|

ขึ้นค่าไฟฟ้า-ค่าโดยสารดันเงินเฟ้อก.พ.พุ่ง5.6%
ผู้จัดการรายวัน(2 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เงินเฟ้อเดือนก.พ.เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 0.3% จากการขึ้นค่าไฟฟ้า และค่าโดยสาร แต่เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 5.6% โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนทั้งปี คาดยังอยู่ระหว่าง 3.5-4.5%
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) ในเดือนก.พ.2549 เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนม.ค.2549 เป็นเพราะดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.5% จากการเพิ่มขึ้นของค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนก.พ.ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) 19.01 สตางค์/หน่วย และค่าโดยสารธารณะ ทั้งค่ารถร่วมบริการในกรุงเทพเพิ่มขึ้น 1 บาท รถบขส.เพิ่มขึ้นอีก 3 สตางค์/กิโลเมตร และค่าโดยสารในภูมิภาคบางจังหวัดสูงขึ้นด้วย ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงเล็กน้อย เพราะราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลดลง ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่เปลี่ยนแปลง เพราะราคาอาหารสดต่างๆ ทั้งเนื้อหมู ไก่ ไข่ ปลา และผักสด มีราคาลดลง มีเพียงราคาผลไม้ และสัตว์น้ำที่ราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ เงินเฟ้อในเดือนก.พ.เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2548 เพิ่มขึ้น 5.6% ถือเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวลง เพราะเดือนม.ค.2549 เพิ่มขึ้น 5.9% ซึ่งเป็นผลจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 3.2% จากการสูงขึ้นของเนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ น้ำมันพืช ขณะที่ดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 7.1% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง 38.8% ค่าโดยสารสาธารณะ 26.7%
"เงินเฟ้อเดือนนี้เพิ่ม 0.3% เป็นเพราะหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ดึงให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเงินเฟ้อเมื่อเทียบเดือนกับเดือนก่อนหน้าในปีเดียวกันเพิ่มขึ้นเดือนละ 0.3% ก็ไม่น่าห่วง สบายใจได้ แต่เชื่อว่า หากเทียบเดือนเดียวกันของปีนี้กับปีก่อน ดัชนีจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 5.6-5.7% ไปจนถึงกลางปี จากนั้นจะเริ่มลดลง เพราะแรงกดดันต่างๆ เริ่มลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สถานการณ์การเมืองจะไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อแน่นอน" นายการุณกล่าว
ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% แต่ค่อนมาทาง 3.5% มากกว่า โดยอยู่บนสมมติฐานที่ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4.7-5.7% อัตราแลกเปลี่ยน 41 บาท/เหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วันเฉลี่ยทั้งปี 4.5% ค่าแรงงานขั้นต่ำ 190 บาท/วัน และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 55-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นางนทีทิพย์ ทองเขาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กล่าวว่า ค่าไฟฟ้ามีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อ 3% ถือว่าน้อยมาก ส่วนค่าเอฟทีที่ปรับขึ้น 19.01 สตางค์/หน่วยนั้น มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อน้อยมาก เพราะไม่ใช่ทุกบ้านที่ถูกเก็บเพิ่ม 19.01 สตางค์/หน่วย จะเสียเพิ่มเฉพาะบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่าหน่วยที่กำหนดเท่านั้น ส่วนปัญหาราคาน้ำตาลทราย ขณะนี้ เกือบจะไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อแล้ว เพราะปัญหาได้คลี่คลายลงมากแล้ว ซึ่งน้ำตาลทรายมีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อเพียง 0.01% เท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|