บลจ.อยุธยาจาร์ดีนเฟลมมิ่ง-น้องใหม่ บลจ.ที่มีแบ็คอัพแข็งแกร่งอย่างกลุ่มจาร์ดีน
เฟลมมิ่ง ฮ่องกง ทั้งเป็นผู้ถือหุ้นและฐานเครือข่ายข้อมูลเพื่อบริหารการลงทุนในภูมิภาคนี้
เริ่มเปิดตัวด้วยการออก 2 กองทุนใหม่โดยมีปันผลทั้งคู่ มุ่งเน้นขายนักลงทุนสถาบัน
ยังไม่เน้นเรื่องการระดมเงินมากนักในยามนี้ เพราะอยากให้นักลงทุนทำความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงให้ชัดเจนก่อน
ในยามที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความเข้มแข็งมั่นคงของธุรกิจสถาบันการเงินเสื่อมคลายลงทุกวัน
ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และสถาบันการเงินได้รับผลกระทบอย่างหนักในเวลานี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหรือบลจ.ก็ได้รับกระทบอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน
แต่สำหรับ บลจ.อยุธยาจาร์ดีนเฟลมมิ่ง (AJF) ผู้บริหารกลับมองว่านี่เป็นจังหวะดี
ที่จะได้ดูตัวอย่างจากผู้อื่น
เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ AJF กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "อุตสาหกรรมนี้ดูไปแล้วจะว่าหนักก็หนัก เบาก็เบา เพราะมีผู้เล่นอยู่แค่
13 คน ตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีเท่าไร ก็อาจจะดูว่าแข่งขันหนัก แต่เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการเงินอื่นๆ
ก็รุนแรงกว่านี้ กองทุนรวมเป็นธุรกิจใหม่ที่ผู้เล่นยังไม่มาก การที่เศรษฐกิจไม่ดีเป็นจังหวะที่ดีเพราะจะได้ดูรู้ว่าจะทำอะไร
ได้มองเห็นตัวอย่างของคนอื่นด้วย"
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ AJF ออกกองทุนครั้งแรกเมื่อ 14-16 ก.ค. นั้น บริษัทประสบปัญหาในการขายอยู่ไม่น้อย
เนื่องจากเป็นจังหวะที่มีการปิดกองทุนตราสารหนี้ของบลจ.บัวหลวง และตามมาด้วยการปิดกองทุนของค่ายอื่นๆ
เช่น ไทยเอเชีย วรรณอินเวสเม้นท์ เป็นต้น
"ตอนนั้นเราก็เลยขายลำบากหน่อย เพราะมีแต่ข่าวร้ายๆ แต่ผมก็มองว่าเหตุการณ์นั้นเป็นบทเรียนสอนใจที่ดีแก่นักลงทุนว่า
ไม่มีของฟรีในโลก การลงทุนต้องมีการเสี่ยงบ้าง หากไม่อยากเสี่ยงก็ต้องเอาเงินฝังตุ่มไว้ที่บ้าน"
เรืองวิทย์ กล่าว
AJF ออกกองทุนรวม 2 กองคือ กองทุนเปิดอยุธยาตราสารปันผล หรือ AJF Star
Income Fund เป็นกองทุนตราสารหนี้ มีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับตราสารแห่งหนี้และ/หรือเงินฝาก
ทั้งตราสารแห่งหนี้และ/หรือเงินฝากระยะสั้นเพื่อสภาพคล่องและตราสารแห่งหนี้และ/หรือเงินฝากระยะยาวเพื่อการลงทุน
โดยการลงทุนจะเน้นความสำคัญกับตราสารการลงทุนที่มีความมั่นคงและให้ผลตอบแทนที่ดี
กองทุนตราสารปันผลขายได้ประมาณ 1,100 ล้านบาทในช่วงเดือนก.ค. กองทุนนี้จะลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินต่างๆ
ในสัดส่วนดังนี้คือ (โปรดดูรายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนของบริษัท)
-ในหลักทรัพย์และตราสารแห่งหนี้ทุกประเภทของบริษัทใดบริษัทหนึ่งมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ
20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
- ในหลักทรัพย์และตราสารแห่งหนี้ทุกประเภทของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกันตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
กำหนด มีมูลค่ารวมกันไม่เกินร้อยละ 35 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
- ในตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะครบกำหนดชำระคืนไม่เกิน 1 ปี ซึ่งมีสถาบันการเงินหรือสถาบันสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์รับรองหรือรับอาวัล
และตั๋วเงินฯ ประเภทเดียวกันที่ออกโดยสถาบันสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์
มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
- ในหลักทรัพย์ที่ผู้ออกหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด
ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้เสนอขายหลักทรัพย์นั้นแก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง
มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 36 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
- ในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น ไม่เกินร้อยละ
5 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
อย่างไรก็ดี ในการลงทุนจริงนั้นเรืองวิทย์เน้นย้ำเรื่องความมั่นคงและสภาพคล่องสูงมากในยามนี้
"เราจะลงตราสารที่ออกโดยธนาคารเป็นส่วนใหญ่ และเป็นธนาคารต่างประเทศที่ออกในไทย
เช่น ตั๋ว B/E ที่อาวัลโดยซิตี้แบงก์ หรืออาจจะฝาก call กับแบงก์ต่างชาติ
เป็นต้น หรือลงทุนในบอนด์ เช่นของ HSBC ก็ดีแต่สภาพคล่องอาจจะน้อยไปหน่อยในตอนนี้
หรือบอนด์ของไทยออยล์ ของ KEGCO เป็นต้น อะไรก็ตามที่ไม่เสี่ยงและมีสภาพคล่องมากพอ"
ด้านกองทุนเปิดอยุธยาทุนทวีปันผล หรือ AJF Star Capital Fund เป็นกองทุนหุ้นทุน
มีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาทเช่นกัน ขายได้ประมาณ 246 ล้านบาทในช่วงเปิดขาย
ซึ่งเรืองวิทย์บอกว่าเป็นตัวเลขที่พอใจ เพราะช่วงนั้นมีปัญหามากทำให้การขายทำได้ยากยิ่ง
กองทุนหุ้นฯ มีนโยบายการลงทุนโดยเน้นการลงทุนระยะปานกลาง และมีระยะยาวในหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจสูงหรือมีปัจจัยพื้นฐานดี
โดยจะลงทุนในหุ้นทุนในสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 75 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
โดยอย่างน้อยร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนจะลงทุนในหุ้นทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
และส่วนที่เหลือจะลงทุนในประเภทของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น ในสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละช่วงเวลา
เรืองวิทย์กล่าวถึงนโยบายการลงทุนของเขาว่า "ในช่วงต้นนี้จะเน้นความมั่นคง
เน้นสภาพคล่อง เรื่องผลตอบแทนเป็นเรื่องรอง เพราะเราได้เห็นมาแล้วว่าในช่วงภาวะปัจจุบันมีความไม่แน่นอนมาก
ดังนั้นเราต้องการให้ผู้ถือหน่วยสบายใจมากกว่า มีความเสี่ยงน้อยที่สุดไว้ก่อน"
"การลงทุนในหุ้นตอนนี้เราระวังอย่างมาก ยังไม่ทุ่มเต็มที่ ค่อยๆ ดู
ค่อยๆ เก็บเอาเฉพาะตัวที่มั่นคงและมีผลกระทบน้อยจากเศรษฐกิจตกต่ำ ค่อยๆ เก็บเมื่อราคาถึงช่วงที่ซื้อได้"
กองทุนทั้งสองกองของ AJF มีนโยบายจ่ายปันผลในอัตราที่สูงมากคือร้อยละ 90
ของกำไรสุทธิประจำแต่ละงวดบัญชีที่จะจ่ายปันผล ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก เรืองวิทย์อธิบายว่า
"เพราะเราต้องการเน้นนักลงทุนสถาบันที่เราคิดว่าพวกเขามีความเข้าใจภาวะตลาดช่วงนี้มากกว่านักลงทุนรายบุคคล"
โครงสร้างการออกกองทุน ภายใต้ชื่อ "เอเจเอฟไทยแลนด์"
AJF มีแผนการออกกองทุนรวมทั้งหมดในลักษณะกองทุนหลัก และ กองทุนรอง โดยมีการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
ตั้งแต่กองทุนแรกว่าสามารถสับเปลี่ยนการถือหน่วยลงทุนภายในกลุ่มกองทุน "เอเจเอฟไทยแลนด์"
ได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนต่างๆ
เรืองวิทย์อธิบายว่าการให้สิทธิในการสับเปลี่ยนมีผลประโยชน์คือ "ทำให้การขายออกจากกองทุนหนึ่ง
เพื่อไปซื้ออีกกองทุนหนึ่งทำได้เร็วขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง"
ทั้งนี้ AJF จะออกกองทุนหลักรวม 6 กองได้แก่กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้
กองทุนผสมหรือ balance fund โดยเป็นกองทุนประเภทจ่ายเงินปันผลกับไม่จ่ายเงินปันผล
เขาให้ทัศนะเกี่ยวกับกองทุน money market ซึ่งเขาไม่คิดว่าจะเป็นประเภทหนึ่งในกองทุนหลักที่เขาจะสร้างว่า
"โดยลักษณะของกองทุนมันนี่มาร์เก็ตนั้นผมคิดว่ามันเป็นกองทุนที่อยู่ระหว่างทาง
คือคนที่มีเงินจะลงทุน ไม่ในหุ้นก็บอนด์ ซึ่งในช่วงระหว่างที่เขากำลังตัดสินใจว่าจะไปที่ไหนนั้น
เขาอาจจะพักเงินไว้ที่มันนี่มาร์เก็ตฟันด์ระยะหนึ่งก่อน ผมไม่คิดว่ากองทุนประเภทนี้จะเป็นกองทุนหลักที่เราสามารถขายได้เรื่อยๆ
ให้มันโตขึ้นโตขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้น"
ส่วนเรื่องกองทุนของ AJF ก็จะมีกองทุนประเภทที่เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เขาออกความเห็นว่า
"เราอาจจะสร้างกองทุน junk bond ขึ้นมาก็ได้ เพราะตอนนี้มี junk bond
อยู่เป็นจำนวนมากที่คนอยากจะเสี่ยงมากก็ซื้อได้ เช่นอาจจะซื้อบอนด์ของ บ.เอกโฮลดิ้ง
ที่ราคา 0 บาท แต่มีค่าเป็น 0 จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ พวกนี้เป็นกองทุนเสี่ยงมาก
เป็นต้น เอาไว้เล่นกับผู้ลงทุนหลายๆ กลุ่ม"
อย่างไรก็ดี เรืองวิทย์ยังไม่ยืนยันว่าภายในปีนี้เขาจะออกกองทุนใหม่มาอีกหรือไม่
"เราอาจจะเพิ่มอีก 1 กอง คือเรามองว่าน่าจะมี 3 กอง ภายในสิ้นปีนี้
หรืออาจจะเป็น 4 แล้วแต่สภาวะตลาด ขอดูก่อน" และเขายืนยันด้วยว่า เขาจะไม่ออกกองทุนย่อยๆ
ประเภทเลข 1, 2, 3 จะไม่มี หรือคงไม่มีกองทุนที่ใช้ชื่อคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
(ที่บลจ. ร่วมกับไฟแนนซ์) "เพราะเราไม่คิดว่าจะอยู่ได้นาน กลุ่มลูกค้าคงจะอยู่ที่ไฟแนนซ์
ซึ่งทำไปทำมาเดี๋ยวก็อาจจะต้องปิด"
เขาอ่านภาวะตลาดว่ายังไม่มีความชัดเจนอย่างยิ่ง "ไม่ว่าจะใช้มาตรการอะไรก็ยังไม่ดีขึ้นแน่จนถึงปลายปี
ผลของมันยังไม่แสดงออกในปีนี้แน่นอน อย่างเก่งก็น่าจะเป็นปีหน้า เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่าในปีหน้าก็อาจจะยังไม่ดี
แต่สภาวะดีหรือไม่ดีนั้น มันเป็นตัวบอกเรื่องการออกกองทุนเหมือนกัน เรามองว่าคนมีเงินนั้นมี
และเขาต้องการทางเลือก ทางเลือกของเขานั้นน้อยลงทุกวัน เราเป็นทางเลือกหนึ่งของเขา
เราจำเป็นต้องมีสินค้าให้นักลงทุนเพื่อให้เขาเลือก"
กลุ่มจาร์ดีนฯ ช่วยเหลือเต็มที่ ให้ข้อมูลบริหารกองทุน
บริษัท Jardine Fleming International Holding Ltd. ซึ่งเป็นกิจการในกลุ่มจาร์ดีน
เฟลมมิ่ง ในฮ่องกง โดยดูแลธุรกิจด้านการบริหารกองทุนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ
AJF ในสัดส่วน 25% เรืองวิทย์เล่าว่า JFIH ให้การสนับสนุนช่วยเหลือเยอะมาก
จาร์ดีน เฟลมมิ่งแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มที่ค่อนข้างจะแยกจากกัน มีธุรกิจที่ทำร่วมกันบ้าง
แต่ค่อนข้างจะน้อย ทั้งนี้ธุรกิจของ JF คือธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจบริหารกองทุน
ธุรกิจวาณิชธนกิจ และธนาคาร ทั้งหมดนี้การบริหารกองทุนเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดและทำกำไรให้กับเครือ
JF มากที่สุด
ในเมืองไทย กลุ่มธุรกิจโบรกเกอร์เข้ามาตั้งก่อนด้วยการร่วมทุนและใช้ชื่อว่า
บล.เจเอฟธนาคม กลุ่มธุรกิจกองทุนก็คือ AJF ซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา
และธนาคารฯ ก็ถือหุ้น 25% ด้วย
เรืองวิทย์กล่าวว่า "JF ช่วยเราในเรื่องการจัดหาข้อมูลการบริหารกองทุน
และวิธีการบริหารกองทุน ปัจจุบันเราถือว่าข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงทุน
และข้อมูลที่สำคัญที่สุดต้องมาจากต่างประเทศ เพราะว่าปริมาณการซื้อขายจากต่างประเทศถือเป็น
40% ของตลาด นี่คือในส่วนหุ้น ส่วนเรื่องตลาดเงินตลาดตราสารหนี้ มันจะมีน้ำหนักมากขึ้น
เพราะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย คนที่นั่งอยู่ในเมืองไทยคงจะเดาไม่ได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเท่าไร
เพราะว่าครั้งนี้เป็นลอยตัวแล้ว ซึ่งต้องดูมุมมองจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้เขาให้การสนับสนุนเราเต็มที่
ซึ่งผมกล้าพูดได้เลยว่า AJF แทบจะเป็น บลจ.ไม่กี่ราย ที่ใช้พาร์ตเนอร์ต่างประเทศคุ้มที่สุด
ทั้งนี้ AJF มีระบบการประชุมร่วมกันระหว่าง fund manager ของกลุ่ม JF ทั่วทั้งภูมิภาค
โดยทำในลักษณะ conference call เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารกองทุน "เราจะรู้มุมมองว่าตอนนี้เงินอยู่ที่ไหน
มาเลเซียเป็นอย่างไร สิงคโปร์เป็นอย่างไร อินโดนีเซีย มะนิลา อินเดีย ฮ่องกง
เป็นอย่างไร เราจะรู้ว่าวันนี้เงินไหลออกจากอเมริกามาที่เอเชียหรือเปล่า
หรือไหลกลับจากเอเชียไปที่อเมริกา หรือจากเอเชียไปยุโรป ซึ่งนี่เป็นการมองภาพกว้าง
ส่วนภาพแคบคือเงินที่ไหลเข้ามาที่เอเชียนั้นไปลงที่ไหน ทำไมเงินไม่เข้ามาที่เมืองไทย
และเมื่อไรจะเข้ามาที่เมืองไทย ต่างประเทศมองอย่างไร การที่เรานั่งอยู่ในเมืองไทยเราไม่รู้หรอก
หากไม่ใช่พาร์ตเนอร์ เราก็ต้องซื้อข้อมูลเหล่านี้ แต่ก็คงซื้อไม่ได้เพราะไม่รู้จะซื้อจากใคร"
เรืองวิทย์ภูมิใจในพาร์ตเนอร์ของเขามากว่า "คนที่มีข้อมูลเช่นนี้ควรเป็นคนที่มีประสบการณ์และมีข้อมูลในเอเชียมากพอควร
ซึ่งในเอเชียก็ไม่มีใครมีเท่า JF"
นอกจากนี้ JF ก็มีการบริหารกองทุนที่ลงทุนในประเทศไทยด้วย แต่แยกการบริหารกับ
AJF ไม่ได้ไปบริหารกองทุนนั้น "แต่อาจจะใช้ข้อมูลชุดเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องมีมุมมองต่อหุ้นตัวเดียวกันเหมือนกัน
ทว่ามุมมองในภาวะเศรษฐกิจกว้างๆ ควรเหมือนกัน เช่นเรื่องดอกเบี้ย เรื่องความเสี่ยงของหุ้นไฟแนนซ์
เป็นต้น"
กองทุนของ JF ที่ลงทุนในไทยมีชื่อว่า JF Thailand Trust ลงทุนในไทย 100%
และลงทุนมานาน 8-9 ปีแล้วได้ผลตอบแทนที่เป็นที่รับรองจากนักลงทุน