พล พิสิษฐเกษม หนุ่มน้อยวัยเบญจเพส กับความรับผิดชอบเกินวัย

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายในสิ้นปีนี้ อุตสาหกรรมยางของเมืองไทยจะได้ต้อนรับน้องใหม่ของวงการอีกหนึ่งรายคือ บริษัทฟาร์อีสท์ รับเบอร์ เทรดดิ้ง จำกัด ภายใต้การบริหารของหนุ่มที่มีอายุน้อยที่สุดในวงการนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งน้อยคนนักที่จะก้าวมาสู่บทบาทหน้าที่นี้ด้วยวัยและประสบการณ์เพียงน้อยนิด หากแต่เขาผู้นี้สามารถมาถึงจุดนี้ได้ด้วยวัยเพียง 25 ปี เพียงเพราะบังเอิญเขาเป็นหนึ่งในลูกหลานของเจ้าของธุรกิจพันล้านของตระกูลสิทธิผลและตะกูลฟาร์อีสท์สังกะสี

ชื่อของ พล พิสิษฐเกษม อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูนัก แต่นามสกุลนั้น เพียงได้ยินก็รู้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับเอ็มซีซี สิทธิผล หรือตระกูล ลี้อิสระนุกูล แน่นอน เพราะมารดาของเขาก็คือ ศรีวัฒนา พิสิษฐเกษม (ลี้อิสระนุกูล) ใช่แล้ว เขาคือ หลานตาของกนก ลี้อิสระนุกูล ผู้ก่อตั้งบริษัทสิทธิพล 1919, บริษัทเอ็มซีซี สิทธิผล, บริษัท อีดนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และโรงเรียนกนกอาชีวะศึกษา นั่นเอง

จากพื้นฐานที่มั่นคงทางธุรกิจของครอบครัว เป็นเสมือนเส้นทางลัดที่ทำให้พลสามารถก้าวเข้าสู่ถนนสายธุรกิจได้ไม่ยากนัก ประกอบกับชีวิตในวัยเด็กและวัยเรียนของเขาก็ได้ถูกหล่อหลอมแล้วซึมซับเอาความเป็น Business man ไว้อย่างเต็มตัว

ธุรกิจที่เขาได้สัมผัสมาตั้งแต่จำความได้นอกจากจะมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ของไทยแล้ว ยังมีธุรกิจสังกะสี ซึ่งคุณปู่ ปรีชา พิสิษฐเกษม ของเขาได้ก่อตั้งมานานนับสิบปีอีกด้วย

บริษัท ฟาร์อีสท์สังกะสี นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำงานของเขา ด้วยตำแหน่ง Executive Coordinator

"อุตสาหกรรมสังกะสีถือเป็นธุรกิจหลักของครอบครัว และเป็นงานแรกที่คุณพ่อ (พลตรีเดชา พิสิษฐเกษม) ให้รับผิดชอบตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี โดยให้ทำหน้าที่ดูแลทางด้านการตลาดเป็นหลัก จากนั้นก็มาเริ่มทำโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการแรกที่ลงมือทำเองอย่างเต็มตัว" ผู้บริหารหนุ่มเล่า และโครงการก่อตั้งบริษัท ฟาร์อีสท์ รับเบอร์ เทรดดิ้ง ที่มีกำหนดจะเปิดตัวในสิ้นปีนี้ และเป็นที่มาของการที่เขาต้องรับภาระหน้าที่ที่ใหญ่เกินวัยด้วยตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการใหญ่" นอกจากนั้นยังมีอีก 2 ตำแหน่ง ในอีก 2 บริษัทที่กำลังจะเปิดตัวด้วยเช่นกันคือ ตำแหน่ง Marketing Director ในบริษัท ฟาร์อีสท์ อุตสาหกรรมยาง และ Executive Director ในบริษัท ฟาร์อีสท์ ซัพพลาย

นับเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายเขาทีเดียว ในฐานะผู้ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ทำงานอย่างจริงจังมาก่อน แต่ด้วยบารมีและความสามารถของบุคคลที่อยู่รอบตัวเขา ผนึกกับความกล้าหาญและตั้งใจจริงของเขาก็น่าจะทำให้เขาสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

"ถ้าจะให้มานั่งคิดว่า งานที่เรารับผิดชอบอยู่นี่หนักไปไหม ใหญ่ไปไหม ก็คงไม่ได้แล้ว เพราะเรามาอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องทำแล้ว และก็เป็นสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำด้วย และที่สำคัญผมก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นี้ได้ในระดับหนึ่งแล้วด้วย" พลกล่าวอย่างจริงจัง และเขาได้เล่าถึงที่มาของฟาร์อีสท์ รับเบอร์ฯ ด้วยว่า

"โครงการนี้เริ่มประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ขณะที่ผมเรียนเอแบคปีที่ 2 ซึ่งตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้เรียนเกี่ยวกับไฟแนนซ์ เพราะเขาเล็งที่จะขยายงานไปทางธุรกิจไฟแนนซ์ แต่พอเอาเข้าจริงตอนที่เลือกเรียนเอก ผมก็แอบเลือกเอกการตลาด และต่อมาเขาก็รู้ว่าผมไม่ได้เลือกเรียนไฟแนนซ์ เพราะเห็นมีแต่ตำราการตลาดเต็มไปหมด เขาก็ถามว่าผมอยากทำอะไร ผมก็บอกว่ายังคิดไม่ออก แต่ไม่อยากทำไฟแนนซ์" เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้เขาเริ่มต้นคิดอย่างจริงจังว่าจะทำธุรกิจอะไรดีที่ไม่ซ้ำกับธุรกิจของครอบครัว เนื่องจากครอบครัวเขาตั้งแต่อดีตมาไม่มีแนวคิดที่จะให้ใครทำงานที่เดียวกันภายใน 1 องค์กร จะต้องแตกธุรกิจออกไป เพื่อความมั่นคง

โชคก็มาเข้าข้างเขาเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 เตรียมขึ้นปี 4 ตอนที่เขาสอบวิชา Marketing Management โดยโจทย์ที่ทำสอบนั้นเป็นกรณีศึกษาของบริษัท บริดจสโตน และบริษัทยางสยามที่เพิ่มทุนกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมๆ กันทั้ง 2 บริษัท เพื่อสร้างโรงงานใหม่ โจทย์ได้ถามว่า...ถ้าหากคุณเป็นผู้จัดการการตลาด คุณมีความเห็นอย่างไรกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นได้มีการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย พร้อมทั้งมีการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย พร้อมทั้งมีการทุ่มทุนพร้อมกันในช่วงนี้และการแข่งขันในอนาคตจะเป็นอย่างไร..."

จากโจทย์ข้อนี้เองเป็นการจุดประกายทางความคิดของเขา ทำให้เขาเริ่มศึกษาตัวเลขการผลิตรถยนต์และมูลค่าการผลิตยาง รวมทั้งอุตสาหกรรมยางรถยนต์อย่างจริงจัง และเขาก้ค้นพบช่องทางการตลาดที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมยางได้อย่างไม่อยากนัก เนื่องจากธุรกิจสังกะสีของครอบครัวได้ร่วมทุนกับบริษัทเทรดดิ้งที่ใหญ่มาก ของญี่ปุ่นหลายบริษัทด้วยกัน อาทิ ซูมิโตโม และอลูเวนี่ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้ก็ทำธุรกิจมากมาย และ "ยาง" ก็เป็นหนึ่งในหลายธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทนี้ มีความคิดในการก่อตั้งและก่อสร้างโรงงานฟาร์อีสท์ รับเบอร์ฯ จึงค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

"ตอนที่คิดอยากทำ ผมก็เอารายละเอียดทั้งหมดไปเสนอคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งท่านก็ถามว่า ทำจริงแน่นะ ผมก็ว่าทำจริง จากนั้นคุณพ่อกับผมก็ช่วยกันทำมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ผมกำลังเรียนปริญญาโทการตลาดอยู่ที่เอแบคนั่นเอง" เขาเล่า และเป็นที่น่าแปลกใจว่า เหตุใดเขาจึงไม่ไปศึกษาปริญญาโทต่อ ณ ต่างประเทศตามที่สมควรจะเป็น

เขาก็ได้ให้คำตอบว่า โครงการนี้เขาคิดตั้งแต่สมัยอยู่ปริญญาตรี ซึ่งคิดว่าทุกอย่างน่าจะถูกเซ็ตให้เป็นระบบเรียบร้อยและปล่อยให้มืออาชีพเข้ามาบริหารต่อไป แต่ทำไปทำมาเขาต้องกลายมาเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์เสียเอง ยิ่งนานวันโอกาสที่จะไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศก็ยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ จึงเป็นเหตุให้เขาเรียนต่อปริญญาโทในเมืองไทยนี่เอง

ณ วันนี้การเป็นน้องใหม่ในอุตสาหกรรมยางไม่ง่ายอย่างอดีตเสียแล้ว แต่ผู้บริหารหนุ่มก็ไม่ได้หวั่นไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในปัจจุบัน เขากลับมองว่า การเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้ไม่จำเป็นจะต้องสร้างศัตรู เขาสามารถเป็นมิตรกับทุกคนได้เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ไม่จำเป็นจะต้องสร้างศัตรู เขาสามารถเป็นมิตรกับทุกคนได้เนื่องจากอุตสากรรมยางยังมีอีกหลายช่องทางที่สามารถก้าวเข้าไปโดยไม่ทับทางใคร โดยเขายกตัวอย่างให้เห็นว่า "ตามปกติยางเพื่อการพาณิชย์สามารถที่จะ reject มาหล่อซ้ำใหม่อีกรอบได้ ซึ่งถ้าเราสามารถดึงดีมานด์จากการหล่อดอกมาขายได้ เราก็ไม่ต้องต่อสู้กับผู้ที่ผลิตยางใหม่"

กุนซือใหญ่ของพล พิสิษฐเกษม นอกจากจะมีบิดาของเขาเองแล้วก็ยังมีหัวเรือใหญ่ของ IRC วิทยา ลี้อิสระนุกูล ผู้บุกเบิกธุรกิจยางไทยรุ่นแรกๆ ในฐานะลุงแท้ๆ ของเขาก็เป็นบุคคลสำคัญที่คอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่เขาตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะสนับสนุนเขาให้ก้าวเดินในถนนสายนี้อย่างมั่นคง

"ผมเป็นคนทำทุกอย่าง เที่ยวก็เที่ยว เรียนก็เรียน แต่ ณ ปัจจุบัน ผมตัดสิ่งเหล่านี้ออกหมดแล้ว เหมือนกับเป็นคนแก่ตั้งแต่ยังหนุ่ม ซึ่งผมไม่เสียดาย ผมกลับคิดว่าผมาสามารถเริ่มอนาคตได้ดีและเร็วกว่าคนอื่น และไม่คิดว่าจหยุดทำงาน ผมจะทำไปเรื่อยๆ จนถึงวันลงโลงเลย ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเท่ากับได้ทำบุญตลอดเวลา การสร้างงาน สร้างอาชีพ ก็เท่ากับเราได้บุญอย่างหนึ่ง เนื่องจากเราสามารถทำให้ทุกคนมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" พล กล่าวอย่างภูมิใจ

ระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่เขาเริ่มก่อตั้งบริษัทนี้อย่างจริงจัง เขาต้องติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและคุณวุฒิสูงกว่าเขาทั้งนั้น ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เขากระทำต้องเป็นไปในเชิงของการขอร้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเขา และเขาก็ได้เผชิญกับภาวะที่วิกฤติหลายครั้งด้วยกัน แต่เขาก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดีด้วยปรัชญาในการทำงานของเขาก็คือ

"สำหรับผมถ้าจะต้องดีลกับคนผมไม่เคยพูดคำว่าไม่ หรือตอบปฏิเสธเลย ในชีวิตผมถูกเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กและจากสถาบันที่ผมเรียนมาก็ยึดระบบซีเนียริตี้เป็นหลัก ดังนั้น หากจะถูกผมก็เห็นดีด้วยบนพื้นฐานของเหตุและผล ความจริงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากรู้ แต่หากรู้แล้วรับไม่ได้ก็อย่ารู้ดีกว่า ฉะนั้นบางอย่างถ้าผมมองผ่าน

"นักบริหารที่ดีต้องเก็บทุกอย่างไว้ในอก ต้องยิ้มรับ ต้องปล่อยวาง และให้อภัย" นี่คือปรัชญาในการทำงานของชายหนุ่มผู้นี้ ที่พร้อมจะก้าวเผชิญภัยทุกๆ เหตุการณ์ เพื่อวันที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต เฉกเช่น บุคคลที่แวดล้อมตัวเขา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.