การลดค่าเงินบาทในปี 2540 ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของทัวร์ต่างประเทศ
หรือที่เรียกกันว่า "ทัวร์เอาต์บาวด์" แต่เป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ต่างประเทศ
ไม่สามารถต้านทานผลกระทบที่เกิดขึ้นพร้อมกับการตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างสุดขีดนี้ได้เป็นผลให้บริษัททัวร์กว่า
100 บริษัทต้องปิดตัวเอง หรือแม้แต่บริษัททัวร์ที่เคยมีรายได้จากทัวร์เอาต์บาวด์เกือบ
100% ก็ต้องพลิกแผนการตลาดรับสถานการณ์ใหม่ให้ทันท่วงทีจากรายได้ของทัวร์เอาต์บาวด์ที่ตกต่ำลงแทบจะเหลือไม่ถึง
10% ในปีนี้
ผลจากการประกาศลดค่าเงินบาท ธุรกิจที่ย่อมจะได้รับผลกระทบโดยตรง ก็คือกลุ่มธุรกิจที่มีการติดต่อกับต่างประเทศ
จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่วิกฤติค่าเงินบาทอ่อนตัวในปีนี้ จะเป็นวิกฤติของธุรกิจทัวร์เอาต์บาวด์ด้วยเช่นกัน
นวลจันทร์ เพียรธรรม ประธานกรรมการบริษัทเอ็นซีทัวร์ แอนด์ เอ็นเตอร์ไพรซ์
และบริษัทเอ็นซีทัวร์ทราเวิล เซ็นเตอร์ และนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว
คนล่าสุด ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2540 ที่ผ่านมา กล่าวถึงสถานการณ์ทัวร์เอาต์บาวด์ของเอ็นซีทัวร์ฯ
ว่า
เอ็นซีทัวร์ฯ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวมานานกว่า 20 ปี และมีรายได้หลักมาจากทัวร์เอาต์บาวด์ถึง
80% ในขณะที่เน้นโดเมสติก และอินบาวด์เพียงอย่างละ 10% ก็ต้องมีการปรับแผนการตลาดทันที
หลังจากที่มีการประกาศนโยบายเงินบาทลอยตัว โดยหันมาเน้นโดเมสติกและอินบาวด์หรือทัวร์ในประเทศมากขึ้น
หรืออาจจะเรียกได้ว่าต้องปรับแผนการตลาดไปโดยปริยาย เพราะยอดขายของทัวร์เอาต์บาวด์มียอดเหลือเพียง
10% เศษๆ จากการขายทัวร์หน้าร้านเท่านั้น
"ช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เรามีลูกค้าอยู่ประมาณ 4-5 กรุ๊ปเท่านั้น
กรุ๊ปหนึ่งประมาณ 20 คน แล้วก็มีของเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงอีก 14 กรุ๊ป เป็นกรุ๊ปทัวร์ที่จะไปไหว้พระ
แต่ก็คาดว่ารายได้ของปี 2540 ทั้งปี คงไม่ถึง 50% ของรายได้ปี 2539"
ทั้งนี้ นวลจันทร์ยังยอมรับว่า เอ็นซีฯ หรือบริษัทที่ทำทัวร์เอาต์บาวด์
ปั่นป่วนมาก ถึงขั้นเคลียร์หนี้ไม่ทันจากการประกาศเงินบาทลอยตัว จากที่ทำสัญญากันไว้ที่
25.6 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ก็พุ่งพรวดขึ้น 20-30% กว่าทัวร์จะออกเดินทางบริษัทก็ขาดทุนไปทันที
บางบริษัทที่ติดต่อกันในต่างประเทศ ก็มีส่วนลดให้เนื่องจากเห็นใจกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทของไทย
กลุ่มลูกค้าหลักของเอ็นซีฯ สำหรับทัวร์เอาต์บาวด์ คือกลุ่มข้าราชการ ซึ่งนวลจันทร์กล่าวว่า
อาจจะไม่ใช่ทุกบริษัททัวร์ที่มุ่งตลาดไปที่ข้าราชการ แต่สำหรับเอ็นซีฯ ข้าราชการเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
เพราะลูกค้าประจำ มีตั้งแต่กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทรวงมหาดไทย และอีกหลายกระทรวง
รวมทั้งวิทยาลัยการปกครอง คณะกรรมาธิการ
นอกจากค่าเงินบาทที่ต่ำลงอย่างรวดเร็วในช่วงนั้น กับคำสั่งที่ห้ามข้าราชการเดินทางไปต่างประเทศ
รวมทั้งพระภิกษุ ทำให้ตลาดทัวร์เอาต์บาวด์ของเอ็นซีฯ เข้าขั้นฝืดอย่างหนัก
รายได้จากที่เคยได้แบบไม่ตกลงของเอาต์บาวด์ในปี 2539 ซึ่งเริ่มมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมาบ้างแล้ว
จึงแทบจะไม่เหลืออีกเลยในปี 2540
"เราโชคร้ายมาก ตลาดหลักของทัวร์เอาต์บาวด์ของเอ็นซีฯ ถูกงดหมด ไม่ว่าจะเป็นทัวร์กลุ่มข้าราชการ
หรือทัวร์พระซึ่งเอ็นซีฯ เราถือเป็นเจ้าแม่ทัวร์ประเภทนี้ ก็ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศหมด"
นวลจันทร์กล่าว
สำหรับวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของเอ็นซีฯ ก็คือลดค่าใช้จ่ายต่อเดือน ให้ได้น้อยที่สุด
ประหยัดที่สุด ซึ่งตกเดือนละ 1.3 ล้านบาท ให้ต่ำที่สุด เพราะตอนนี้บริษัทมีรายได้แค่
10% หรือประมาณเดือนละ 1-2 แสนบาทของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ต้องให้ได้ 1.3 ล้านบาทจึงจะคุ้มทุน
ตอนนี้เอ็นซีทัวร์ จึงต้องเอากำไรจากปีที่แล้วประทังธุรกิจไป และต้องยอมขาดทุนสำหรับปี
2540
"ตอนนี้เราลดค่าใช้จ่ายได้เหลือเดือนละประมาณ 7 แสนบาท งดโฆษณาในหนังสือพิมพ์
เป็นการโฆษณาร่วมกับบริษัทอื่นในลักษณะคอนซอร์เทียม (หลายบริษัทรวมกันช่วยกันทำตลาดและการขาย)
และการให้พนักงานสลับกันหยุดคนละ 1 อาทิตย์และลดเงินเดือน ในขณะที่บางแห่ง
อาจจะปลดคนหรือลดเงินเดือนพนักงาน ให้หยุด 3 เดือนโดยไมจ่ายเงินเดือน แล้วแต่จะใช้วิธีไหน"
ภาวะวิกฤติเช่นนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหลายราย ก็ยอมรับว่ามีการคุยกันเพื่อแก้ปัญหา
แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีอะไรดีขึ้นสำหรับทัวร์ต่างประเทศ เพราะกลุ่มข้าราชการ
กลุ่มพระภิกษุ ทั้งสองกลุ่มต้องตัดไปเลย ผู้ประกอบการทัวร์ไม่สามารถร้องเรียนเรื่องไม่ให้ทั้งสองกลุ่มนี้เดินทางได้
บริษัทต้องยอมรับโดยดุษณีที่กลุ่มลูกค้าสองกลุ่มนี้จะหายไปชนิดที่ยังไม่มีกำหนด
ในขณะที่ฝ่ายภาคเอกชนก็เก็บเงินและประหยัดค่าใช้จ่ายกันอย่างเต็มกำลังเช่นกัน
ส่วนใหญ่จึงหันมาทำโดเมสติกมากขึ้น ซึ่งเข้ากับเน้นการสนองนโยบาย Amazing
Thailand ไปพร้อมๆ กัน มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการทัวร์เน้นทัวร์ในประเทศให้มากขึ้น
รวมถึงทัวร์จากต่างประเทศด้วย
"เมื่อทำทัวร์ต่างประเทศไม่ได้สำหรับเอ็นซีฯ ก็ใช้วิธีหันมาโปรโมตทัวร์ในประเทศให้มากขึ้น
รวมทั้งอินบาวด์ด้วย เป็นการปรับเปลี่ยนที่ทำได้ไม่ยาก เพราะทัวร์ในประเทศเราก็ทำกันมาอยู่แล้ว
เพียงแต่ช่วงที่ทัวร์เอาต์บาวด์บูมมาก เราก็หันเน้นเอาต์บาวด์เพราะมูลค่าสูงกว่า
อย่างในประเทศลูกค้าหัวละ 3,000 บาท ต่างประเทศก็อาจจะหัวละ 10,000 บาท รายได้สูงกว่า"
ผู้บริหารบริษัทเอ็นซีทัวร์ กล่าว
สำหรับทัวร์อินบาวด์ ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ทัวร์เอาต์บาวด์จะมุ่งมาหาตลาดนี้กันมาก
ผู้บริหารของเอ็นซีทัวร์ก็บอกว่า ตลาดนี้แม้จะดีกว่าก็จริง แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
เพราะการที่ค่าเงินบาทถูกลงมาก ทำให้ต่างชาติซึ่งได้รับการเชิญชวนให้มาเที่ยวเมืองไทยในช่วงที่ค่าเงินถูก
ก็พยายามจะกดราคาให้ถูกลงไปอีก โดยไม่ได้คำนึงว่าบริษัททัวร์จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
ทั้งค่าใช้จ่ายในการประสานงานกับเอเยนซีต่างประเทศหรือภาษีที่ปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นตลาดที่ยังพอมีความหวังหลายบริษัทที่เคยทำเอาต์บาวด์เป็นหลัก
ก็เร่งส่งพนักงานขาย ส่งจดหมาย และใช้กลยุทธ์ทุกวิธีที่จะเร่งหารายได้ชดเชยจากตลาดนี้
ตลาดโดเมสติก อีกตลาดที่เป็นเป้าหมายรายได้ที่ให้ความสำคัญมากขึ้นในปีนี้ของบริษัททัวร์ทั้งหลาย
ก็เป็นที่รู้กันดีว่าแม้จะเน้นสักเท่าไรก็ยังเป็นตลาดที่ไม่สามารถทำรายได้ได้เท่ากับทัวร์เอาต์บาวด์
แต่ก็เป็นเรื่องที่ทุกบริษัทต้องทำเพราะดีกว่าอยู่เฉยแล้วปลดพนักงานเพราะไม่มีงานให้ทำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอ็นซีทัวร์ ซึ่งไม่เคยถึงกับต้องทำคอนซอร์เทียมโดเมสติก
ก็ต้องเริ่มมาทำในปีนี้ และเปิดบริษัท ธัชชนก เพื่อทำมัธยัสถ์ทัวร์ จับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางลงไปอีกด้วย
โดยคาดว่าจะมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยในปีนี้หลังจากที่เปิดในปีนี้ เพราะคนจะเริ่มเที่ยวกันมากเหมือนเดิมจากที่ต้องอั้นค่าใช้จ่ายและเก็บเงินไว้นาน
"มัธยัสถ์ทัวร์จะทำทั้งโดเมสติกกับเอาต์บาวด์ เรามั่นใจว่าเราทำตลาดนี้ได้
แม้จะไม่เคยทำมาก่อน แต่เราก็มีประสบการณ์มากพอที่จะทำ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าเราจะเลือกตลาดไหน
เมื่อเราจะเลือกตลาดที่ต่างออกไป เราก็เลยต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา เพื่อแยกจากเอ็นซีฯ
ซึ่งเป็นทัวร์ระดับเฟิร์สคลาส ซึ่งเราจะเอาชื่อที่คนติดในระดับนั้นแล้วมาทำในระดับที่ต่ำลงไม่ได้"
นวลจันทร์กล่าวทิ้งท้าย
ทางด้านบริษัทเพรสซิเด้น ทัวร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เปิดดำเนินงานธุรกิจท่องเที่ยวมากว่า
20 ปี และเป็นบริษัทแรกที่เริ่มทำทัวร์เอาต์บาวด์ ก็เป็นอีกบริษัทที่ไม่สามารถต้านทานผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจทัวร์ในช่วงนี้
ปิติ สุขะกุล ประธานกรรมการของบริษัทเพรสซิเด้นทัวร์ ถึงกับต้องออกมาเร่งหามาตรการป้องกันวิกฤติทัวร์เอาต์บาวด์โดยด่วน
เพราะจากตัวเลขการขายทัวร์เอาต์บาวด์ของเพรสซิเด้นทัวร์ ในช่วง 3 เดือนล่าสุด
ที่ค่าเงินบาทลดต่ำลง คือช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2540 ผลปรากฏว่า แทบไม่มียอดจองทัวร์ต่างประเทศเข้ามาเลย
ทำให้เพรสซิเด้นทัวร์ต้องเริ่มนำงบสำรองออกมาใช้ในการดำเนินการ ซึ่งประธานกรรมการของบริษัทเพรสซิเด้นทัวร์
ก็ยังได้ให้ข้อแนะนำกับผู้ประกอบการทัวร์ว่าการแก้ปัญหาทางหนึ่งที่น่าจะไปได้ดีคือ
บริษัททัวร์จะต้องหันมาร่วมมือกันทางการตลาดไม่ว่าจะเป็นการปรับราคาขายทัวร์ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก
15-20% เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนที่สูงขึ้น
เพราะในช่วงที่ทัวร์เอาต์บาวด์บูมมากๆ มีบริษัททัวร์เพิ่มขึ้นมามาก ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา
และผู้ประกอบการทัวร์ต่างประเทศบางรายก็เชื่อว่าสาเหตุดังกล่าวทำให้ธุรกิจทัวร์เริ่มตกต่ำลง
นอกเหนือจากนโยบายเงินบาทลอยตัว ก็คือการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในช่วงที่ธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศบูมมาก
ในช่วงประมาณปี 2535-2536 ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางออกนอกประเทศเพิ่มขึ้นสูงสุดปีละประมาณ
26% และ 20% ตามลำดับ พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของบริษัททัวร์รายใหม่ จนเริ่มมาส่ออาการระส่ำระสายกันในช่วงปี
2539 ที่เศรษฐกิจเริ่มถดถอย
ในประเด็น เถกิง สวาสดิพันธ์ เจ้าของบริษัทเถกิงทัวร์ และอดีตนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว
(ทีทีเอเอ) ซึ่งเพิ่งหมดวาระไป กล่าวว่า ทัวร์เอาต์บาวด์เริ่มเจอปัญหายอดตกลงกว่าครึ่ง
ตั้งแต่ปี 2539 และเริ่มมีบริษัททัวร์ที่ทำทัวร์ต่างประเทศปิดไปนับ 10 บริษัท
ตั้งแต่ตอนต้น
รวมทั้งบริษัททัวร์ที่เหลืออยู่ก็มีการตัดราคากันจนไร้คุณภาพ ซึ่งผิดกับหัวใจหลักของผู้ดำเนินการธุรกิจท่องเที่ยว
ที่ต้องเน้นในเรื่องของมาตรฐาน คุณภาพ และการให้บริการกับลูกค้า ซึ่งเถกิงเชื่อว่าการที่ไกด์แยกตัวไปทำบริษัททัวร์เองจำนวนมาก
ก็มีส่วนทำให้ตลาดเสียด้วยเช่นกัน
ยอดขายทัวร์เอาต์บาวด์ของเถกิงทัวร์เองก็เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2539 โดยลดลงจากปี
2538 ประมาณ 20% และในปี 2539 ที่ผ่านมา รายได้จากทัวร์เอาต์บาวด์ของตลาดรวมก็ลดลง
ประมาณ 50% ทั้งที่ยังไม่มีเรื่องของค่าเงินบาทลอยตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง
"เหตุผลที่รายได้ของทัวร์เอาต์บาวด์ลดลงในช่วงปี 2539 ซึ่งยังไม่มีการประกาศลดค่าเงินบาท
เนื่องมาจากการที่มีบริษัททัวร์รายเล็กๆ เกิดขึ้นในตลาด ซึ่งมีมาก่อนหน้านั้นปีสองปี
เป็นจำนวนนับร้อยบริษัท ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดทัวร์เอาต์บาวด์ซึ่งร้อนแรงมากในช่วงตั้งแต่ปี
2534 เป็นต้นมา ที่คนไทยไม่นิยมเที่ยวในประเทศจนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องออกมาช่วยกันรณรงค์ให้ไทยเที่ยวไทย"
ผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์รายหนึ่งกล่าว
ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตำต่ำที่มีผลกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2539
นอกจากจะทำให้บริษัททัวร์ส่วนใหญ่มียอดขายลดลง และหันไปแก้ปัญหาด้วยการทำคอนซอร์เทียม
หรือหันไปเจาะตลาดประเภทอินเซนทีฟ (การท่องเที่ยวประเภทบำเหน็จรางวัล) แล้ว
ผลกระทบที่ได้ยังทำให้มัคคุเทศก์อิสระตกงานเป็นจำนวนมาก บริษัททัวร์ส่วนใหญ่ตัดค่าใช้จ่ายให้เหลือน้อยที่สุด
และมีบริษัทที่ทำทัวร์เอาต์บาวด์กว่า 300 บริษัท ปิดไปแล้วกว่าครึ่ง
"การที่บอกว่าบริษัทที่ทำทัวร์เอาต์บาวด์ปิดไปแล้วกว่าครึ่ง แม้จะไม่มีตัวเลขยืนยันแน่นอน
แต่ก็เชื่อได้ว่าจริงเพราะเป็นการประมาณการจากคนที่อยู่ในธุรกิจนี้ที่ได้รับฟังรับรู้
และเห็นอยู่ทุกวัน" นวลจันทร์ ผู้บริหารของเอ็นซีทัวร์ กล่าว
ที่สำคัญ จากนี้ไปหากบริษัททัวร์รายใด ไม่มีสายป่านที่ยาวพอ ก็คงจะลำบากที่สุด
แต่ก็มีคำแนะนำจากผู้ประกอบการทัวร์รายใหญ่อย่างเอ็นซีทัวร์ว่า ถ้าทนและทู่ซี้ให้ผ่านสิ้นปี
2541 ไปได้ บริษัทนั้นก็อยู่รอด
ผู้ประกอบการทัวร์หลายรายก็มีความเห็นเช่นเดียวกับผู้บริหารของเอ็นซีทัวร์เพราะคาดการณ์กันว่าถึงสิ้นปี
2541 เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นบ้าง และแม้ว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับใดก็คงจะทรงตัวอยู่ได้
รวมทั้งนักท่องเที่ยวเองก็คงไม่มีใครทนเก็บตัวอยู่แต่ในประเทศ หรือแม้แต่นโยบายรัฐก็คงจะผ่อนปรนให้ข้าราชการและพระภิกษุเดินทางไปต่างประเทศได้ตามปกติ
เพราะการเก็บตัวเองอยู่แต่ในประเทศหรือที่ที่เดียว คงไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นทั้งต่อตัวเองและประเทศเป็นแน่
สมชาย ชมระกา ประธานบริษัท วีคเอนด์ทัวร์ อีกบริษัทที่มีผลงานทัวร์เอาต์บาวด์ที่เป็นที่รู้จักกันดี
ก็ยังต้องปรับตัวตามกระแสโดยปรับแผนมามุ่งเน้นตลาดอินบาวด์กับโดเมสติกหรือทัวร์ในประเทศมากขึ้น
ซึ่งประธานบริษัทวีคเอนด์ทัวร์เห็นว่า ทางรอดอีกทางของทัวร์เอาต์บาวด์ที่ทำได้
คือเน้นขายแบบคอนซอรืเทียมเจาะกลุ่มบริษัทหรือองค์กรเป็นหลัก แม้จะรู้ดีว่าการเน้น
2 กลุ่มนี้ในช่วงนี้ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่บริษัททัวร์ได้รับไปเต็มๆ
เพราะภาคเอกชนเองก็เดินทางลดลง ลดค่าใช้จ่าย และพยายามเก็บเงินสดกันมากกว่าจะเอาออกมาใช้
ขณะเดียวกับที่ราชการห้ามเดินทาง
กรณีการทำคอนซอร์เทียม เป็นทางหนึ่งที่ช่วยได้เพราะในช่วงภาวะเช่นนี้ ถ้าบริษัทหนึ่งต้องขายทัวร์ที่ต้องได้ลูกค้า
20-30 คน เป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าหลายบริษัทช่วยกันคนละ 2-3 คน รวมกันได้
15-20 คนก็พอจะเป็นไปได้ตอนนี้คอนซอร์เทียมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งเอาต์บาวด์และโดเมสติก
ซึ่งบางบริษัทอาจไม่เคยทำคอนซอร์เทียมสำหรับโดเมสติกมาก่อน ก็ต้องมาเริ่มทำในช่วงนี้
รวมถึงการลงขันลงโฆษณาร่วมกันเท่าที่จำเป็นด้วย
จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์ในช่วงนี้ เพราะผู้ประกอบการทัวร์ถือว่าเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะต้องเสียเงินเป็นล้านๆ
บาท โดยที่ไม่มีตอบกลับจากการซื้อทัวร์ของลูกค้า
สำหรับวีคเอนด์ทัวร์ เดิมเน้นตลาดทัวร์เอาต์บาวด์ 70% ทัวร์ในประเทศหรือโดเมสติก
20% และทัวร์จากต่างประเทศเข้ามาหรืออินบาวด์ 10% ก็ปรับใหม่เป็นลดตลาดทัวร์เอาต์บาวด์เหลือเพียง
40% ที่เหลือเน้นทัวร์ในประเทศและอินบาวด์เพิ่มขึ้นอย่างละ 30%
"เราจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดเอาต์บาวด์อย่างเดียงคงลำบาก เพราะนโยบายของรัฐบาลเองก็มุ่งสกัดไม่ให้คนออกนอกประเทศ
โดยส่งเสริมการเที่ยวไทยแทน เราเลยเพิ่มสัดส่วนมาเป็นตรงส่วนที่จะเป็นไปได้มากขึ้น"
ทางด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักของบริษัทธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหลายก็ได้ออกมายืนยันตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นวิกฤติของทัวร์เอาต์บาวด์
ในครั้งนี้ เพราะจากตัวเลขไตรมาสแรกของปี 2540 มีคนไทยเดินทางออกนอกประเทศเพิ่มขึ้นไม่ถึง
1% จากช่วงเดียวกันของปี 2539
โดยในปี 2539 มีคนไทยเดินทางออกนอกประเทศจำนวน 413,439 คนและจำนวน 413,450
คน ในปี 2540 แต่ถึงจะมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นของคนเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง
แต่การใช้จ่ายก็ไม่ได้ลดลงไปตามปริมาณคน เพราะจากนโยบายเงินบาทลอยตัว ทำให้คนไทยต้องใช้ค่าเงินบาทที่ถูกลงในปริมาณที่มากขึ้น
ข้อสรุปของธุรกิจทัวร์เอาต์บาวด์ในปัจจุบัน คำว่า "วิกฤติ" คงจะเป็นคำที่เหมาะกับการบรรยายภาพธุรกิจนี้ได้ดีที่สุด
เพราะหากมีใครทำทัวร์เอาต์บาวด์แล้วบอกว่าได้กำไรในช่วงนี้ เชื่อได้เลยว่าเขา
"โม้"