|

สามารถคอร์ปจับมือทีโอที-ค่ายโทรศัพท์ บริการเคลียร์ริ่งเฮ้าส์อินเตอร์คอนเน็กชั่น
ผู้จัดการรายวัน(3 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สามารถคอร์ปเตรียมตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างทีโอที และโอเปอเรเตอร์เพื่อทำหน้าที่เคลียร์ริ่ง เฮ้าส์ค่าเชื่อมโครงข่าย (อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ) โดยบริษัทกลางจะรับผิดชอบการบริหารจัดการเรื่องผลประโยชน์ในส่วนของการส่งทราฟิกระหว่างโครงข่ายไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ระหว่างประเทศ
นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่าบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น ได้มีการเจรจากับทีโอทีเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นตัวกลาง (เคลียร์ริ่ง เฮ้าส์) ในการนำระบบค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชั่น ชาร์จมาใช้ โดยที่หลักการของการให้บริการเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ จะต้องเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยจะทำหน้าที่เป็นผู้จับสัญญาณ (Triffic) และหักกลบลบหนี้จากปริมาณการใช้งานรับ-ส่งสัญาณในการสื่อสารทั้งหมดตามจริงในระบบ
ทั้งนี้เคลียร์ริ่ง เฮ้าส์จะเป็นบริษัทตั้งใหม่ขึ้นมา และผู้ให้บริการโทรศัพท์หรือโอเปอเรเตอร์ต่างๆจะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยสามารถคอร์ปจะเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งระบบซึ่งจะมีรายได้จากการบำรุงรักษาระบบ ค่าธรรมเนียมในการให้บริการ
“ความคืบหน้าตอนนี้โอเปอเรเตอร์รายหลักๆ คุยกันเรียบร้อยแล้วเหลือแต่รายเล็กที่มีฐานลูกค้าไม่กี่แสนรายเท่านั้น”
แหล่งข่าวจากโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือรายหนึ่งให้ความเห็นว่าในขณะนี้โอเปอเรเตอร์หลายรายเริ่มเจรจาและหาแนวทางเป็นรูปธรรม ในการดำเนินการกรณีที่กทช.ประกาศใช้ค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ โดยหลักการแล้วโอเปอเรเตอร์ต้องการให้มีคนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียหรือส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถือ มาเป็นแกนกลางในการจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อทำหน้าที่ในลักษณะการเป็นเคลียร์ริ่ง เฮ้าส์ ในการหักกลบลบหนี้ เกี่ยวกับปริมาณการส่งสัญญาณหรือทราฟิก ระหว่างแต่ละโครงข่าย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและน่าเชื่อถือมากที่สุด
การที่กลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น เสนอตัวเป็นแกนนำในการให้บริการเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ ค่าเชื่อมโครงข่าย เป็นเพราะถือว่ากลุ่มสามารถมีประสบการณ์ทั้งด้านการเป็นโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือในชื่อดิจิตอลโฟน หรือฮัลโหล 1800 ในอดีต รวมทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับบริษัท ทีโอที ซึ่งหากทีโอทีไม่ขัดข้องและพร้อมร่วมทุน โอกาสที่บริษัทดังกล่าวจะเกิดขึ้นและให้บริการก็มีความเป็นไปได้สูง
ทั้งนี้บริษัทเคลียร์ริ่ง เฮ้าส์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ให้บริการทั้งการเชื่อมต่อโครงข่ายของโทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งโทรศัพท์ต่างประเทศทั้งระบบ นอกจากนี้การที่โอเปอเรเตอร์ทุกรายในอุตสาหกรรมต่างเห็นประโยชน์ของการนำอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จมาใช้ ยิ่งจะทำให้บริษัทดังกล่าวเกิดขึ้นจริงในเร็ววันนี้ โดยที่การลงทุนของกลุ่มสามารถ จะเป็นด้านซอฟต์แวร์ การเชื่อมโยงปริมาณทราฟิกที่ส่งระหว่างกันของแต่ละโอเปอเรเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละโอเปอเรเตอร์จะมีการเก็บข้อมูลปริมาณทราฟิกดังกล่าวไว้แล้ว บริษัทเคลียร์ริ่ง เฮ้าส์ จะมาทำหน้าที่ประมวลผลต่างของการส่งออกหรือการรับเข้าทราฟิก เพื่อคำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชดเชยระหว่างกัน
แหล่งข่าวกล่าวว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่างเห็นประโยชน์ของการนำเรื่องอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ มาใช้เพราะจะทำให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้นเนื่องจากแต่ละโอเปอเรเตอร์จะได้รับส่วนแบ่งรายได้การใช้งานโครงข่ายตามปริมาณทราฟิกที่ผ่านโครงข่ายจริง ไม่เหมือนในปัจจุบันที่โครงข่ายที่ส่งสัญญาณออกเท่านั้นเป็นผู้รับรู้รายได้
นอกจากนี้การที่ยังไม่มีการใช้อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ ก็กลายเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมกับโอเปอเรเตอร์หลายรายเพราะแต่สัญญาร่วมการงานมีภาระต้นทุนที่ไม่เท่าเทียมกัน กรณีโทรศัพท์พื้นฐานไม่มีการระบุในเรื่องนี้ไว้ ส่วนโทรศัพท์มือถือค่ายทีโอทีคือเอไอเอสไม่ต้องเสียค่าแอ็คเซ็สชาร์จ ในขณะที่ดีแทค ทรูมูฟ ดีพีซี ในค่ายบริษัท กสท โทรคมนาคมต้องเสียเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนในระบบโพสต์เพด และ 18%ในระบบพรีเพดให้ทีโอที ซึ่งโอเปเรเตอร์ต่างหวังว่าหากมีการใช้อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จแล้วแอ็คเซ็สชาร์จจะหมดไป ในขณะที่ทีโอทีก็ไม่ยอมที่จะขาดรายได้ในส่วนนี้ไป ทำให้เอกชนเห็นว่าโอกาสในการแปรสัญญาร่วมการงานอาจมีสูงขึ้น รวมทั้งกรณีทีโอทีแพ้คดีการจ่ายส่วนแบ่งจากการเข้ามาใช้โครงข่ายของทรูกว่า 1 หมื่นล้านบาท อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพของสัญญาเร็วขึ้น
ด้านพล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกทช.กล่าวว่าหากมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อให้บริการระบบเคลียร์ริ่ง เฮ้าส์ของอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จเกิดขึ้นก็ต้องมาแจ้งให้กทช.ทราบ ซึ่งกทช.พร้อมสนับสนุนเต็มที่เพราะเป็นเงื่อนไขสากลที่กทช.ต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งการกำหนดอัตราต่างๆและการใช้งานจริงจะต้องได้รับความร่วมมือจากโอเปอเรเตอร์ทุกราย
ทั้งนี้กทช.ได้จัดประชุมระดมความเห็นเรื่องอินเตอร์คอนเน็กชั่นมาหลายครั้งและจะนำความคิดเห็นและข้อมูลทั้งหมดจากตัวแทนบริษัททั้งภาครัฐและเอกชนไปกำหนดเป็นร่างเพื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไปโดยกทช.รอตัวเลขของทีโอทีและกสท.ที่จะสรุปร่วมกันด้วยซึ่งในด้านเอกชนอย่างดีแทคต้องการให้กทช.กำหนดอัตราชั่วคราวมาใช้ก่อน เพราะเกรงว่าหากต้องรอตัวเลขจาก 2 หน่วยงานดังกล่าวอาจใช้เวลานานเกินไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|