กฎเหล็กในการผลิตเบียร์ของแต่ละค่าย

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

บริวผับแต่ละแห่งจะมีกฎเกณฑ์ในการผลิตที่แตกต่างกัน อาทิ โพลาเนอร์ ยึดถือกฎ "The Munich Law of Purity" ซึ่งถือเป็นกฎเหล็กที่มีอายุยาวนานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1516 ที่กำหนดขึ้นโดย Duke Heinrich ที่ระบุให้วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเบียร์มี 3 ชนิดเท่านั้นคือ มอลต์ ซึ่งได้จากข้าวบาร์เลย์, ฮอป เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีดอก และจะใช้เพียงส่วนที่เป็นดอกเท่านั้นในการผลิตเบียร์ ซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดรสขมอันเป็นเอกลักษณ์ของเบียร์นั่นเอง และส่วนสุดท้ายคือ น้ำบริสุทธิ์

ในขณะที่ ฮาร์ทมันส์ดอร์ฟเฟอร์ เบราเฮาส์ ยึดถือกฎแห่งความบริสุทธิ์ในการผลิตเบียร์ "Reinheitsgebot" ซึ่งถือเป็นกฎเกณฑ์ด้านอาหารที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1516 เช่นเดียวกัน โดยกฎนี้ได้ระบุว่าเบียร์จะใช้วัตถุดิบเพียง 4 ชนิดในการผลิตเท่านั้น ซึ่งวัตถุดิบ 3 ชนิดนั้นเหมือนกับโพลาเนอร์ หากแต่เพิ่มยีสต์ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากยีสต์จะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในมอลต์ให้เป็นแอลกอฮอล์ทำให้เกิดกลิ่นรสเฉพาะตัวของเบียร์ และเบียร์ของที่นี่จะไม่ผ่านกระบวนการอื่นใดจะทำลายรสชาติ และคุณลักษณะของเบียร์ อาทิ กระบวนการกรองละเอียดและการพาสเจอร์ไรซ์ จึงทำให้เบียร์ฮาร์ทมันส์ดอร์ฟเฟอร์มีความสด มัน และมีลักษณะขุ่น ไม่ใสเหมือนเบียร์ที่บรรจุขวดหรือกระป๋องที่ถูกกรองจนใสและผ่านกรรมวิธีพาสเจอร์ไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อโรคทำให้สามารถเก็บเบียร์ไว้ได้นาน

แม้ว่าชื่อของกฎเกณฑ์ที่บริวผับแต่ละแห่งยึดถือจะไม่เหมือนกัน แต่กระบวนการกรรมวิธีในการผลิตเบียร์แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย โดยเริ่มต้นจาก

Mashing คือ การนำมอลต์มาตีเป็นผงและเติมน้ำและนำไปต้มใน Mash Tun ผสมจนได้ Mash ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวข้น

จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนของการ Lautering คือการย้าย Mash ที่ได้มาที่ Lauter Tun แล้วเติมน้ำให้ใสขึ้น พร้อมกรองเอากากออกจะได้ของเหลวที่มีรสหวานที่เรียกว่า Wort และนำ Wort ไปต้มอีกครั้ง พร้อมทั้งเติมฮอปตามส่วน เมื่อต้มจนได้ที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงกรองเอาแต่กากฮอปออก

ต่อจากนั้นก็ย้ายส่วนผสมทั้งหมดไปยัง Fermentation Tank เพื่อทำให้เย็น และเติมยีสต์ลงไป (กรณีของฮาร์ทมันส์ดอร์ฟเฟอร์) ในระยะนี้จะเกิดการหมัก ทำให้น้ำตาลกลายเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งในขั้นตอนการหมักนี้จะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมตลอดเวลา โดยตามปกติจะใช้เวลาหมักประมาณ 1 สัปดาห์ และภายหลังจากหมักได้ที่แล้ว ก็จะกรองเอาแต่น้ำเบียร์ไปเก็บบ่มใน Larger Tank ซึ่งจะเป็นการบ่มเบียร์ในอุณหภูมิที่ต่ำในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้เบียร์มีรสชาติที่นุ่มและมีกลิ่นหอม

ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่บ่มเบียร์ได้ที่แล้วก็จะย้ายเบียร์ไปเก็บไว้ยังถังจ่ายเบียร ์ซึ่งจะทำหน้าที่จ่ายเบียร์ไปยังหัวจ่ายที่บาร์ และพร้อมที่จะจำหน่ายต่อไปได้ รวมระยะเวลาขั้นตอนทั้งหมดก็ประมาณ 1 เดือนพอดี

ทั้งนี้คุณลักษณะของเบียร์แต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ สายพันธุ์ของยีสต์ รวมทั้งรายละเอียดในการผลิตเบียร์ เช่น อุณหภูมิ และระยะเวลาในการต้ม การหมัก การบ่ม และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความสามารถในการควบคุมการผลิตของบริวมาสเตอร์ (Brewmaster) ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อครัวใหญ่ของโรงเบียร์นั่นเอง ซึ่งในประเทศเยอรมนีผู้ที่จะมาเป็นบริวมาสเตอร์ได้จะต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันเฉพาะทาง ดังนั้นบริวผับแต่ละแห่งในประเทศไทยจะมีบริวมาสเตอร์ที่มาจากต้นตำรับที่แต่ละแห่งยึดถือ ซึ่งจะทำให้รสชาติของเบียร์ในแต่ละแห่งมีความเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างกันออกไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.