวนาน แต่ในแง่การทำตลาดกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ ในแต่ละระดับนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการบินไทย ต้องการสร้างแบรนด์ให้อยู่ในใจของลูกค้า อย่างมีระดับ แต่ขณะเดียวกันกลับยังคงจำเป็นที่จะต้องหาทางรักษากลุ่มลูกค้าระดับล่างที่มีจำนวนไม่น้อยไว้ด้วยเช่นกัน นั่นคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ใช้บริการตั๋วราคาถูก มีตัวเลขจากปี 2005 ทั้งสิ้น 4,000 คนเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากปากีสถาน เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ตามข้อตกลงการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างสองประเทศ
“ ถึงแม้สายการบินของเรา จะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มราคาสูงก็ตาม แต่เราก็ไม่ต้องการที่จะให้เรากลายเป็นสายการบินราคาถูก เพราะหากเรานำกลยุทธ์การลดราคามาใช้ เท่ากับเราลดเครื่องมือในการต่อสู้กับคู่ลงเช่นกัน ซึ่งต่อไปก็ต้องทำในเช่นนี้อีก จะส่งผลให้เราไม่สามารถยกระดับสายการบินและผู้โดยสารของเราได้
ดังนั้นเราน่าจะหาลูกค้ากลุ่มอื่นมาชดเชยแทน โดยอาจจะเป็นกลุ่มอีกระดับหนึ่ง ในราคาที่เหมาะสม และเชื่อว่าเราจะไม่สูญเสียลูกค้ากลุ่มแรงงานกลุ่มนี้ไปทั้งหมดแน่นอน”
“ตักศิลา-ตัก-ติ-ไบ” จุดขายท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
นอกเหนือไปจากนำกลยุทธ์ทางการตลาดและการขยายเส้นทางการบินเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทั้งในปากีสถานแล้ว การบินไทยยังมีกลยุทธ์ในการดึงกลุ่มลูกค้าคนไทย ที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ เท่านั้นแต่ยังดึงศักยภาพสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในกรุงอิสลามาบัดต่างๆที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรกดโลกโดย UNESCO คือ ตักศิลา ในอดีตคือแหล่งศูนย์รวมแห่งการศึกษาและศาสนาพุทธในยุคโบราณ ก่อนที่จะถูก ชาวฮั่นขาวรุกรานและทำลายในพุทธศตวรรษที่ 10 และ ตาก-ติ-ไบ พุทธศาสนสถานอีกแห่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจากนักท่องเที่ยวในเชิงศิลปะวัฒนธรรม ด้านประวัติศาสตร์ ทั้งจากไทย จีน และญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาพุทธ
“ในจุดนี้ต้องนับว่าการบินไทยไม่เพียงแต่จะได้ลูกค้าของเราเอง แต่อีกด้านหนึ่งต้องถือว่าเราได้ช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวให้กับปากีสถานไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะในส่วนของเมืองตักศิลา รัฐบาลไทยได้มีโครงการให้การสนับสนุนงบประมาณในการขุดค้นทางด้านประวัติศาสตร์ ร่วมกัน”
โอกาสในการลงทุนของการบินไทย ควบคู่ไปกับการดำเนินการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวให้กับปากีสถานนั้น ยังมีข้ออุปสรรคที่มาจากภายในเอง โดย “พิษณุ จันทร์วิทัน” เอกอัตรราชทูตไทย ประจำกรุงอิสลามาบัด ระบุว่า ในปากีสถานเองยังมีปัญหาเรื่องกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา ที่มีความขัดแย้งกันตลอด แต่การที่การบินไทยเลือกเน้นไปยังกลุ่มลูกค้านักธุรกิจ ชาวต่างชาติที่ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ที่ประจำการอยู่ในกรุงอิสลามาบัด น่าจะส่งผลให้การทำเปิดเที่ยวบินกรุงเทพฯ-อิสลามาบัด ประสบความสำเร็จได้
“จากตัวเลขมีชาวปากีสฯเดินทางไปไทยปีละ 50,000 คนแต่ปรากฏว่าคนไทยเองกลับรู้จักที่นี่น้อยมาก เพียงไม่กี่พันคนในแต่ละปี เพราะคนที่มาเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการมีที่เที่ยว ที่รับประทานอาหารดีๆ แต่ที่ปากีฯหากจะกินอาหารที่ดีก็จะมีราคาสูง เช่นเดียวกับหากต้องการที่พักที่ดี ก็จะเสียค่าใช้จ่ายแพง ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรคต่อการทำทัวร์”
ดังนั้นจึงจะจัดทำโครงการ Visit Pakistan คาดว่าจะเสร็จสิ้นในราวปลายปี 49 นี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับรัฐบาลปากีสถานเพื่อรวบรวบข้อมูลด้านต่างๆของปากีสถานทั้ง ศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยว ถ่ายทอดโดยนักเขียนสารคดีด้านการท่องเที่ยวของไทย คาดว่าจากโครงการ Visit Pakistan จะส่งผลดีต่อตัวเลขเป้าหมายการเติบโตให้กับการบินไทยได้มากขึ้น..
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|