เงื่อนไขการตั้ง Brewpub

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ขออนุญาตหรือผู้ประกอบการธุรกิจเบียร์โรงเล็ก จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับเงื่อนไขการตั้งโรงงานเบียร์ประเภท Brewpub ที่ทางกรมสรรพสามิตได้กำหนดไว้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

" ต้องมีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1,000,000 ลิตรต่อปี

" ต้องตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ใกล้สาธารณสถาน สถานที่ราชการ วัด หรือโรงเรียน ในระยะห่าง 100 เมตร

" ต้องมีการติดตั้งระบบป้องกันปัญหามลภาวะตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2535 ที่กำหนดไว้

" ภาชนะทุกชนิดที่จะนำมาใช้ในการผลิตและจำหน่ายเบียร์ นับตั้งแต่หม้อต้มเบียร์ ถังหมักเบียร์ ถังพักน้ำเบียร์ ไปจนถึงแก้วบรรจุเบียร์ จะต้องผ่านการตรวจวัด และรับรองให้ใช้ได้โดยกรมสรรพสามิตแล้ว ทั้งนี้ ห้ามมิให้ใช้ภาชนะชนิดที่มีฝาปิดทำการบรรจุเบียร์เป็นเบียร์สำเร็จรูปเด็ดขาด

" ภายในโรงเบียรต้องจัดให้มีมาตรวัดปริมาณน้ำเบียร์ที่ออกจากถังพักเบียร์ทุกถัง หากมาตรวัดปริมาณน้ำเบียร์ดังกล่าวชำรุดเสียหายจนไม่สามารถคำนวณปริมาณน้ำเบียร์ที่ปล่อยออกจากถังพักเบียร์ได้แน่นอน ห้ามทำการจำหน่ายเบียร์ที่ผลิตได้ และในกรณีที่กรมสรรพสามิตเห็นสมควรให้มีการรายงานความเคลื่อนไหวของน้ำเบียร์ผ่านมาตรวัดไปยังกรมสรรพสามิต โดยระบบ online ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการตามความประสงค์ภายในเวลาที่กรมสรรพสามิตกำหนดให้

" ต้องจัดทำบัญชีควบคุมการผลิตเบียร์ ตั้งแต่การนำวัตถุดิบเข้ามาเก็บรักษา เพื่อผลิตเบียร์ การนำวัตถุดิบไปป่นหรือย่อย การต้มวัตถุดิบการหมักเบียร์ การกรองเบียร์ การเก็บบ่มน้ำเบียร์ในถังพัก ตลอดจนปริมาณน้ำเบียร์ที่จำหน่ายผ่านมาตรวัด เมื่อสิ้นทุกวัน เพื่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตสามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา

วิธีการขออนุญาตตั้งโรงเบียร์ Brewpub

สิ่งที่ผู้ขออนุญาตฯ จะต้องเตรียมมาเสนอต่อกรมสรรพสามิตก็คือ เหตุผลในการขอตั้งสถานที่จะขอตั้งและสภาพแวดล้อม แผนผังสถานที่ตั้งและแบบแปลนเครื่องจักร งบประมาณในการลงทุน เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งสูตรการทำเบียร์

นอกจากนั้น ผู้ขออนุญาตต้องเตรียมเอกสารเพื่อยื่นเรื่องขออนุญาตสร้างโรงงานต่อกรมโรงงานด้วย รวมทั้งต้องศึกษาข้อปฏิบัติตามระเบียบราชการ อาทิ เกณฑ์การชำระภาษีและการติดมิเตอร์ เป็นต้น

จากนั้นเมื่อผู้ขออนุญาตฯ ไดรับการอนุมัติให้ก่อตั้งโรงงานเบียร์เรียบร้อยแล้วก็ต้องมีการทำสัญญากับกรมสรรพสามิต โดยภายในสัญญาระบุว่าต้องสร้างโรงงานให้เสร็จและพร้อมเปิดทำการได้ภายใน 9 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการทำสัญญา แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เงินค้ำประกันการก่อสร้างจำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งเมื่อโรงงานก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และสามารถจำหน่ายได้แล้ว ทางกรมฯ จะคืนเงินส่วนนี้ให้ และค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 ก็คือ เงินค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา จำนวน 500,000 บาท โดยเงินส่วนนี้ทางกรมฯ จะเก็บไว้จนกว่าจะเลิกกิจการ

หลังจากสร้างโรงงานเสร็จแล้วผู้ประกอบการจะต้องขอในอนุญาตอีกทั้งหมด 3 ใบ คือ ใบอนุญาตการทำสุรา ตามมาตรา 5 ของกรมสรรพสามิต โดยเสียค่าธรรมเนียมปีละ 4,000 บาท ใบอนุญาตทำเชื้อสุราสำหรับใช้ในโรงงาน มูลค่า 300 บาทต่อปี และใบอนุญาตขายสุราปลีก ป.4 มูลค่า 110 บาท และ ป 3. มูลค่า 1,650 บาท กรณีที่ภายในร้านมีการจำหน่ายสุราต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ต้องแจ้งกรรมวิธีการผลิต ภาชนะที่บรรจุและตัวอย่างเบียร์ เพื่อการวิเคราะห์ก่อนรวมถึงต้องแจ้งราคา ณ โรงงาน ก่อนทำการจำหน่ายล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องจัดธนาคารสำหรับค้ำประกันการชำระภาษีเบียร์ อย่างน้อยเท่ากับค่าภาษีเบียร์สำหรับกำลังการผลิตเบียร์ในระยะเวลา 1 เดือน ส่วนการชำระภาษีเบียร์นั้นให้ชำระตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงสัปดาห์ละครั้ง โดยคำนวณจากปริมาณน้ำเบียร์ที่ผ่านมาตรวัด ซึ่งอัตราภาษีเบียร์ที่กำหนดไว้คือ ร้อยละ 48 ของราคา ณ โรงงาน หรือราคาลิตรละ 48 บาทนั่นเอง ทางผู้ประกอบการต้องเสียภาษีนี้ก่อนการจำหน่ายทุกครั้ง และสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องจัดทำทุกเดือน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ทำการตรวจทุกเดือนก็คือ บัญชีการผลิต การใช้วัตถุดิบรวมทั้งยอดการจำหน่ายให้เสร็จภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไปเป็นประจำ

เป็นที่สังเกตว่า ขั้นตอนการขออนุญาตค่อนข้างจะละเอียดถี่ถ้วน แต่เมื่อผ่านการะบวนการทั้งหมดนี้ครบทุกขั้นตอนแล้ว คุณก็จะกลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเบียร์โรงเล็ก หรือ Brewpub รายใหม่ทันที



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.