|
ศูนย์พยากรณ์หอการค้าประเมินการเมืองป่วนตัวเลขเศรษฐกิจโต
ผู้จัดการรายวัน(2 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนทางการเมืองออกเป็น 3 กรณี พบเศรษฐกิจจะขยายตัวดีสุด 4.4% จากเดิม 4.8% ถ้า เลือกตั้งภายใน 60 วันและได้รัฐบาลใหม่ หากตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล นายกรัฐมนตรีพระราชทาน เศรษฐกิจโต 4% แต่หากวุ่นวายจนเลือกตั้งไม่ได้ เศรษฐกิจจะตกเหลือ 3.5%
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้จัดทำการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2549 ภายใต้สถานการณ์ไม่แน่นอนทางการเมืองในปัจจุบันว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ การค้า การลงทุน และผู้บริโภค รวมทั้งกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศแล้วว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.8%
ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์แยกออกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญเดิมภายใน 60 วันและมีรัฐบาลชุดใหม่ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.4% โดยเศรษฐกิจจะชะลอตัวในช่วงครึ่งปีแรก ฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 4 จะขยายตัว 4.4% 4.1% 4.3% และ 5.0% ขณะที่โครงการเมกะโปรเจกต์จะเริ่มในไตรมาสที่ 4 ส่วนการส่งออกจะขยายตัว 13.3% นำเข้า 13.3% ดุลการค้าขาดดุล 9,615 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 5.0% ต่อจีดีพี ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 4,315 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุล 2.2% ของจีดีพี เงินเฟ้อ 3.8-4.3% ค่าเงินบาท 40.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
กรณีที่ 2 ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการเลือกตั้ง จนมีรัฐบาลชุดใหม่ เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.0% โดยเศรษฐกิจจะชะลอตัวในช่วง 3 ไตรมาสแรกและฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ถึง ไตรมาสที่ 4 คือ 4.3% 3.9% 3.7% และ 4.1% ขณะที่เมกะโปรเจกต์จะเริ่มกลางปี 2550 การส่งออกขยายตัว 13.3% นำเข้า 12.6% ดุลการค้าขาดดุล 8,844 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 4.0% ต่อจีดีพี ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 4,044 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.1% ต่อจีดีพี เงินเฟ้อ 3.6-4.1% ค่าเงินบาท 40.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
กรณีที่ 3 เกิดความรุนแรงจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์เลวร้ายสุด จะกระทบการทำเมกะโปรเจกต์ที่ต้องชะลอออกไป เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.5% โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 4 จะขยายตัว 4.1% 3.5% 3.2% และ 3.3% ส่งออกขยายตัว 11% นำเข้า 10.9% ดุลการค้าขาดดุล 9,387 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5.0% ต่อจีดีพี ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5,087 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 2.7% ต่อจีดีพี เงินเฟ้อ 3.3-3.8% ค่าเงินบาท 41.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
"ถ้าเป็นกรณีแรก เศรษฐกิจ การค้า การส่งออก ยังคงขยายตัวได้ดี หรือแม้แต่กรณีที่ 2 ก็ยังขยายตัวได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ 3 มองว่าเป็นวิกฤต บางประเทศอาจบอยคอตสินค้าไทย จนกระทบการส่งออก และที่สำคัญการท่องเที่ยวจะชะงัก ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น"นางเสาวณีย์กล่าว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง 1 % จากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ธุรกิจการนำเข้าสินค้าและบริการชะลอตัวลง 1.85% โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม สินค้าอุปโภคบริโภค การลงทุนชะลอตัว 1.21% เช่น ด้านก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ ธุรกิจบริโภคอุปโภค ชะลอตัวลง 0.96% ธุรกิจที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายของภาครัฐ ชะลอตัวลง 0.92%
ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ สถาบันการเงิน และภาคการก่อสร้าง จะชะลอตัวลง 1.79% และ 1.53% ตามลำดับ ปานกลาง คือ ประมง ลดลง 0.94% โรงแรม ภัตตาคาร 0.89% ภาคบริการ 0.81% ขนส่งและการคมนาคม 0.79% การค้าส่ง ค้าปลีก 0.71% ไฟฟ้าและประปา 0.63% ระดับต่ำ คือ เหมืองแร่และย่อยหิน 0.49% การผลิต 0.48% แม่บ้าน 0.31% การเกษตร 0.28% บริการชุมชน 0.27% อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการเช่น 0.14% และการศึกษา 0.04%
"ยิ่งการเมืองไม่แน่นอน มีผลต่อการค้า การลงทุน การบริโภค และจะลดลงมากกว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ถ้าการเมืองนิ่งเมื่อไร เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วขึ้นเท่านั้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็ง แต่ถ้ามีเหตุการณ์รุนแรง เศรษฐกิจจะยิ่งแย่ลง ซึ่งหวังว่าคงจะไม่เกิดขึ้น"นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทย ต้องพึ่งโครงการเมกะโปรเจกต์มาก เพราะถ้าเมกะโปรเจกต์ที่ล่าสุดมีมูลค่าโครงการประมาณ 2-3 แสนล้านบาทไม่เกิด จะทำให้จีดีพีลดลง 0.5-1% จึงเห็นว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ เพราะไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในระยะยาว ส่วนการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ก็คงต้องเดินหน้าต่อ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เห็นว่าควรแปรรูปต่อไป แต่วิธีการอาจไม่จำเป็นต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|