|

MFCขอลุยหุ้นนอกตลาดเพิ่มสู้ศึก”เฮจฟันด์”
ผู้จัดการรายวัน(1 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"เอ็มเอฟซี" วอนรัฐขยับเพดานลงทุนในหุ้นนอกตลาดอย่างไม่จำกัด จากที่กำหนดไว้ 10% ในปัจจุบัน หวังหนุนให้มีความอิสระเหมือนกองทุนเฮจฟันด์ที่เข้ามาลงทุนในประเทศอย่างไม่มีข้อจำกัด "พิชิต" มองเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง และยังต้องพึ่งการส่งออก ด้านตลาดหุ้นไทย คาดการณ์ดัชนีสิ้นปี 49 ที่ระดับ 750-780 จุด
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า ปัจจุบันการลงทุนในหุ้นนอกตลาดของกองทุนรวมจำกัดสัดส่วนการลงทุนได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ในขณะที่กองทุนประเภทเฮจฟันด์สามารถลงทุนได้อย่างอิสระ เช่น การเข้าไปซื้อหนี้ หรือการลงทุนในหุ้นนอกตลาด ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้จะต้องใช้ความรู้ความสามารถมาก เนื่องจากไม่ได้ลงทุนหรือวิเคราะห์หุ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องบริหารเงินเพื่อไปลงทุนในทรัพย์สินเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ การที่กองทุนเฮจฟันด์เข้าไปลงทุนในหุ้นนอกตลาดกันมาก เนื่องจากธุรกรรมเหล่านี้มีกำไรดี และสามารถแบ่งกำไรกันในอนาคตได้ ซึ่งเป็นกำไรในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยภาครัฐน่าจะมีการส่งเสริม ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับต่างชาติด้วยเช่นกัน โดยอยากจะให้ขยายเพดานการลงทุนจากเดิมที่ 10% เป็นลงทุนอย่างไม่มีลิมิต เนื่องจากปัจจุบันต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งการลงทุนลักษณะพิเศษเช่นนี้จะต้องใช้ความรู้ความสามารถมาก และมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกมาก ซึ่งต่างชาติจะเข้าถึงข้อมูลในประเทศไทยได้ยาก ดังนั้นบทบาทของนักลงทุนในประเทศน่าจะมีมากกว่า
ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนไพรเวทส์ อีควิตี้ หรือกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์นอกตลาด โดยหลักการแล้วจะไปลงทุนในธุรกิจที่มีอยู่แล้ว และมีปัญหาด้านการเงิน หรือการบริหารจัดการ ซึ่งเมื่อมีการฟื้นฟูจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ต่างจากการลงทุนในกองทุนร่วมทุน ที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เริ่มจากศูนย์ อย่างไรก็ตาม ภาวะในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยต่ำมากเกินไป จึงทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ระหว่างเงินฝากธนาคารกับสภาพคล่องที่มีอยู่ ดังนั้นจึงต้องมีกองทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Protect Fund) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ดังนั้นกองทุนไพรเวทส์ อีควิตี้ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินที่ดี อย่างไรก็ตามหากสามารถพัฒนาไปในทิศทางดังกล่าวได้ การทำงานของ บลจ.จะเริ่มใกล้เคียงกับธนาคารมากยิ่งขึ้น
นายพิชิตกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทย ยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงอยู่ โดยการเติบโตของเศรษฐกิจมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังติดกับเศรษฐกิจโลก จึงทำให้มีการควบคุมเศรษฐกิจมหาภคลำบาก ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาการส่งออก และพึ่งพาการลงทุนภายในประเทศ เพื่อให้เกิดจากจ้างงานภายในดีกว่าพึ่งพาต่างชาติ
สำหรับภาวะดอกเบี้ยในประเทศยังไม่อยากให้มีส่วนต่างมาก เพราะจะทำให้เม็ดเงินของต่างชาติไม่ไหลเข้ามาในประเทศ ซึ่งดอกเบี้ยในประเทศจะขึ้นหรือไม่นั้นมองว่ายังคงผูกติดอยู่กับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดเกินครึ่งปีก็ได้ อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นนโยบายทางการเงินที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น โดยเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะดูผลกระทบต่อเงินเฟ้อควบคู่ไปด้วยในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากประเมินภาวะดอกเบี้ยและการเมืองในปัจจุบันแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และการลงทุนต่างประเทศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบตลาดหุ้นอยู่บ้างแต่ยังคงเชื่อว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในสิ้นปี 49 จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 750-780 จุดได้ ภายใต้ P/E ที่ 10 เท่า และกำไรต่อหุ้นที่ 5% ในขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนอยู่ในระดับ 5%
ด้านนายศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดขายหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอลสมาร์ทฟันด์ (MGS) กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) กองใหม่ที่มีนโยบายการลงทุนแบบผสม ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้) เช่น น้ำมัน ทองคำ โลหะมีค่า และสินค้าเกษตร รวมถึงการลงทุนในเงินสดสกุลดอลลาร์ด้วย
สำหรับนโยบายการลงทุนในหุ้น จะเน้นลงทุนทั้งตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้วและตลาดประเทศเกิดใหม่ โดยจะไม่เฉพาะเจาะจงหรือให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มใดเป็นพิเศษ แต่จะกระจายการลงทุนออกไปตามความน่าสนใจของตลาดนั้นๆ ส่วนการลงทุนในคอมมอดิตี้นั้น จะเข้าไปลงทุนผ่านกองทุนประเภท ETF (Exchange Traded Fund) เป็นหลัก
นายศุภกรกล่าวว่า สำหรับกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอลสมาร์ทฟันด์ เอ็มเอฟซีจะเป็นผู้จัดการลงทุนและบริหารการลงทุนเอง โดยจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้น้ำหนักการลงทุนที่ไหน ซึ่งกองทุนนี้ถือเป็นกองทุน FIF กองแรกที่บริษัทบริหารจัดการเองโดยไม่มีที่ปรึกษาด้านการลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมา จากการร่วมลงทุนกับพันธมิตรหลายรายทำให้เอ็มเอฟซีพอที่จะสามารถบริหารจัดการการลงทุนเองได้
สำหรับกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอลสมาร์ทฟันด์ มีมูลค่าโครงการ 10 ล้านดอลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 400 ล้านบาท โดยจะเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกระหว่างวันที่ 13-24 มีนาคมนี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|