บิ๊กซีเร่งแผนลดทุนสู้ภาวะฝืดทุ่ม3พันล.เปิด4แห่ง-รีโนเวตเพิ่มพลาซ่าโกยเงิน


ผู้จัดการรายวัน(3 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บิ๊กซี เปิดกลยุทธ์รุกปีจอ ตั้งเป้าโตระดับเดียวกับปีที่แล้วเปิดแผนลดต้นทุนสู้ภาวะเศรษฐกิจฝืด ปัจจัยลบเพียบ และต้นทุนพุ่ง ทุ่มงบ 3,000 ล้านบาทเปิด 4 สาขาใหม่ พร้อมรีโนเวต เพิ่มพื้นที่พลาซ่าหวังรายได้เพิ่มขึ้น หวั่นกฎหมายควบคุมค้าปลีกค้าส่งไม่ชัดเจน วางทิศขยายตัวลำบาก เผยปีที่แล้วรายได้ 5.3 หมื่นล้านบาท กำไร 1.8 พันล้าน

นางสาวรำภา คำหอมรื่น รองประธานฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2549 นี้บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะพยายามรักษาระดับการเติบโตทางด้านยอดขายให้ได้ประมาณ 10-12% ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของปีที่แล้ว

“ปีที่แล้วมีปัจจัยลบหลายอย่างทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงเช่น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคระวังการจับจ่ายใช้สอย ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น แต่บิ๊กซีก็ยังทำผลประกอบการได้เป็นที่น่าพอใจ และแม้ว่าปีนี้คาดว่าจะมีปัจจัยลบต่อเนื่องหลายประการก็ตามก็มั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ด้วยแผนงานที่เตรียมไว้”

ทั้งนี้ในปี 2548 บิ๊กซีมีผลประกอบการดังนี้ มียอดขาย 53,194.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีประมาณ 47,412 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.2% โดยในปี 2548 บิ๊กซีมีกำไร สุทธิ 1,882.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.6% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิปี 2547 ที่มี 1,601.1 ล้านบาท

ส่วนภาระหนี้สินนั้นมีเพียง 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้จากสถาบันการเงินในประเทศ 750 ล้านบาท และเงินกู้จากบริษัทแม่คือกลุ่มกาสิโน 750 ล้านบาท คาดว่าในปีหน้าจะสามารถชำระหนี้สินได้หมด

แนวทางการลงทุนบิ๊กซีมีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านต่างๆเพื่อเป็นการลดต้นทุนดำเนินการ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการกับลูกค้า ซึ่งจะมีทั้งการทำต่อเนื่องจากที่แล้วมาและแผนงานใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านต้นทุนพลังงานต่างๆ ซึ่งจากภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ได้ปรับปรุงระบบการขนส่งสินค้าไปยังสาขาทั่วประเทศใหม่ ซึ่งถือเป็นต้นทุน 55% ของต้นทุนด้านลอจิสติกส์ทั้งหมด ทำให้บิ๊กซีสามารถประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 5% แผนการเพิ่มพื้นที่ของศูนย์กระจายสินค้าที่วังน้อย เพื่อเก็บสินค้าให้ได้มากขึ้น จากเดิมมี 30,000 ตารางเมตร โดยในปีนี้จะเพิ่มอีก 10,000 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มบริการสินค้านอนฟู้ดเพิ่ม 20% และในปีหน้าจะเพิ่มอีก 10,000 ตารางเมตรรวมเป็น 50,000 ตารางเมตร เพิ่มบริการนอนฟู้ดอีก 50%

รวมทั้งการให้รถขนส่งสินค้าไปรับสินค้าจากโรงงานของซัปพลายเออร์ที่รถคันนั้นผ่านนแทนที่จะตีรถเปล่ากลับกรุงเทพฯ และร่วมกันออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่งกับซัปพลายเออร์นั้นๆ ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งคู่ หรือแม้แต่การลงทุนกว่า 109 ล้านบาท เพื่อปรับระบบไฟฟ้าต่างๆ สามารถประหยัดไฟได้ 35% โดยคาดว่าจะสามารถคืนเงินกลับมาประมาณ 38 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

ทุ่ม3พันล้านเพิ่มสาขา-รีโนเวต

นายประพันธ์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในปีนี้ตั้งงบประมาณลงทุนไว้ 3,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้วเป็นกระแสเงินสดหมุนเวียนของบริษัทฯแบ่งเป็นการเปิดสาขาใหม่จำนวน 4 แห่ง ประมาณ 2,000 ล้านบาท และงบรีโนเวตสาขาเดิม 1,000 ล้านบาททั้งในส่วนของซูเปอร์เซ็นเตอร์หรือทาวน์เซ็นเตอร์และพื้นที่ให้เช่า ต่างๆ

การปรับปรุงสาขาเดิมนั้น ปรกติแล้วจะคืนทุนจากเงินที่รีโนเวตไปประมาณ 3.5 ปี และจะสามารถทำเงินได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากเดิม เช่นสาขาที่จำทำในปีนี้คือ สาขาสุขาภิบาล 3 จะเพิ่มพื้นที่พลาซ่า ส่วนสาขาที่ราชดำริจะปรับโซนอาหาร ส่วนสาขาที่วงศ์สว่างจะปรับใหญ่พร้อมกับห้างเซ็นทรัล เป็นต้น

สำหรับสาขาใหม่ในปีนี้ จะเปิดที่จังหวัดแพร่ กลางปี เป็นรูปแบบ คอมแพ็ค พื้นที่ขายประมาณ 5,000 ตารางเมตร แต่จะพยายามเพิ่มพื้นที่เช่าพลาซ่าให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และเป็นการสร้างรายได้จากค่าเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย อีกสาขาอยู่ที่จังหวัดราชบุรีเปิดกลางปี เป็นแบบมาตรฐาน เนื่องจากมีคู่แข่งอย่างเทสโก้โลตัสเปิดบริการอยู่ก่อนแล้วในราชบุรี สาขานี้จะมีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ส่วนอีก 2 สาขานั้นจะเป็นรูปแบบสแตนดาร์ดคาดว่าจะเปิดปลายปีนี้

เมื่อปีที่แล้วบิ๊กซีเปิดสาขาใหม่จำนวน 5 แห่งคือที่ อ้อมใหญ่ เพชรเกษม สุขาภิบาล เอกมัย และสกลนคร และปรับปรุงสาขาเก่าประมาณ 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

“กฎหมายผังเมืองที่จะออกมาใหม่นั้นยังครอบคลุมไม่ถึง บางมีพื้นที่บางแห่งเปิดได้ บางแห่งอาจจะเปิดลำบาก แต่ในกทม.คาดว่าคงเต็มแล้ว การจะเปิดสโตร์ขนาดใหญ่แบบไฮเปอร์มาร์ตอีกนั้นคงยาก ผมกังวลอย่างเดียวคือ นโยบายของรัฐบาล เพราะว่ายังไม่มีความชัดเจนทำให้เราขยายสาขาและลงทุนลำบาก กฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งก็ยังไม่มีความชัดเจน ไม่มีอะไรคืบหน้า ขณะที่ปัญหาทางด้านการเมืองนั้นไม่มีผลกระทบอะไรกับธุรกิจค้าปลีกมากนัก”

นาวสาวจริยา จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร กล่าวว่า เป้าหมายการทำตลาดของบิ๊กซีคือ การรักษาฐานลูกค้าเก่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะการหาลูกค้าใหม่จะมีความยากกว่า อีกทั้งต้องพยายามทำให้ลูกค้าเดิมนั้นเกิดการซื้อมากขึ้น และรักษาความเป็นผู้นำด้านราคาให้ได้ ซึ่งก็จะเป็นผลมาจากการที่ลดต้นทุนต่างๆเพื่อทำให้ราคาขายสินค้าต่ำลง

“บิ๊กซีจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายพิเศษตลอดทั้งปี เพื่อสร้างยอดขายและสร้างแบรนด์รอยัลตี้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังมุ่งจำหน่ายสินค้าเฮาส์แบรนด์ภายใต้ยี่ห้อ ลีดเดอร์ไพรซ์ และ เฟิร์สไพรซ์ ด้วยรวมทั้งการเปิดตัวแบรนด์และสินค้าประเภทใหม่ๆให้มีความหลากหลาย”

ส่วนธุรกิจร้านลีดเดอร์ไพรซ์นั้นยังคงทำอยู่แต่ต้องมีการปรับตลอดเวลาเพื่อให้เหมาะสมที่สุด ปัจจุบันมี 5 สาขา สินค้าเฮาส์แบรนด์นั้นยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.