พรีเมียร์ เกีย มอเตอร์ ทำได้แค่เฝ้ารอเท่านั้น

โดย สันทิฎฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

เกีย กรุ๊ป แห่งเกาหลีใต้ กำลังระส่ำอย่างหนัก การฟื้นสถานการณ ์เพื่อให้รอดพ้นจากการล้มละลาย เป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง ความน่าตระหนกคืบคลานมายังผู้ค้าในไทย พรีเมียร์ เกีย มอเตอร์ ต้องรับชะตากรรม ที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ หนักขึ้นไปอีกเมื่อมาเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่อย่างที่สุด "เอ็มดีใหม่" อย่างสุรัตน์ ทำได้เพียงแค่นั่งรอ ทั้งๆ ที่แผนงานเพื่อการรุกได้ถูกกำหนดไปแล้ว พรีเมียร์ กรุ๊ป เหมือนถูกฟ้าแกล้งไม่ให้ได้ใหญ่ในวงการนี้ นับเป็นจังหวะก้าวที่ไร้โชคเอามากๆ สำหรับบริษัท พรีเมียร์ เกีย มอเตอร์ จำกัด เพราะหลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามในปีแรกของการเปิดตลาดรถยนต์ในเมืองไทย โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ออฟโรดพันธุ์แท้ขนาดเล็กจนกลายเป็นผู้นำของตลาดนี้พร้อมกับชื่อเสียง และการยอมรับ

แต่แผนงานการบุกตลาดอย่างต่อเนื่องในปีที่สอง กลับต้องสะดุดหยุดนิ่ง แม้ว่าได้เตรียมการอย่างรอบด้านไว้แล้ว

เป็นการหยุดนิ่ง เพราะปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น ซึ่งพรีเมียร์ เกียฯ ไม่อาจควบคุมได้ไม่ว่าพรีเมียร์ กรุ๊ป จะยิ่งใหญ่แค่ไหน และไม่ว่า วิเชียร พงศธร ได้ปรารถนาอย่างแรงกล้าเพียงใดที่จะก้าวขึ้นมาผงาดในยุทธจักรนี้ให้ได้

ตลาดรถยนต์เมืองไทยไม่อาจต้านทานกระแสเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำอย่างวิกฤติที่สุดคือปัจจัยประการแรก

ประการที่สองเพราะ เกีย มอเตอร์ แห่งเกาหลีใต้ ผู้ผลิตรถยนต์ต้นสังกัด กำลังเผชิญมรสุมที่หนักหนาสาหัส และอยู่ในระหว่างกอบกู้สถานการณ์เพื่อไม่ให้ล้มละลาย

สองปัจจัยนี้ สำคัญยิ่งนัก และมากพอที่จะทำให้อนาคตของพรีเมียร์ เกียฯ ดูมืดมน ไร้ทางออก

การทำตลาดรถยนต์เกียในเมืองไทย อาจจะต้องปิดฉากลงในเวลาอันแสนสั้น กระนั้นหรือ !?

"ได้คุยกับคุณวิเชียรแล้ว ซึ่งยืนยันว่าถึงยังไงก็ต้องทำต่อไป" สุรัตน์ หาญเมธีคุณา กรรมการผู้จัดการของพรีเมียร์ เกียฯ กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่นถึงความตั้งใจของวิเชียร พงศธร แห่งพรีเมียร์ กรุ๊ป

พร้อมกับย้ำว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้ทำให้บริษัทจำเป็นต้องหยุดแผนงานที่วางไว้เมื่อต้นปี แต่เป็นการหยุดเพื่อรอให้สถานการณ์กลับมาเอื้ออำนวยอีกครั้ง ไม่ใช่การล้มโครงการ

"เราจำเป็นต้องชะลอออกไปก่อน และจะกลับมาเริ่มต้นตามแผนงานเมื่อไรนั้น ก็คงต้องดูในเรื่องของเศรษฐกิจของไทยว่า จะเริ่มชัดเจนตอนไหน กับสถานการณ์ของเกีย มอเตอร์ ว่าหลังจากแก้ไขปัญหาแล้วจะเป็นอย่างไร" สุรัตน์กล่าวถึงสองปัจจัยหลักที่เป็นเหตุจำเป็นทำให้ต้องชะลอแผนงานต่างๆ ออกไป

แต่ถามว่าแผนงานต้องชะลอออกไปนานแค่ไหน

สุรัตน์ ยังไม่กล้าให้คำตอบที่ชัดเจน เพราะถ้าลำพังสถานการณ์ของเกีย มอเตอร์ แห่งเกาหลีใต้ ก็คงใช้เวลาไม่นานนัก แต่เมื่อมาเจอคำถามที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งเมื่อใดนั้น แน่นอนว่าย่อมไม่มีใครคาดเดาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

อาจจะหนึ่งปีสองปีหรือมากกว่านั้นแล้วพรีเมียร์ เกียฯ จะสามารถดำรงสถานภาพทางธุรกิจได้นานแค่ไหน ยิ่งสถานการณ์เช่นนี้ความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือเกื้อหนุนดีลเลอร์ทั้ง 30 ราย ด้วยการแบกรับภาระในด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้เหล่าดีลเลอร์ถอดใจ และถอนตัวกลางคัน ยิ่งเป็นแรงบีบสำคัญอีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่เฉพาะ พรีเมียร์ เกียฯ เท่านั้นที่กำลังประสบปัยหานี้อยู่ เพียงแต่ว่า พรีเมีย เกียฯ ดูจะหนักกว่า

"ปีที่แล้วบริษัทกำไรประมาณ 5 ล้านบาท แต่ปีนี้ถ้าไม่ขาดทุนก็ถือว่าดีแล้ว และมาถึงตรงนี้เราคิดว่าคงจะไม่ขาดทุนในปีนี้ ส่วนปีต่อๆ ไปคิดว่าคงอยู่ได้แต่ก็ต้องลำบากพอดู"

ความยากลำบากของพรีเมียร์ เกียฯ นั้นนอกจากแผนงานที่ต้องชะลอออกไปแล้ว ในสถานการณ์ปัจจุบันยังต้องพบกับอุปสรรคในการระบายสินค้า เพราะเนื่องจากเป็นรถยนต์ยี่ห้อใหม่ ไฟแนนซ์ส่วนใหญ่จึงต้องเข้มงวดในเรื่องเงินดาวน์ของลูกค้า ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไฟแนนซ์จำนวนมากถูกสั่งระงับการดำเนินธุรกรรมการเงินด้วยแล้ว ทำให้เงินดาวน์สำหรับรถยนต์เกียถูกกำหนดไว้สูงถึง 40% ของราคาจำหน่ายเลยทีเดียว

การที่ลูกค้าจำเป็นจะต้องหาเงินดาวน์ในจำนวนที่สูง และเข้มงวดในรายละเอียดต่างๆ ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมากในตลาด ได้ทำให้การจำหน่ายรถยนต์เกียมีปริมาณเพียงน้อยนิดในช่วง 8 เดือนของปีนี้

จำนวนเพียงน้อยนิดที่เป็นอยู่นั้นทำให้ไม่ต้องพูดถึงเป้าหมายของพรีเมียร์ เกียฯ ในปีนี้เลยว่าจะเป็นอย่างไร

ในปี 2539 ซึ่งถือเป็นปีแรกของการทำตลาดในไทยนั้น ยอดจำหน่ายรถยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 2,640 คัน แบ่งเป็นเกีย สปอร์ตเทจ 2,429 คัน และรุ่นซีเฟีย 211 คัน

จากยอดจำหน่ายดังกล่าวนั้น ได้ทำให้รถยนต์ออฟโรดขนาดเล็กอย่างสปอร์ตเทจกลายเป็นจ่าฝูงของตลาดออฟโรดไทยเลยทีเดียว เพราะเป็นรถยนต์ออฟโรดขนาดเล็กที่เข้ามาเสริมช่องว่างของตลาดที่เหมาะสมที่สุดพร้อมด้วยราคาที่น่าสนใจอย่างมาก ซึ่งจะว่าไปแล้วยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นถือเป็นความประหลาดใจของ พรีเมียร์ เกียฯ อย่างมาก เพราะในแผนการเปิดตลาดนั้นจุดที่เน้นก็คือการเปิดตลาดรถยนต์นั่ง แต่พอเอาเข้าจริงเก๋งอย่างซีเฟียกลับไม่ได้สะกิดตลาดเลยแม้แต่น้อย

ปลายปี 2539 ทีมผู้บริหารของพรีเมียร์ เกียฯ จึงเน้นการทำตลาดไปที่ออฟโรดอย่างสปอร์ตเทจ ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่จะมุ่งไปทางด้านนี้ เพราะถือว่าสถานการณ์ได้เป็นไปอย่างนั้นแล้ว อย่างไรก็ดี แผนงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็ได้ถูกวางไว้เช่นกัน เพียงแต่ว่าสปอร์ตเทจจะเป็นสัญลักษณ์ขององค์กร

ครั้งนั้นเป้าหมายในปี 2540 ได้วางไว้ว่ายอดจำหน่ายสปอร์ตเทจ อยู่ที่ 3,800 คัน โดยเป็นสปอร์ตเทจ เกียร์ธรรมดา 1,000 คัน และเกียร์อัตโนมัติ ที่เพิ่งส่งเข้าตลาด เมื่อเดือนธันวาคม 2539 เป็นจำนวนมากถึง 2,800 คัน ส่วนตลาดของเก๋งนั้นวางไว้ 1,200 คัน โดยเป็นเก๋งซีเฟียเดิม 200 คัน และซีเฟียใหม่ (ลีโอ) ซึ่งเป็นรถยนต์ 5 ประตู เครื่องยนต์ 1500 ซีซี อีก 1,000 คัน

แต่เมื่อผ่าน 6 เดือนแรกของปี 2540 ออฟโรดสปอร์ตเทจ กลับมียอดจำหน่ายเพียง 634 คัน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเป็นยอดจำหน่ายของรุ่นเกียร์ธรรมดา 373 คัน เกียร์อัตโนมัติเพียง 261 คัน ซึ่งแน่นอนว่าตำแหน่งผู้นำตลาดนี้ได้สูญเสียไปแล้ว

ครั้งนั้นผู้บริหารชุดเดิมมั่นใจว่า หลังจากเปิดตัวสปอร์ตเทจ เกียร์อัตโนมัติแล้วจะสามารถสร้างตลาดในส่วนนี้ได้มากกว่าเกียร์ธรรมดา แต่เนื่องจากราคาจำหน่ายของรุ่นเกียร์อัตโนมัติค่อนข้างสูง จึงเท่ากับว่าจุดขายที่สำคัญมาแต่แรกได้หดหายไปเสียแล้ว

นอกจากนี้ คู่แข่งได้ส่งสินค้าเข้ามาแข่งในตลาดมากขึ้นผิดกับปีแรก ไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า ซีอาร์วี ซึ่งได้กลายเป็นจ่าฝูงของตลาดนี้ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา

หรือกระทั่งรถยนต์ปิกอัพรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งสุรัตน์ก็ยอมรับว่าการที่มีคู่แข่งในตลาดมากขึ้นทำให้สปอร์ตเทจได้รับความสนใจลดลงไปมาก

ยอดจำหน่าย 8 เดือนแรกของปีนี้ (2540) เกียสปอร์ตเทจ จำหน่ายได้เพียง 749 คัน และเก๋งซีเฟียเพียง 66 คันเท่านั้น ส่วนซีเฟีย 5 ประตู ที่วางแผนว่าจะนำเข้ามาจำหน่ายนั้น ที่สุดแล้วก็ต้องล้มเลิกไป

ไม่เพียงแต่การนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเข้ามาขยายตลาดให้หลายหลากขึ้น เช่น ต้นปี 2541 จะเปิดตัวแกรนด์สปอร์ตเทจ ซีเฟีย 2 และรถตู้อีกหนึ่งรุ่น จะต้องชะลอออกไปก่อนแล้ว แผนการลงทุนในการประกอบในประเทศไทยในหลายโมเดล ที่คาดว่าจะสามารถสร้างกระแสได้เสมือนเมื่อครั้งสปอร์ตเทจได้ปลุกกระแสออฟโรดขนาดเล็กจนโด่งดังมาแล้วนั้น ก็คงต้องชะลอออกไปเช่นกัน ดังที่รัตน์ได้กล่าวเมื่อตอนต้น

สุรัตน์ได้กล่าวได้อย่างหมายมั่นเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่พรีเมียร์ เกียฯ ใหม่ๆ ด้วยการประกาศว่าภายใน 2 ปีจะขอก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำตลาดรถเกาหลีในไทย ด้วยมุ่งหวังไปที่แผนงานการประกอบในประเทศ และการเปิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น

แผนงานครั้งนั้นกำหนดว่า พรีเมียร์ เกียฯ จะว่าจ้างให้โรงงานที่รับจ้างประกอบรถยนต์ในไทยที่มีคุณภาพทำการประกอบรถออฟโรด สปอร์ตเทจ ในกลางปี 2541 ตามด้วยรถบรรทุกขนาดตันครึ่ง "เซเรส" ชูจุดขายด้านขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคาเริ่มต้นไม่เกิน 4 แสนบาท ก่อนจะทยอยประกอบปิกอัพฟรอนเทียร์ ขนาด 1 ตัน ลงตลาดเป็นลำดับต่อไป

"ในส่วนของงานประกอบนั้น ได้ติดต่อไปยังโรงงานประกอบในไทยหลายรายแล้วอย่างเช่น โรงงานประกอบเบนซ์ หรืออย่างโรงงานบางชันก็ได้ติดต่อแล้ว แต่ก็คงต้องรอไปก่อน" สุรัตน์กล่าวถึงโรงงานประกอบรถยนต์ที่ได้ติดต่อว่าจ้างเพื่อทำการประกอบรถยนต์เกียในไทย

สุรัตน์ได้กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับการประกอบรถยนต์เกียในประเทศว่า ในขั้นต้นคงเป็นลักษณะของการว่าจ้างประกอบ แต่ลักษณะเช่นนี้คงเป็นเพียงช่วงแรกเท่านั้น เพราะการจ้างประกอบจะมีข้อเสียในการขยายงานถ้าตลาดของเกียไปได้ดี ดังนั้นในที่สุดแล้วการตั้งโรงงานด้วยตนเองคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งก็เป็นความต้องการตั้งแต่แรกเมื่อ พรีเมียร์ กรุ๊ป ตัดสินใจทำตลาดรถยนต์เกียในไทย

"แม้ เกีย กรุ๊ป จะประสบปัญหาด้านการเงินในไทยอย่างหนัก แต่เหตุการณ์ดังกล่าวคงคลี่คลายได้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนงานที่ได้วางไว้ร่วมกันในระยะยาว หรือสายสัมพันธ์ในการทำการค้าร่วมกันอย่างแน่นอน" สุรัตน์ยืนยันถึงความสัมพันธ์ในอนาคต

พรีเมียร์ เกีย มอเตอร์ ภายใต้กลุ่มทุนอย่าง พรีเมียร์ กรุ๊ป จะสามารถทนรอได้นานแค่ไหน กับการชะลอโครงการและแผนงานที่จะบุกตลาดรถยนต์เมืองไทย

ในสถานการณ์ที่กดดันให้ต้องหยุดนิ่งเช่นนี้ พรีเมียร์ เกียฯ ทำได้เพียงแค่เฝ้ารอ

หรือว่า ชะตาของพรีเมียร์ กรุ๊ป ยังไม่ถึงเวลาที่จะได้ใหญ่ในวงการนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.